รู้ทัน! มุกยอดฮิต ‘มิจฉาชีพ’ ออนไลน์ – ตร. รวบสถิติ 2 ปี พบเหยื่อหลงเชื่อ สูญเงิน 77 ล้าน/วัน

สอดคล้อง ‘นิด้าโพล’ เผยผลสำรวจ ปี 67 ‘ภัยไซเบอร์ แก๊งคอลเซนเตอร์’ เป็นปัญหาลำดับต้น ๆ ทำคนไทย เหนื่อยหน่ายมากที่สุด

วันนี้ (22 ธ.ค. 67) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “เหนื่อยหน่ายกับอะไรบ้าง ในปี 2567 ที่ผ่านมา”  โดยสำรวจ ระหว่างวันที่ 16-18 ธ.ค. 67 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความรู้สึกของประชาชนในปี 67 ที่ผ่านมา การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ นิด้าโพล สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น  97%

เมื่อถามประชาชนถึงความสุขในปี 2567 จากผลสำรวจ พบว่า

  • 39.92% ค่อนข้างมีความสุข เพราะมีความสุขทั้งกับตัวเองและครอบครัว ชีวิตการทำงานราบรื่น ไม่มีอุปสรรค 

  • 32.52% ไม่ค่อยมีความสุข เพราะมีปัญหาทางการเงินที่เกิดจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น และรู้สึกเบื่อหน่ายกับความวุ่นวายของสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มีความแน่นอน 

  • 18.17% มีความสุขมาก เพราะการใช้ชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่น สุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีเรื่องใดที่ต้องกังวล 

  • 9.39% ไม่มีความสุขเลย เพราะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้สินสะสม การใช้ชีวิตเป็นไปอย่างยากลำบากและไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้

เมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนเหนื่อยหน่ายในปี 2567 ผลสำรวจ พบว่า

  • 52.14% ปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ 

  • 28.09%  ปัญหาภัยไซเบอร์ เช่น แก๊งคอลเซนเตอร์ การแฮกข้อมูล เป็นต้น 

  • 27.86% ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองทั้งในและนอกสภา

  • 21.60% ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด 

  • 14.89% ปัญหาราคาพลังงาน

  • 13.59%ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยทางธรรมชาติ 

  • 13.44% ปัญหาสุขภาพ โรคระบาด 

  • 12.98% ปัญหาอาชญากรรม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 

  • 12.90% ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร

  • 12.75 ไม่เหนื่อยหน่ายกับอะไรเลย

  • 11.45% ปัญหาความขัดแย้งในสังคม 

  • 9.85% ปัญหาการคอร์รัปชันในทุกระดับ 

  • 9.69% ปัญหาการจราจร 

  • 5.57% ปัญหาความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม 

  • 4.81% ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมในระบบราชการ 

  • 2.06% ปัญหาสงคราม ความขัดแย้งในต่างประเทศ

ทั้งนี้  ตัวอย่าง 9.77% ประกอบอาชีพข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ 17.40% ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน 21.15% ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ อาชีพอิสระ 11.76% ประกอบอาชีพเกษตรกร ประมง 14.50% ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ผู้ใช้แรงงาน 19.85% เป็นพ่อบ้าน แม่บ้าน เกษียณอายุ ว่างงาน และ5.57% เป็นนักเรียน นักศึกษา

ตีแผ่ 4 มุกยอดฮิต มิจฉาชีพออนไลน์ ภัยร้ายแห่งปี 2024

ขณะที่ พล.ต.ต. ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุถึงอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งจากสถิติของศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 30 พฤศจิกายน 2567 มีการแจ้งความเกี่ยวกับคดีออนไลน์กว่า 739,000 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 77,000 ล้านบาท หรือ เฉลี่ยวันละ 77 ล้านบาท

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอตีแผ่ 4 มุกยอดฮิต มิจฉาชีพออนไลน์ ภัยร้ายแห่งปี 2024 เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันกลลวงของมิจฉาชีพ ดังนี้

  1. “ไอเลิฟยูโซมัส ไอจะส่งของให้ ไอจะชวนลงทุน” มิจฉาชีพจะใช้บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอม มาสร้างสัมพันธ์ หลอกว่าจะส่งของให้ หรือหลอกชวนลงทุน

  2. “โหลๆ นี่เพื่อนเอง จำได้ไหมเอ่ย” มิจฉาชีพจะโทรศัพท์มาหา อ้างว่าเป็นเพื่อน ให้ทายว่าใคร จากนั้นสวมรอยหลอกยืมเงิน

  3. “สารพัด SMS ชิงโชค โปรโมชัน พัสดุตกค้าง” มิจฉาชีพจะส่ง SMS ชักชวนให้ชิงโชค อ้างว่ามีโปรโมชัน หรือมีพัสดุตกค้าง พร้อมแนบลิงก์หลอกลวง

  4. “คอลเซ็นเตอร์ตัวร้าย หลอกว่าท่านเป็นคนร้าย จะต้องโอนเงิน” มิจฉาชีพจะโทรศัพท์หรือวิดีโอคอลหา แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ หลอกว่าเกี่ยวของกับการกระทำผิด ให้โอนเงินให้ตรวจสอบ หรือหลอกติดตั้งแอปพลิเคชัน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้ประชาชนระมัดระวังและไม่หลงเชื่อกลลวงดังกล่าว รวมถึงช่วยกันสอดส่องดูแลคนใกล้ชิดที่อาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หากพบว่าได้รับความเสียหาย สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน หรือแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active