เล็งซักซ้อมเจ้าหน้าที่ 4 ม.ค. 68 ให้พร้อมปฏิบัติงาน ขณะที่ กระทรวงยุติธรรม ยอมรับ ยังต้องแก้ไขกฎหมายลูก อีกกว่า 40 ฉบับ ชงกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หารือ ปรับแก้ให้เสร็จตามกรอบระยะเวลา 180 วัน
วันนี้ (12 ธ.ค. 67) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2567 โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เขตพระนคร
ผู้ว่าฯ กทม. บอกว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียม ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือในวันที่ 22 มกราคม 2568 ทั้งนี้ ในการจดทะเบียนสมรสนั้น จะทำได้เมื่อบุคคลทั้ง 2 ฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว
สำหรับขั้นตอนการจดทะเบียนสมรส มีดังนี้
- ผู้ร้อง ยื่นคำร้อง คร.1 ต่อนายทะเบียน
- นายทะเบียนตรวจสอบคุณสมบัติตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แล้วลงรายการในทะเบียนให้ครบถ้วน
- ผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอม (ถ้ามี) และพยานลงลายมือชื่อในทะเบียนครอบครัว
- เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อในทะเบียนครอบครัวและจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ โดยระยะเวลาที่ใช้ในการจดทะเบียนสมรส ประมาณ 20 – 30 นาที ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับการลงรายละเอียดของสัญญาก่อนสมรสว่าผู้ร้องทั้งสองฝ่ายจะให้มีการบันทึกมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดย สำนักงานปกครองและทะเบียน จะดำเนินการซักซ้อมการปฏิบัติงานให้แก่เจ้าหน้าที่ ในวันที่ 4 มกราคม 2568 เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้
ก.ยุติธรรม ยอมรับ ยังต้องแก้ไขกฎหมายลูก อีกกว่า 40 ฉบับ
ขณะที่ เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ระบุภายในงานแถลงข่าว “นับถอยหลังสู่วันสมรสเท่าเทียม (Marriage Equality Day)” เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยย้ำถึงการเตรียมความพร้อมของกระทรวงยุติธรรม ทั้งในเชิงการตรวจสอบกฎหมายอื่น ๆ และการเตรียมความพร้อมดำเนินการให้สอดคล้องกับสมรสเท่าเทียม
โดยสิ่งที่กระทรวงฯ กำลังทํากันอยู่ก็คือการเตรียมสำหรับก้าวต่อไปหลังจากสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎ ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างๆ ให้สอดคล้องกับสมรสเท่าเทียม เช่น พ.ร.บ.อุ้มบุญ หรือ พ.ร.บ.สัญชาติ โดย พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กำลังสํารวจกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญว่ามีอะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของความหลากหลายทางเพศ เพื่อนำเข้าคณะกรรมการภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้
หลังจากนั้นจะมีการประชุมกันต่อว่าสามารถดำเนินการแก้ไข และตีความกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าสามารถทำอย่างไรต่อได้บ้าง เพื่อส่งไม้ต่อให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ขับเคลื่อนในเชิงการแก้ไขกฎหมายต่อไป เพื่อที่กระทรวงฯ จะได้ไปช่วยสนับสนุน พม. ในการเสนอกฎหมายให้ขับเคลื่อนได้ง่ายขึ้น
“แน่นอนว่าในส่วนของการแก้ไขกฎหมายที่กระทรวงยุติธรรมพบนั้น มีมากกว่า 40 ฉบับ ที่ขัดกับสมรสเท่าเทียม ซึ่งกระทรวงเองก็เร่งศึกษาและแก้ไขให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลา 180 วัน หลังมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะตรงกับวันที่ 21 กรกฎาคม 2568 เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรีทราบว่าต้องแก้กฎหมายอะไรบ้าง และดำเนินการตามกระบวนการแก้ไขต่อไป”
เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร
22 ม.ค.68 ไปจดสมรสเท่าเทียม ต้องเตรียมอะไรบ้าง
หลังจากวันที่ 22 มกราคม 2568 การสมรสที่จากเดิมจะต้องเป็น “ชายและหญิง” เท่านั้นที่สามารถจดทะเบียนได้ จะเปลี่ยนเป็น “บุคคลและบุคคล” หมายถึงคนทุกเพศสามารถดำเนินการจดทะเบียนให้มีผลตามกฎหมายได้ โดยสามารถจดทะเบียนสมรสได้ที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอ หรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศทุกแห่ง แต่หากจดทะเบียนสมรสในสำนักทะเบียน ไม่เสียค่าใช้จ่าย หากจดนอกสำนักทะเบียน ต้องจัดรถรับ-ส่งให้นายทะเบียน และเสียค่าธรรมเนียมฉบับละ 200 บาท สำหรับขั้นตอน และวิธีการเตรียมตัวก่อนสมรส และหลังตัดสินใจหย่า มีดังนี้
กรณีต้องการจดทะเบียนสมรส
- มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์
- ต้องไม่ถูกตัดสินหรือเป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลไร้ความสามารถ
- ไม่ใช่พี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา
- ไม่ใช่พ่อแม่และบุตรบุญธรรม
- ไม่มีคู่สมรสอยู่แล้ว แต่หากเคยจดทะเบียนสมรสและหย่าแล้ว ต้องมีระยะเวลาห่างจากสมรสเดิมไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่คลอดบุตรแล้ว หรือมีใบรับรองว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือมีคำสั่งศาล หรือจดทะเบียนสมรสกับคู่เดิม
เอกสารที่ต้องใช้
- บัตรประชาชนสำหรับคนไทย
- สัญญาก่อนสมรส (ถ้ามี)
- พยานที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป จำนวน 2 คน
- หากยังไม่บรรลุนิติภาวะ (20 ปี) ต้องมีใบยินยอมของผู้ปกครอง
- พาสปอตและหนังสือรับรองสถานะสมรส หากเป็นชาวต่างชาติ และหนังสือรับรองสถานะต้องได้รับการแปลและได้รับการรับรองจากกรมการกุงสุล กระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น
เอกสารที่ต้องใช้ในการหย่า สามารถทำได้ 3 กรณี คือ คู่สมรสเสียชีวิต, เป็นการยินยอมทั้งสองฝ่าย และศาลสั่งให้ถอนสมรส
- บัตรประชาชนสำหรับคนไทย
- สัญญาการหย่า
- คำสั่งศาล (ถ้ามี)
- พยานที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป จำนวน 2 คน
ข้อมูล : บางกอก ไพรด์