ภาคประชาชนยื่น 12,116 รายชื่อต่อสภาฯ เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนหวัง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เร่งเสนอร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฉบับของกรมฯ ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการพิจารณาคู่ขนานไปกับร่างของภาคประชาชน ชี้ รัฐสภาควรเร่งตรากฎหมายฉบับนี้โดยเร็วที่สุด

24 พ.ย 2564 เครือข่ายประชาชนกว่า 10 เครื่อข่าย ประกอบด้วย เครือข่ายคนพิการ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ เครือข่ายชาติพันธุ์ เครือข่ายผู้ใช้ยาเสพติด เครือข่ายพนักงานบริการ เครือข่ายเด็กและเยาวชน เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายแรงงาน และเครือข่ายผู้สูงอายุ พร้อมด้วยนักวิชาการ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เดินทางไปยังรัฐสภา พร้อมรายชื่อประชาชน 12,116 รายชื่อ เพื่อยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เสนอร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ…. (ภาคประชาชน)

สืบเนื่องจาก 12 พฤศจิกายน 2562 ภาคประชาชนได้ยื่นขอริเริ่มเสนอกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลต่อประธานรัฐสภา และประธานรัฐสภาได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ว่าสามารถริเริ่มได้ เนื่องจากเข้าข่ายเป็นกฎหมายตามหมวด 3 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้ดำเนินการรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนกฎหมายต่อไป

สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ระบุว่า การผลักดันให้มีพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยเคยให้การรับรองในกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงสอดคล้องกับงานศึกษาวิจัยของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

“ทุกคนจะได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ปัจจุบันสถานการณ์ในประเทศนั้นมีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเกิดขึ้นตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น กรณีกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี ถูกปฏิเสธถูกกีดกันโอกาสในการทำงาน บุคคลในกลุ่มชาติพันธุ์ถูกจำกัดการเรียน การเดินทาง หรือกลุ่มคนพิการที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตได้”

อีกทั้งมองว่า กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในสังคมไทย ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงอยากขอให้นายกรัฐมนตรีรับรองร่างกฎหมายภาคประชาชนฉบับนี้ คาดหวังให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เร่งเสนอร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลของกรมฯ ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการพิจารณาคู่ขนานไปกับร่างของภาคประชาชน

รวมทั้งขอให้พรรคการเมืองต่างๆ ที่มี ส.ส.ในสภาฯ สนับสนุนร่างกฎหมายภาคประชาชนฉบับนี้ หรือจะเสนอร่างกฎหมายของพรรคโดย มี ส.ส.ไม่น้อยกว่า 20 คนเข้าชื่อเสนอกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล

แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลหลากหลายทางเพศในมิติทับซ้อนอื่น ๆ กรณีผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ติดเชื้อเอชไอวี ถูกกีดกันโอกาสในการทำงาน รวมทั้งในกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศยังจำกัดเฉพาะกรณีที่ต้องมีผู้เสียหายเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น แม้จะพบเห็นอย่างชัดแจ้งในพื้นที่สาธารณะว่ามีกฎ ระเบียบ มาตรการ นโยบาย หรือกฎหมาย ที่มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล สร้างผลกระทบวงกว้าง คณะกรรมการก็ไม่สามารถหยิบยกมาพิจารณาได้ จนกว่าจะมีผู้เสียหายมาร้อง กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กล่าว

“การมีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่เป็นกฎหมายกลาง จะช่วยปิดช่องว่างนี้ได้ เครือข่ายความหลากหลายทางเพศจึงสนับสนุนให้มีกฎหมายนี้”

ด้าน สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ตัวแทนเครือข่ายพนักงานบริการ กล่าวว่า

“มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกประกอบอาชีพ และไม่ว่าเขาจะประกอบอาชีพอะไรเขาควรได้รับความคุ้มครอง ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ พนักงานบริการก็เช่นกัน พวกเราเครือข่ายพนักงานบริการจึงสนับสนุนให้มีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล”

ด้านตัวแทนเครือข่ายคนพิการ สุนทร สุขชา ระบุว่า เครือข่ายคนพิการไม่เอาการเลือกปฏิบัติเพราะเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นการตัดโอกาสให้คนพิการไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป และไม่สามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้อย่างเสมอภาค อีกทั้งยังเป็นการบั่นทอนสุขภาพจิตและสุขภาพกายของคนพิการด้วย

“ประเทศไทยมีกฎหมาย มาตรการ รวมทั้งการดำเนินการในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการแต่ยังไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริง ยังคงพบเห็นหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลใดออกนโยบายหรือกฎระเบียบที่ลิดรอนสิทธิคนพิการ เลือกปฏิบัติต่อคนพิการเราจึงสนับสนุนให้มีกฎหมายนี้”

สมชาย หอมลออ อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมายและนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ในฐานะหัวหน้าทีมยกร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล (ภาคประชาชน) กล่าวว่า “การเลือกปฏิบัติเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม รัฐสภาจึงควรตรากฎหมายฉบับนี้โดยเร็วที่สุด”