ทวงถามความคืบหน้า ร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ

1 มีนาคม วันยุติการเลือกปฏิบัติสากล เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ ยื่นหนังสือถึง ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ หลังร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ ล่าช้าจากการพิจารณา

วันนี้ (1 มี.ค. 2566) เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED) เดินทางไปยื่นหนังสือถึง สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผ่านกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยมีข้อเรียกร้อง ขอให้เร่งรัดติดตามการดําเนินการยกร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ…เพื่อ นําไปสู่การประกาศใช้เป็นกฎหมาย ดังต่อไปนี้

  1. ขอให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกระทรวงยุติธรรมเร่งรัดดําเนินการติดตามข้อเสนอแนะและ รายงานการให้ความคิดเห็นจากกระทรวงการคลังต่อร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อ บุคคล พ.ศ…(ฉบับภาครัฐ) เพื่อนําเข้าสู่เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและนําสู่การพิจารณาของ รัฐสภาและประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปให้ทันช่วงครม.รักษาการชุดนี้
  2. มีการสื่อสารกับเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติเป็นระยะ ๆ เพื่อรับรู้ความก้าวหน้าและ สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนากฎหมายฉบับดังกล่าว
  3. มีการให้การศึกษาและสร้างความเข้าใจถึงเจตจํานงของกฎหมายฉบับดังกล่าวกับภาคส่วนที่ เกี่ยวข้องและสังคมสาธารณะ

จารุณี ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และผู้แทนเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED) กล่าวว่า ร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล สำคัญมากต่อสังคมไทยเพราะเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของบุคคล ซึ่งหมายถึงทุกคนในประเทศไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราจึงจำเป็นต้องเร่งรัดให้มีร่างกฎหมายนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้กรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้จัดทำร่างกฎหมายนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายทางการเงินจึงต้องส่งไปให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้ความเห็น แต่พบว่ามีความล่าช้ามาก และไม่มีความคืบหน้า เครือข่ายภาคประชาสังคมจึงร้อนใจ เพราะหนึ่งวินาทีที่เชื่องช้า ยิ่งทำให้คนถูกเลือกปฏิบัติมากขึ้น และการเลือกปฏิบัติที่มากขึ้นทำให้หลายคนถูกลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น โอกาสที่วันนี้ เป็นวันที่ 1 มีนาคม เป็นวันขจัดการเลือกปฏิบัติสากล จึงใช้โอกาสนี้ทวงถาม ด้วยหวังจะให้ร่างกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติได้เข้าพิจารณา ในสมัยประชุมของรัฐบาลนี้ หรือแม้แต่ในช่วง ครม. รักษาการก็ตาม

“สิ่งสำคัญคืออยากสื่อสารคือ เรื่องนี้ช้าไม่ได้ ดองไม่ได้ เพราะการเลือกปฏิบัติส่วนใหญ่มาจากรัฐ และถ้าภาครัฐนิ่งเฉย เท่ากับปิดหูปิดตา ปล่อยให้เกิดการปฏิบัติ อย่างนิ่งเฉย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรัฐควรที่จะสื่อสารให้สังคมได้เห็นความสำคัญถึงความจำเป็นของร่างกฎหมายฉบับนี้ และมันเกี่ยวข้องกับคนในสังคมอย่างไร”

ด้าน ธีรยุทธ แก้วสิงห์ โฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า ทางกรมคุ้มครองสิทธิฯ ให้ความสำคัญกับกฎหมายนี้มาก และอยู่ในเป้าหมายการดำเนินงานของกรมฯ เช่นกัน ซึ่งวันพรุ่งนี้ (2 มี.ค.)จะมีการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมผู้บริหารของกรมฯ ด้วย และแผนหลังจากนี้คือ กรมมีกำหนดการที่จะพบผู้บริการของกรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณนอกรอบ เพื่อพูดคุยถึงความสำคัญของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยจะมีการเชิญผู้แทนจากเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ เข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อให้ข้อมูลรอบด้าน

สำหรับการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่มักเกิดขึ้น เช่น การเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในการเข้าถึงการมีงานทำ และในการตัดสินใจวิถีดำรงชีพ โดยการสำรวจคนบุคคลทั่วไปในวัยแรงงาน 3,514 คน พบว่า 46.59% ระบุว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ควรได้รับอนุญาตให้ทำงานในลักษณะที่ต้องสัมผัสกับผู้อื่นโดยตรง และ 45.05% คิดว่าประเทศไทยควรบังคับให้ตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนเข้าทำงาน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนถึงการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ และทำให้พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active