‘พวงทอง’ ชี้ ความเป็นไทย ขัดขวางนิติรัฐ เหตุให้ความสำคัญกับระบบเครือข่าย-อุปถัมภ์ ย้ำ การเข้ามาของทุนใหญ่ ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ‘มุนินทร์-อนุสรณ์’ หวัง เห็นรัฐธรรมนูญทำหน้าที่วางโครงสร้างระบบไม่ให้เกิดปัญหา-ประชาชนร่วมตรวจสอบถ่วงดุล ผ่านการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
8 ก.พ. 2568 เสวนา ‘นิติรัฐนิติธรรม’ กับการสร้างประชาธิปไตยทางการเมืองและเศรษฐกิจ ภายในงานแฟร์เพื่อความแฟร์ “Thailand Rule of Law Fair 2025” จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และเครือข่าย โดยช่วงหนึ่งของการเสวนา มีการตั้งคำถามถึงสถานการณ์ของประเทศไทยต่อ “The Rule of Law” ซึ่งเป็นหลักของการกำกับรัฐไม่ให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ หากมองตามนิยามดังกล่าว สถานการณ์ของประเทศไทยขณะนี้ มีตัวชี้วัดอย่างไร และมีปัญหาในลักษณะไหน
รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบกรณีที่มีการตั้งคำถามว่าเราสามารถสร้างนิติรัฐจากความเป็นไทยได้หรือไม่ ตนมองว่า ความเป็นไทย คือสิ่งที่ขัดขวางนิติรัฐในแง่ที่ให้ความสำคัญกับระบบเครือข่าย ระบบอุปถัมภ์ ระบบผู้มีบารมี ระบบที่ให้ความสำคัญกับผู้ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ รวมถึงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ใช่แค่ระบบในระดับปัจเจกชน แต่เป็นการสร้างระบบกฎหมาย ระบบโครงสร้างอำนาจให้เอื้อกับสิ่งเหล่านี้ กลายเป็นเครือข่ายทางอำนาจ ซึ่งที่ผ่านมารับรู้กันว่าเราไม่เคยบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมเสมอกัน พร้อมยกตัวอย่างประโยค “คุกมีไว้ขังคนจน” ซึ่งพบว่าช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ระบบกฎหมายไทย ตุลาการ นักกฎหมาย ถูกวิจารณ์มากขึ้น แบบไม่ใช่แค่เรื่องตัวบุคคล แต่เป็นเรื่องระบบ สะท้อนว่าสถานการณ์เลวร้ายลงจนคนไม่เชื่อมั่น โดยความเสื่อมของระบบกฎหมายไทยถึงขนาดที่ว่าไม่สามารถคาดหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรมได้
รศ.พวงทอง กล่าวต่อไปว่า แม้กระทั่งคนที่เป็นคนดีของระบบ วันหนึ่งกลับแสดงจุดยืนอย่างตรงไปตรงมา ไปขัดขวางทุนขนาดใหญ่ ก็อาจจะถูกลงโทษได้ พร้อมกล่าวถึงสถานการณ์นับตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 ที่ได้ยินการวิจารณ์ระบบนิติรัฐของไทยอย่างหนัก โดยตนมองว่ามาจากปมปัญหาสำคัญอย่างน้อย 3 ประเด็น
เรื่องแรก การที่เรื่องปัจเจกชนขยับไปสู่เรื่องจุดยืนทางการเมือง กลายเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าใครผิดใครถูก โดยยกตัวอย่างกรณีการกระทำผิด ที่มีกลุ่มสีทางการเมืองเป็นตัวกำหนดว่ากฎหมายจะบังคับใช้กับใคร แล้วคนสามารถคาดเดาได้ว่าผลของคำตัดสินในข้อหาทางการเมืองนั้นจะเป็นอย่างไร
“ต่อให้สิ่งที่พูดถูก ก็ผิดอยู่ดี นี่เป็นประโยคที่เคยถูกใช้มาแล้วในการตัดสินคดี 112”
เรื่องที่สอง นิติรัฐเสื่อม เพราะเอาความมั่นคงของรัฐมาเป็นเกณฑ์ตัดสินความผิดของประชาชน รวมถึงกลุ่มการเมืองในคดีอาญามาตรา 112 หรือ 116, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, กฎอัยการศึก รวมถึงปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ ไอโอ กลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ คนมองว่ากฎหมายเหล่านี้มีไว้เพื้อพิทักษ์ปกป้องความมั่นคงของรัฐ เมื่อคนส่วนใหญ่มองแบบนี้ มีแต่คนส่วนน้อยที่ตั้งคำถามว่าเรื่องเหล่านี้เป็นความมั่นคงของรัฐจริงหรือไม่
