‘พิธา’ ออกงานแรก หลังถูกตัดสิทธิ์ฯ ร่วมฉลองวันชนเผ่าพื้นเมือง

ย้ำ ตัดสิทธิ์ความเป็นพลเมืองไม่ได้ เผยไม่เคยคิดเลิกเล่นการเมือง พร้อมเดินหน้าทำการเมืองนอกสภาฯ เต็มที่ ขณะที่ สภาชนเผ่าชนเผ่าฯ ชวนกินข้าว ชิมอาหารชาติพันธุ์ สื่อความหมายช่วยให้หายบอบช้ำ หายเหนื่อย พร้อมโอบรับทุกคนโดยไม่แบ่งแยก    

วันนี้ (8 ส.ค. 67) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตแกนนำพรรคก้าวไกล ปรากฎตัวครั้งแรกในกิจกรรมรณรงค์เนื่องในเดือนชนเผ่าพื้นเมือง ภายใต้การเฉลิมฉลองกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จัดขึ้นที่ไทยพีบีเอส ภายหลังศาลตัดสินยุบพรรคก้าวไกล และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี ท่ามกลางการต้อนรับจากผู้คนที่มาร่วมงาน ร่วมถ่ายรูปกับพิธาอย่างคับคั่ง

พิธา ระบุถึงว่า แม้ถูกยุบพรรคการเมืองมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่เคยคิดเลิกเล่นการเมือง และไม่ได้คิดว่าจะต้องเป็นนักการเมืองอย่างเดียว คิดว่าจะต้องทำการเมือง เพราะการเมืองเกี่ยวข้องกับเรา จึงจำเป็นต้องร่วมกันพัฒนาการเมือง

ส่วนเรื่องตัดสิทธิ์ลงรับสมัครเลือกตั้งนั้น พิธา ยอมรับว่า ก็ตัดสิทธิ์ความเป็นพลเมืองไม่ได้ และพลเมืองก็มีสิทธิ์ทางการเมือง ยังสามารถที่จะช่วยในเรื่องการหาเสียงเลือกตั้งได้ เมื่ออาสามาเป็นนักการเมือง ณ ขณะนี้ออกมาเป็นนักการเมืองนอกสภา

สำหรับการเข้าร่วมงานฯ วันนี้ พิธา ได้ร่วมรับประทานอาหาร กับผู้อาวุโส จากสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ตัวแทนและที่ปรึกษากรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ สัดส่วนรัฐบาล พรรคการเมือง และภาคประชาชน 

พิธา ยังย้ำถึงนโยบายของพี่น้องชาติพันธุ์ เป็นสิ่งที่ตนให้ความสำคัญมาโดยตลอด และที่ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง เห็นพัฒนาการความก้าวหน้าของทุกฝ่ายในสังคมที่เข้าใจและร่วมขับเคลื่อน

“มีหลายประเด็น ที่ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายนี้ ทำหน้าที่ได้ดี สำคัญตั้งแต่นิยามที่เป็นข้อถกเถียงกัน ว่า เป็นเชื้อชาติ เป็นชนเผ่าหรือชาติพันธุ์ แต่เราต้องยอมรับความหลากหลายในประเทศเรา ที่เป็นจุดเด่น จุดแข็ง และเป็นประโยชน์อย่างมาก ไม่ได้เป็นจุดอ่อนของประเทศไทย อย่างที่เราร่วมกันทำได้ในกฎหมายสมรสเท่าเทียมมาแล้ว”

พิธา ลิมเจริญรัตน์

พิธา ยังกล่าวว่า เมื่อมองจุดแข็งต้องมองการเติมเต็มความเป็นไทย ไม่ลดความเป็นชาติพันธุ์ เช่น ไม่ยอมให้พูดภาษาของเขา และต้องไม่แยกวัฒนธรรมดั้งเดิมเพื่อให้เขามีสัญชาติ ต้องให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถเข้าถึงสิทธิ์ ทั้งการศึกษา ที่ดิน สาธารณสุข และเรื่องที่นานาชาติให้ความสำคัญ กับเศรษฐกิจชาติพันธุ์ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม

สำหรับอาหารที่ทางกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จัดเตรียม ตั้งใจนำวัตถุดิบจากพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ ปรุงเพื่อต้อนรับแขกที่มาร่วมงานวันนี้ เช่น ข้าวผสมสมุนไพร น้ำพริกเห็ดหอม หรือล่าจือแป่แป้ ผักพื้นบ้าน แกงแคสามัคคี ปลาหมึกผัดน้ำดำ ลาบสมุนไพร กาแฟ ผลไม้ แตงกวาดอย น้ำชาอาหารว่างในวงสนทนา อย่างมัน ถั่วลิสง

โดย สุพจน์ หลี่จา กรรมาธิการสัดส่วนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง บอกว่า สำหรับคนชนเผ่าแล้วจะให้ความสำคัญกับแขกที่มาเยี่ยมบ้าน เชื่อว่าจะนำความดีงามมาสู่เจ้าของบ้าน เวลาแขกมาบ้าน เจ้าของบ้านจะเตรียมอาหาร จากวัตถุดิบที่ดีที่สุด เพื่อให้แขกได้กินเป็นอาหารที่ดีที่สุด โดยอาหารชาติพันธุ์ ถือเป็นอาหารของทุกคน ที่ไม่ว่าจะเหนื่อยล้า หรือบอบช้ำกับอะไรมา แต่อาหารจะช่วยจรรโลง และเสริมพลังให้สามารถมีเรี่ยวแรงเดินต่อไปได้ โดยอาหารชาติพันธุ์ไม่แบ่งแยก ทุกคนเสมอกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active