ครบ 1 เดือน ‘รถบัสไฟไหม้’ มองหามาตรฐานความปลอดภัย ยังห่างไกลสากล

ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน เผย รถคันเกิดเหตุดัดแปลงผิดมาตรฐานหลายจุด ขณะที่ ‘สภาผู้บริโภค’ เปิดช่องโหว่กฎหมาย รถทัศนศึกษาไม่มีกำหนดอายุการใช้งาน ฝั่ง ‘กรมขนส่งฯ’ เร่งตรวจรถ CNG ทั่วประเทศ นักวิชาการ เสนอติดตั้งวาล์วอัตโนมัติที่หัวถังตามมาตรฐานยุโรป ส่วน สพฐ. ยัน ชะลอการจัดทัศนศึกษาจนกว่าจะมีหลักเกณฑ์ใหม่

วันนี้ (30 ต.ค. 67) สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเสวนาหัวข้อ “ครบรอบ 1 เดือนรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม มาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารอยู่ที่ไหน” โดย พ.ต.อ. อุดมศักดิ์ พาลี เจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว บอกว่า เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพบว่าเหตุการณ์นี้เหมือนกับระเบิดเวลาที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก จึงมีความจำเป็นต้องหามาตรการป้องกัน โดยต้องการให้ทุกหน่วยงานมีมาตรฐานการทำงานที่ชัดเจน คำถามสำคัญคือ จะควบคุมมาตรฐานได้อย่างไร?

พ.ต.อ. อุดมศักดิ์ พาลี

พ.ต.อ. อุดมศักดิ์ เปิดเผยขั้นตอนการพิสูจน์หลักฐาน พบว่า รถคันดังกล่าวมีการดัดแปลงหลายจุด เช่น การติดตั้งถังแก๊สเกินมาตรฐานและหมดอายุ รวมถึงเพลาบางส่วนที่หัก ซึ่งมีรายละเอียดอีกมากที่ต้องตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ได้เก็บวัตถุพยานและส่งตรวจเชิงลึกเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง นำไปสู่การวางแผนป้องกันในอนาคต ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานโดยพนักงานสืบสวน

พ.ต.อ. อุดมศักดิ์ ยังบอกถึงแนวทางการป้องกัน โดยมองว่าต้องพิจารณาหลายประเด็น ประเด็นแรกคือ ความสอดคล้องระหว่างคน ระบบ และกฎหมายกับบริบทการใช้งานจริง ประเด็นที่สอง คือ การติดตั้งและการรั่วไหลของแก๊ส ซึ่งจำเป็นต้องตรวจสอบว่า ระบบตรวจจับการรั่วไหลและวาล์วนิรภัยมีประสิทธิภาพเพียงใด และกระบวนการตรวจสอบมีมาตรฐานอย่างไร เนื่องจากจากการร่วมถอดชิ้นส่วนรถพบว่าปัญหาต่างๆ ไม่สามารถสังเกตได้จากภายนอก

เปิดช่องโหว่กฎหมาย รถบัสทัศนศึกษาไม่มีกำหนดอายุการใช้งาน

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ในปัจจุบัน หลักเกณฑ์ด้านความแข็งแรงของโครงตัวถังสำหรับรถโดยสารไม่ประจำทาง ประเภท 30 ยังไม่มีการกำหนดอายุการใช้งานของแชสซี โดยมติคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 ระบุว่า รถโดยสารไม่ประจำทางประเภท 30 ไม่มีข้อกำหนดอายุของเลขโครงตัวถังหรือแชสซี แต่สำหรับรถโดยสารประจำทางมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน เช่น รถโดยสารประจำทางที่วิ่งระยะไม่เกิน 300 กิโลเมตร จะกำหนดอายุแชสซีไม่เกิน 40 ปี ระยะ 300-500 กิโลเมตร ไม่เกิน 35 ปี และระยะทางเกิน 500 กิโลเมตร ไม่เกิน 30 ปี ส่วนรถหมวด 1 ที่วิ่งในเขตเมือง กำหนดอายุแชสซีไว้ไม่เกิน 50 ปี

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาผู้บริโภค

ในส่วนของมาตรการหลังเกิดอุบัติเหตุ กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกเรียกรถโดยสารที่ใช้ก๊าซ NGV (รถ CNG) จำนวน 13,426 คัน ให้เข้ารับการตรวจสภาพภายใน 60 วัน โดยหากตรวจพบว่าไม่ผ่านการตรวจสภาพ จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตการใช้งานทันที

ขณะที่ ตัวแทนกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยผลการตรวจสอบรถ CNG ตั้งแต่วันที่ 4 – 28 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีรถเข้าตรวจแล้วเพียง 3,000 คัน เป็นรถเช่าเหมา 950 คัน ที่เหลือเป็นรถประจำทาง พบว่ามีรถที่ไม่ผ่านเกณฑ์ 200 คัน ซึ่งถูกสั่งห้ามใช้งาน เนื่องจากพบปัญหา เช่น ถังแก๊สหมดอายุ น้ำหนักเกินจากที่ลงทะเบียนไว้ และประตูฉุกเฉินไม่สามารถใช้งานได้ กรมขนส่งทางบกได้สั่งห้ามใช้รถ CNG สำหรับการรับส่งนักเรียนชั่วคราว พร้อมยอมรับว่ากฎระเบียบที่ใช้อยู่ไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน และจะมีการปรับปรุงมาตรฐานใหม่ในอนาคต

นักวิชาการแนะยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย

หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการด้านพลังงาน บอกว่า ปัญหาเรื่องการเสียชีวิตจากเหตุรถไฟไหม้นั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว โดยมีผู้เสียชีวิตจากเหตุไฟไหม้รถบัสและรถตู้รวมกันกว่าร้อยราย ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าเกิดปัญหาอะไรในระบบติดตั้งแก๊สที่ใช้อยู่ในประเทศไทย โดยพบว่า สำหรับแก๊ส LPG จะมีวาล์วที่หม้อต้มและหัวถัง ในขณะที่ NGV มักมีวาล์วที่หม้อต้มเพื่อปิดระบบ แต่ที่หัวถังอาจมีหรือไม่มีก็ได้

มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการด้านพลังงาน

ตามมาตรฐานต่างประเทศ เช่น ยูโรและไอเอสโอ (ISO) กำหนดไว้ว่าถังแก๊สทุกใบต้องมีวาล์วไฟฟ้าอัตโนมัติที่หัวถังเพื่อความปลอดภัย แต่กฎหมายของไทยกลับอนุญาตให้เลือกระบบปิดวาล์วได้อย่างใดอย่างหนึ่ง หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ ได้ย้ำกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้หากประเทศไทยยึดตามมาตรฐานยุโรป หรือ ISO ซึ่งหากติดตั้งวาล์วอัตโนมัติที่หัวถังจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อถัง แต่จะเพิ่มความปลอดภัย แต่ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบก อนุญาตให้เลือกระดับมาตรฐานวาล์วได้ จึงมีทั้งรถที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงและต่ำกว่า ต่างจากมาตรฐานต่างประเทศที่กำหนดให้ติดตั้งวาล์วหัวถังอัตโนมัติในทุกรถเพื่อความปลอดภัยสูงสุด

หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ ยังเสนอให้ติดตั้งเรือนกักก๊าซสำหรับถังแก๊สในรถแต่ละคัน แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งปัจจุบัน ถังแก๊สมักถูกติดตั้งในช่องเก็บสัมภาระ ซึ่งหากมีการติดตั้งเรือนกักแก๊สจะต้องวางถังไว้ที่ท้ายรถแทน แม้ว่าจะต้องเสียพื้นที่นั่งโดยสารไป 3-4 ที่นั่ง แต่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในกรณีเกิดการรั่วไหล

สพฐ. ออกมาตรการเข้มงวดทัศนศึกษา

ขณะที่ เดชา ปาณะสี รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า เหตุการณ์นี้เป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างยิ่ง โดยในฐานะของ สพฐ. ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง จึงได้เตรียมแผนการจัดการเพื่อรับมือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยแต่ละโรงเรียนจะมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดกับนักเรียน เช่น โรงเรียนที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือในพื้นที่เสี่ยงสึนามิจะต้องมีแผนเผชิญเหตุและการซักซ้อม รวมถึงการเตรียมพร้อมรับภัยบนท้องถนน ซึ่งเป็นประเด็นที่เพิ่งเกิดขึ้น

เดชา ปาณะสี รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ.

ตั้งแต่ปี 2560 สพฐ. ได้ออกประกาศเกี่ยวกับการนำพานักเรียนไปทัศนศึกษากว่า 10 ฉบับ โดยกำหนดระเบียบ แนวปฏิบัติ และการซักซ้อม รวมถึงสำหรับการเข้าค่ายและการเปิด-ปิดภาคเรียน ล่าสุด หลังเกิดเหตุ สพฐ. ได้ออกประกาศฉบับใหม่ เพื่อป้องกันเหตุซ้ำรอย โดยหลังจากนี้ จะเน้นให้โรงเรียนหลีกเลี่ยงการจัดทัศนศึกษาจนกว่าจะมีหลักเกณฑ์ใหม่ที่ชัดเจน ทั้งนี้ สพฐ. เห็นว่านักเรียนปฐมวัยควรจัดทัศนศึกษาในสถานที่ใกล้โรงเรียนก่อน จากนั้นค่อยขยายระยะทาง โดยจะมีผู้ปกครองหรืออาสาสมัครร่วมเดินทางไปด้วยทุกครั้ง

สำหรับนักเรียนประถมฯ ปลาย และมัธยมฯ จะจัดทัศนศึกษาให้เหมาะสมตามช่วงวัย โดยให้ความสำคัญกับการเลือกรถโดยสารที่มีความปลอดภัย ซึ่งต้องผ่านการตรวจสภาพภายใน 30 วันและตรวจซ้ำก่อนออกเดินทาง รวมถึงต้องซักซ้อมแผนเผชิญเหตุก่อนเดินทางทุกครั้ง และต้องมีสัญญาเช่ารถที่ระบุเงื่อนไขชัดเจนเกี่ยวกับสภาพรถ คนขับ การประกันภัย และความรับผิดชอบหากเกิดเหตุ ทั้งนี้ รถโดยสารต้องได้รับการพักไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนเดินทาง และหากเส้นทางมีความลาดชัน ต้องใช้รถโดยสารชั้นเดียวเท่านั้น พร้อมทั้งห้ามออกเดินทางในช่วงเวลากลางคืน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active