เหตุเขียนตั้งแต่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต แพลตฟอร์ม ไม่ครอบคลุมกลุ่มดารา อินฟลูเอนเซอร์ และการโฆษณา พร้อมชี้อย่าเพิ่งถอดใจปม “ดิ ไอคอน กรุ๊ป”เพราะต้องตรวจสอบเส้นทางการเงินก่อนสรุปเป็น “แชร์ลูกโซ่” หรือไม่ พร้อมแนะเพิ่มบุคคลภายนอกร่วมสอบแก้ปม “เทวดา” ในหน่วยงาน
วันนี้ (18 ต.ค.2567) ทั้ง 18 บอสของ “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” ผู้ต้องหาตามหมายจับคดี “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์” ได้ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำระหว่างการฝากขังผัดแรก
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ The Active ว่าอย่าเพิ่งถอดใจที่การดำเนินคดียังไปไม่ถึง “แชร์ลูกโซ่” เพราะต้องตรวจสอบต่อไปทั้งเส้นทางการเงิน จำนวนสมาชิกทั้งหมด รวมถึงมีการส่งของครบตามจำนวนเงินที่กล่าวอ้างว่ามีการสั่งซื้อสินค้า 25,000-250,000 บาทจริงหรือไม่ รวมถึงต้องดูพฤติการณ์ต่าง ๆ ประกอบ
“พฤติการณ์ที่เห็น เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง ถ้าสอบสวนไปในเส้นทางการเงินตามกฎหมายจะพบว่ามีพฤติกรรมเน้นหาสมาชิก มากกว่า การจำหน่ายสินค้า “คนที่เป็นคู่สัญญาที่ทำธุรกิจไม่อาจทราบได้ว่า การชำระเงินของตัวเองในแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะ 25,000 บาท หรือ 250,000 บาท จะได้รับสินค้าตามนั้นหรือไม่ หรือ บริษัทมีการผลิตสินค้าตามจำนวนที่เราดำเนินการไหม ต้องวินิจฉัยต่อว่า เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือไม่ อย่าเพิ่งถอดใจในส่วนนี้”
แนะตั้งคนนอกร่วมตรวจสอบ “เทวดา” ในหน่วยงาน
และเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 369/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ โดยโครงสร้างของคณะกรรมการ มีตัวแทนอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และตัวแทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
- ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเชิญผู้บริหาร พนักงานเจ้าหน้าที่ในสำนักงานคณะกรรมกาารคุ้มครองผู้บริโภค หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือให้ข้อเท็จจริงและมีอำนาจเรียกเอกสารใดๆ จากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือหน่วยงานใดๆ เพื่อประกอบการพิจารณา และให้รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะต่อรองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางสาวจิราพร สินธุไพร) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้ออกคำสั่ง ในกรณีจำเป็นรองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) อาจมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาออกไปได้อีกตามที่เห็นสมควร
- คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ รวมทั้งผู้ช่วยเลขานุการ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อพิจารณาศึกษาหรือปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้
- ให้คณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งตามคำสั่งนี้ได้รับเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยให้เบิกจ่ายจากสำนักนายกรัฐมนตรี
- ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอว่า เพื่อสร้างความมั่นใจ โปร่งใส ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงการปฏิบัติหน้าที่ของ สคบ.เกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ ขอให้สำนักนายกฯ แต่งตั้งบุคคลภายนอกเพิ่มจาก 4 องค์กร
ได้แก่ สภาทนายความฯ สภาผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และตัวแทนสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นกรรมการ ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย
“การที่โครงสร้าง ของ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีแต่ข้าราชการนั้น
อาจทำให้เกิดข้อครหาได้ เพื่อให้ผลสอบที่จะออกมาสาธารณชนยอมรับ ไม่เป็นมวยล้มต้มคนดู ต้องมีการ แต่งตั้งภาคประชาสังคม และองค์กรอื่นที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการ เข้าร่วมด้วย”บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค
เสนออุดช่องว่างแก้ พ.ร.บ.อาหารให้ทันสมัย
ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง ระบุว่า ไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ทั้งเรื่องการฉ้อโกงประชาชน การจะเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือไม่ รวมถึงการโฆษณาเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ปี 2522, การโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งต้องดูแต่ละกรณีไป รวมถึง พ.ร.บ.อาหารที่ใช้มานาน 45 ปี ยังไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้ ควรปรับปรุง
เพราะการที่ดาราโฆษณาสินค้าหรือ ผลิตภัณฑ์อาหาร ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้ซื้อเพราะคำพูดของดารา แต่ซื้อเพราะภาพลักษณ์ดาราเชื่อถือดาราที่มีบุคลิกภาพ หน้าตาดี ยืนยันว่าใช้จริง ผู้บริโภคเชื่อที่ตัวตน ธุรกิจแบบนี้จึงนำภาพลักษณ์ของดารามาเป็นเครื่องมือธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจด้านสุขภาพ
การที่หน่วยงานรัฐตามไม่ทันในการเข้าไประงับ หรือ เตือนภัยผู้บริโภคจึงกลายเป็นช่องทางให้ธุรกิจอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ใช้โอกาสนี้ขยายธุรกิจใหญ่โตอย่างที่เห็น
กรรมการสภาผู้บริโภค จึงได้ชี้ให้เห็นช่องโหว่ พ.ร.บ.อาหาร 2522 ซึ่งบังคับใช้มากว่า 45 ปี เขียนตั้งแต่ยุคไม่มีอินเทอร์เน็ต แพลตฟอร์ม ทั้งนิยามไม่ครอบคลุมกลุ่มดารา อินฟลูเอนเซอร์ และการโฆษณา ยันบทลงโทษที่เบาทำให้ผู้ประกอบการไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย