อยู่ระหว่างยกร่างฯ พร้อมถอนฟ้องคดีปกครอง ด้าน ‘ทนายสิทธิฯ’ พอใจ เตรียมส่งข้อเสนอกำหนดถ้อยคำแค่ “สุภาพ” เท่านั้น
วันนี้ (17 ม.ค. 66) ที่สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และกลุ่ม NITI HUB เข้าพบ นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความฯ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหว และหารือแนวทางในการดําเนินการตาม คําสั่งของคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ให้ปรับปรุง แก้ไข ข้อบังคับ กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือแนวปฏิบัติของสภาทนายความฯ ให้ทนายความหญิงให้สามารถสวมกางเกง หรือกระโปรงขณะว่าความในศาลได้ โดยให้ดําเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2565
นางณัฐาศิริ เบิร์กแมน นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า วันนี้เป็นตัวแทนสมาคม พร้อมด้วยตัวแทนทนายความที่ยื่นคำร้องไปยังคณะกรรมการ วลพ. เพื่อสอบถามถึงแนวทางของสภาทนายความฯ ในการปฏิบัติตามคำสั่งที่ออกมาเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 เพราะ ที่ผ่านมายังมีทนายความหญิงถูกตำหนิ ตักเตือน จากศาลในขณะว่าความอยู่ แม้แต่การว่าความออนไลน์ ยังมีทนายความที่ศาลให้ยืนขึ้นเพื่อตรวจสอบว่าสวมใส่กางเกง หรือกระโปรงด้วย ซึ่งมองว่าหากยังไม่มีการแก้ไขข้อบังคับของสภาทนายความแล้ว การปฏิบัติของศาลต่อทนายความ ในลักษณะการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป
สำหรับ ข้อบังคับสภาทนายความในเรื่องดังกล่าว กำหนดไว้ใน “มรรยาททนายความ” ในเรื่องการแต่งกาย ข้อที่ 20 (2) ที่ระบุให้ทนายความหญิงต้อง “แต่งตามแบบ สากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น” โดยใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2529 สมาคมฯ มองว่าควรมีการแก้ไข
“การแก้ไขข้อบังคับนี้ควรก้าวข้ามการกําหนดให้มีการแบ่งแยกการแต่งกายตามเพศสภาพ และให้เคารพหลักเสรีภาพการแต่งกายของบุคคลซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นนฐาน ที่สอดคล้องกับบริบทสังคมในปัจจุบัน โดยเห็นว่าควรกำหนดเพียงแค่การแต่งกายให้สุภาพเท่านั้น…”
ในขณะที่นายกสภาทนายความฯ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2529 ข้องบังคับในเรื่องนี้ใช้บังคับเรื่อยมา จนมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งตนให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมทางเพศ ได้มีการประชุมหารือมาโดยตลอดตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งนายกสภาฯ ในเดือนกันยายน ปีที่ผ่านมา จนได้มีมติออกมาว่าจะแก้ไขข้องบังคับดังกล่าว
“ได้มีการประชุมแล้วมีมติว่า ให้แก้ข้อบังคับสภาทนายความให้เป็นปัจจุบัน เพื่อรองรับความหลากหลายทางเพศสภาพ ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างฯ ข้อบังคับดังกล่าวแล้ว อีกตั้งยังมีมติ ให้สภาทนายความฯ ถอนฟ้องต่อศาลปกครอง ที่เคยมีหารฟ้องร้องหน่วยงานหนึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย…”
นายกสภาทนายความฯ กล่าวต่อว่า การฟ้องร้องคดีท่ีศาลปกครองกลาง หมายเลขดําที่ 1726/2565 นั้นไม่ได้เกิดขึ้นในวาระการดำรงตำแหน่งของตน แต่อย่างไรก็ตามจำเป็นที่ต้องมีการแก้ไข ซึ่งจะดำเนินการ “ถอนฟ้อง” ภายในสัปดาห์นี้ด้วย เมื่อถามถึงการมีส่วนร่วมในการร่างข้อบังคับฯ นายกสภาทนายความฯ กล่าวว่า ยินดีที่จะเปิดโอกาสให้เสนอถ้อยคำการยกร่างดังกล่าวให้ครบถ้วน ครอบคลุมมากที่สุด
พริม มณีโชติ จาก NITIHUB กล่าวว่า ยังคงมีระยะเวลาที่รอการแก้ไขดังกล่าวด้วยอีกระหนึ่ง ความน่ากังวลยังอยู่ที่จะสิ้นสุดตรงไหน มีความเป็นไปได้อาจมีกรณีที่มีทนายความถูกตำหนิในเรื่องการแต่งกายระหว่างปฏิบัติหน้าที่อีก จึงอยากให้ศาล และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม รอการแก้ไขข้องบังคับดังกล่าว โดยพิจารณาจากพื้นฐานความสุภาพ ไม่ใช่การเลือดปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ
ด้าน คอรีเยาะ มานุแช ทนายความ กล่าวว่า แม้นายกสภาทนายความฯ ยืนยันว่าจะมีการยกร่างข้อบังคับฯ ว่าด้วยการแต่งกายของทนายความไว้แล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนในรายละเอียดว่าจะใช้ถ้อยคำใด ทางสมาคมฯ จึงได้เตรียมที่จะยื่นข้อเสนอ มายังสภาทนายความฯ อีกครั้ง ในข้อบังคับดังกล่าวไม่เกิดปัญหาในภายหลัง และหลังยกร่างเสร็จแล้วตามขั้นตอนต้องส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมลงนาม ภายใน 7 วัน จึงจะแก้ไขข้อบังคับนี้ได้
“การแต่งกายของทนายความหญิง ไม่ว่าจะสวมกางเกง หรือกระโปรงเรายึดหลักสิทธิ เสรีภาพในเนื้อตัวร่างกาย เราไม่อยากเห็นศาลซึ่งเป็นที่สถิตย์ความยุติธรรม มามุ่งประเด็นเล็กน้อย และมองข้ามการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน…”
นอกจากนั้น พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะทนายความสะท้อนว่า เมื่อไม่นานมานี้ตนเองได้ถูกติติงจากผู้พิพากษา ให้สวมกระโปรงมาว่าความในการพิจารณาคดีนัดหน้า โดยตนมองว่าในเมื่อเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตนเอง ควรสามารถกำหนดได้ว่าจะแต่งกายแบบใด พร้อมฝากไปถึงหน่วยงานวิชาชีพด้านกฎหมายอื่น อย่าง เนติบัณฑิตยสภาด้วย ว่าต้องมีความชัดเจนในการแก้ไขกฎระเบียบ เพื่อรองรับสำหรับประเด็นดังกล่าวนี้