“สุชัชวีร์ ” หวังให้ครบ 10,000 ชื่อ เพื่อเป็นร่างกฎหมายฉบับประชาชน เชื่อจะทำให้มีเจ้าภาพ ติดตาม รายงาน ตรวจสอบ และป้องกันประชาชนจากเหตุอันตรายความไม่ปลอดภัยในชีวิต
วันนี้ ( 24 พ.ย.2567 ) ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และอดีตนายกสภาวิศวรกร สมัยที่ 7 เปิดเผยถึงความคืบหน้า การผลักดันร่าง พ.ร.บ. องค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ หลังการรับรองของประธานสภาผู้แทนราษฏรให้เดินหน้ารวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างกฎหมาย โดยขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. อยู่ในเว็บไซต์ของสภาผู้แทนราษฏร เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงชื่อสนับสนุนให้ครบ 10,000 รายชื่อ แต่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน จนถึงขณะนี้พบมีประชาชนสนับสนุนประมาณ 3,000 รายชื่อเท่านั้น ยังขาดอยู่อีกเกือบ 7,000 รายชื่อ
โดย ศ.สุชัชวีร์ มองว่า อาจเป็นเพราะกระแสข่าวอื่นๆเข้ามากลบเรื่องของความไม่ปลอดภัยในชีวิต ทั้งๆที่ความไม่ปลอดภัยมีให้เห็นและเกิดขึ้นรายวัน และสร้างความสูญเสียอย่างหนัก อย่าง กรณีล่าสุด รถบัสทัศนศึกษานักเรียนจากจ.อุทัยธานีไฟไหม้ ไร้ความคืบหน้าและการสรุปถอดบทเรียน หรือแม้แต่ สะพานลาดกระบังถล่มมีคนเจ็บคนตาย ผ่านมาปีกว่า ก็ยังไม่รู้สาเหตุ ไร้คนรับผิดชอบ และการเยียวยา
ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.เพื่อความปลอดภัยสาธารณะที่กำลังผลักดันอยู่ จึงมีจุดประสงค์ ต้องการให้มีเจ้าภาพมาดูแลเรื่องความปลอดภัยสาธารณะครบวงจร ทำหน้าที่ 4 เรื่องสำคัญ ทั้ง ติดตาม รายงาน ตรวจสอบ และป้องกัน
เริ่มต้นตั้งแต่การ “ ติดตาม “ ซึ่งประชาชนอาจเห็นอันตรายในชีวิต เช่นการก่อสร้างสะพาน มีของจะหล่นใส่รถ ไม่รู้จะแจ้งหน่วยงานไหน ตามที่ใคร เพราะพอไปตาม กทม.ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ก็บอกให้ตามกรมทางหลวง ส่วนกรมทางหลวง บอกให้ตามที่กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษฯ ไปเรื่อยๆ ประชาชนไม่รู้จะแจ้งที่ใคร ดังนั้น จึงต้องมีหน่วยงานกลางที่ประชาชน สามารถถ่ายรูปแจ้งเตือนได้ทันท่วงที ว่าจุดไหนคือจุดเสี่ยง
2.“รายงาน” คือที่ผ่านมา ไม่มีรายงานถึงผู้มีอำนาจโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น นายกรัฐมนตรี ครม. รัฐสภา ซึ่งหากกฎหมายนี้เกิดขึ้นสำเร็จ จะมีการรายงานสู่สภา ซึ่งมีทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ติดตามตรวจสอบได้เลยว่า หน่วยงานไหนเป็นต้นตอของความไม่ปลอดภัย
3.“การตรวจสอบ” เอาเรื่องใกล้ตัว อย่างกรณีรถบัสทัศนศึกษาของนักเรียน จากอุทัยธานี ไฟไหม้เสียชีวิตจำนวนมาก ตอนนี้เงียบไปแล้ว ทั้งที่เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อน และอนาคตก็จะเกิดขึ้นอีกได้
“ เพราะสถานการณ์เมืองไทย คือไม่มีกฎหมาย พอเกิดเหตุอะไรก็ตาม มักให้หน่วยงานที่เป็นต้นตอ หรือเป็นเจ้าของโครงการไปถอดบทเรียนเอง ลูบหน้าปะจมูก นอกจากไม่อยากโทษหน่วยงานตัวเองแล้ว อาจเพราะไม่มีผู้เชี่ยวชาญโดยตรงด้วย และจนถึงวันนี้ก็ไม่มีหน่วยงานในการถอดบทเรียนเลย ไม่มีความเป็นกลาง ถูกหลักวิชาการ ที่จะนำไปสู่การหาผู้กระทำผิด และเยียวยาผู้เสียหายได้ ”
4.“การป้องกัน” ดังนั้นในต่างประเทศเขาจึงต้องมีองค์กรที่เป็นเจ้าภาพ มีคนมีความรู้ความเชี่ยวชาญ และมีความเป็นอิสระ เข้าไปถอดบทเรียน นำไปสู่การวางแนวทางนโยบายสำคัญ คือการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอีก เป็นจุดศูนย์รวม รับเรื่องราวร้องเรียน และนำเสนอโดยตรงต่อรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี
“ พรบ.นี้จึงเป็นกฎหมายที่ทันสมัย เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรง ต่อนายกรัฐมนตรี และมีหน้าที่รายงานต่อสภาฯ ดังนั้นหน่วยงานไหนไม่ปฏิบัติตามก็เหนื่อยหน่อยล่ะครับ เพราะว่ามีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ตั้งแต่รายงานติดตาม มีนักวิชาการที่มีความเป็นกลาง เป็นตัวแทนลงไปช่วยดูแลด้วย ”
ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายมีคณะกรรมการ 9 คน มาจากภาคกฎหมาย ภาคนโยบายสาธารณะ ภาควิศวกรรม ภาควิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และภาคสาธารณสุข โดยจะมีการคัดเลือกอย่างรอบคอบจากองค์กรวิชาชีพ
“ ที่สำคัญคือสามารถตรวจสอบกรรมการได้ ย้ำว่าจะไม่มีอำนาจในการควบคุม กำกับ ที่จะทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้ แต่มีอำนาจในการรายงาน ในการติดตาม นำมาสู่การปรับปรุงแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซาก ”
ศ.สุชัชวีร์ ยังย้ำถึงความตั้งใจ ที่อยากให้กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายฉบับประชาชน เพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น และเมื่อถึงในชั้นกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมาย ( กมธ.) ประชาชนจะมีเสียงส่วนใหญ่ใน กมธ.ซึ่งจะมีทั้ง ผู้เสียหาย ผู้สูญเสีย นักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถ จำนวนมากกว่านักการเมือง ตรงนี้จะเกิดกฎหมายที่มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น
ทั้งนี้ประชาชนสามารถลงชื่อสนับสนุนร่างกฎหมาย ได้ทั้งเว็บไซต์รัฐสภา และ https://thaipublicsafety.org เพราะเรื่องความไม่ปลอดภัย ไม่ใช่เรื่องไกลตัว สามารถร่วมกันสร้างความปลอดภัยให้ลูกหลาน ครอบครัว และตัวเอง ศ.สุชัชวีร์ เชื่อว่า หากร่างกฎหมายนี้ถูกบังคับใช้ จะช่วยคนไทยนับล้านชีวิต ซึ่งอาจเป็นคนใกล้ตัวเรา