“โรม” ซัด ผบ.ตร. ประวิงเวลา เลื่อนใช้กฎหมายอุ้มหาย

ย้ำตำรวจเคยยืนยันความพร้อมต่อสภาฯ แล้ว เชื่อประวิงเวลา เพราะ อาจมีผู้เสียประโยชน์จากการบังคับใช้กฎหมายนี้

วันนี้ (12 ม.ค. 2566) ที่รัฐสภา รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ไม่เห็นด้วยตามคำขอของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีขอให้เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย โดยอ้างถึงความไม่พร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้ง ความเข้าใจในการปฏิบัติตามกฎหมาย และความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ โดยเฉพาะ กล้องบันทึกวีดีโอระหว่างปฏิบัติหน้าที่

ที่มา : พรรคก้าวไกล

โดยมีการเผยแพร่หนังสือลงวันที่ 6 มกราคม 2566 ของ พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ส่งถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เรื่อง “ปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565” เสนอให้ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไป จากเดิมที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566

โดย รังสิมันต์ กล่าวว่า ตนในฐานะอนุกรรมาธิการการยุติธรรม ที่มีส่วนในการประเมินความพร้อมการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการปฏิบัติตามกฎหมายอุ้มหายนั้น ไม่เห็นด้วยต่อการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายตามคำขอของ ผบ.ตร. เนื่องจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2565 คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้มีการเชิญสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เข้าชี้แจง และได้รับตอบที่ชัดเจน ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความพร้อมที่จะปฏิบัติการตามกฎหมายฉบับนี้

“แม้จะมีข้อขัดข้องในรายละเอียดอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่ข้อแก้ตัวที่จะไม่ปฏิบัติงานตามกฎหมายฉบับนี้ ทุกหน่วยงานตอบชัดเจนว่าสามารถปฏิบัติตามกฎหมายนี้ได้ ถ้ามีความจำเป็นต้องจัดซื้อกล้องบันทึกวีดีโอระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ก็สามารถใช้งบกลางได้…”

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า เนื้อหาในหนังสือลงวันที่ 6 ธ.ค. เป็นการอ้างผลการประชุมที่เกิดขึ้นวันที่ 14 พ.ย. 65 ที่ได้ข้อสรุปว่า “ไม่พร้อม” แต่เหตุใดในวันที่ สตช. มาชี้แจง ถึงแจ้งว่ามีความพร้อม จนมาวันนี้กลับทำหนังสือถึง รมต.ยุติธรรม ว่าไม่พร้อม จึงสงสัยว่าท่านเป็นไบโพลาร์หรือไม่ ถึงกลับไป กลับมาเช่นนี้

“มารอบนี้ท่านทำอีกแบบหนึ่ง วันนี้ภายใต้การบริหารงานของ ผบ.ตร.คนปัจจุบันนั้น ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ทั้งการปราบปรามอาชญากรรม ทุนจีนสีเทา ไม่มีอะไรสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน กับการแค่ปฏิบัติตามกฎหมายที่สภาฯ ออกมา ท่านยังทำไม่ได้ แล้วการต่อสู้ของพี่น้องประชาชน จนกว่าจะได้กฎหมายฉบับนี้มาสำคัญหรือไม่ เขาอดทนอยู่กับความเจ็บปวด ฝันร้ายนานแค่ไหน ท่านมาตอบง่าย ๆ ว่าตำรวจไม่พร้อม ถ้าท่านทำไม่ได้ต้องลาออกไป แล้วให้คนอื่นมาเป็นแทน…”

รังสิมันต์ เชื่อว่า เป็นการประวิงเวลา เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมครั้งใหญ่ คนที่เสียประโยชน์มากที่สุด คือคนที่มีบาดแผลต่อการกระทำการอุ้มหาย และซ้อมทรมานผู้อื่น พร้อมตั้งคำถามว่า ในระหว่างที่รอให้ตำรวจมีความพร้อมนั้น หากมีผู้ถูกกระทำเพิ่มขึ้นอีกใครจะรับผิดชอบ โดยส่วนตัวมองว่าการฝึกซ้อมแนวทางปฏิบัติให้เข้าใจกัน ไม่จำเป็นต้องทำกับตำรวจทุกคน เฉพาะคนที่มีหน้าที่เท่านั้น นี่คือความล้มเหลวที่ชัดเจนมากที่สุดภายใต้การบริหารงานของ ผบ.ตร. ท่านนี้

พร้อมเรียกร้องไปยัง สตช. ว่าสามารถทำให้เกิดความพร้อมได้ หากอ้างว่าไม่มีงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์ ก็สามารถใช้งบกลางฯ ที่สภาฯ อนุมติให้กับฝ่ายบริหารได้ เนื่องจากมีประชาชน เหยื่อ ผู้สูญเสียรอการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อยู่ ถ้าดึงดันต่อไปจะเป็นการทำลายชื่อเสียงประเทศ เพราะเราได้รับการชื่นชมจากสากลในการตรากฎหมายฉบับนี้ อย่าให้สุดท้ายต้องถูกตราหน้าว่าออกกฎหมายมาเหมือนดูดี แต่สุดท้ายไม่ได้บังคับใช้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active