รศ.พวงทอง บอกอีกว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชน มีความหมายน้อยกว่าความมั่นคงของรัฐ โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง จะเห็นได้ชัดเจนว่าคนที่ถูกลงโทษ คือฝ่ายของประชาชน ไม่ว่าเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือม็อบเยาวชน ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐ แม้พบข้อมูลว่าเป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ แต่กลับไม่มีการตั้งคำถาม แม้แต่ในสื่อมวลชน
และสาม สิ่งที่ทำให้สถานการณ์นิติรัฐแย่ลง คือ บทบาทของทุนที่เข้ามากำกับกฎหมาย หรือกำกับการตัดสินคดีความมีให้เห็นมากขึ้น หรือแม้แต่การที่กฎหมายเอื้อมไม่ถึง ไม่ครอบคลุมการดำเนินการของเอกชน ต่อให้เอกชนเป็นผู้ก่อมลพิษหรือการผูกขาดทุนขนาดใหญ่ มีคำวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากที่ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มทุนกับกลุ่มนักการเมือง หรือผู้มีอำนาจทางการเมือง โดยมีการตั้งคำถามว่าทำไมเราไม่สามารถทำอะไรได้เลย พร้อมยกตัวอย่างกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับ รศ.พิรงรอง (กรรมการ กสทช.)
“ความเป็นไทยทำให้ระบบนิติรัฐเกิดขึ้นไม่ได้ ความเป็นไทยที่ไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ เราไม่เคยมองคนเท่ากัน ไม่เคยมองกลุ่มการเมืองเท่ากัน เราให้อภิสิทธิ์ เราให้ข้อยกเว้นเสมอกับผู้มีอำนาจ ผู้มีบารมี ผู้มีทุนขนาดใหญ่ 20 ปีที่ผ่านมาเลวร้ายลง ด้วยเงื่อนไขทางการเมือง”
![ประชาธิปไตย](https://files.wp.thaipbs.or.th/theactive/2025/02/IMG_9279-1024x768.jpg)
รศ.พวงทอง กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศนี้ไม่มีความหวัง ถ้าไม่มีประชาธิปไตย เราไม่มีทางสร้างนิติรัฐได้ ถ้าไม่มีระบอบประชาธิปไตย แม้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่อำนาจลึก ๆ ยังอยู่กับขั้วอำนาจเดิม รัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่มีอำนาจทำอะไร นอกจากการเดินหน้าเรื่องเศรษฐกิจ ส่วนตัวเชื่อว่าเราไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เราเป็นรัฐความมั่นคง หรือ Security State ที่ความมั่นคงของรัฐสำคัญเหนืออื่นใด และอนุญาตให้รัฐใช้อำนาจในนามความมั่นคงเพื่อจัดการกับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ
ช่วงที่ผ่านมา มีแต่การปฏิรูปการเมืองแบบที่มุ่งจัดการพรรคการเมืองและนักการเมืองเพื่อให้อ่อนแอลง ตีความกฎหมายอย่างเกินเลยเสมอ เพื่อจัดการกลุ่มการเมืองที่ไม่พึงปรารถนา นี่คือการทำให้ระบบการเมืองแบบรัฐสภาอ่อนแอลง
“เราเป็นประชาธิปไตยแต่เปลือก แบบเดียวกับที่เป็นนิติรัฐแบบเปลือก เรารับระบบกฎหมายจากต่างประเทศมา แต่เราก็ตีความมันแบบไทย ๆ”
ยกกรณีผู้พิพากษาเสนอยกเลิกหลักสูตรพิเศษ สัญญาณเปลี่ยนแปลงจากข้างใน
สมคิด พุทธศรี บรรณาธิการบริหาร The101.world ระบุสิ่งที่ทีมได้ค้นพบจากงานวิจัย “ความยุติ-ธรรมใต้ภูเขาน้ำแข็ง : เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการสร้างนิติรัฐนิติธรรมในสังคมไทย” ที่พยายามทำความเข้าใจว่าทำไม 20 ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม จึงล้มเหลว ไม่ว่าเรื่องโทษอาญาเฟ้อ ความเหลื่อมล้ำ ความไร้ประสิทธิภาพ หรือการคอร์รัปชัน ซึ่งพบหลายปัจจัยที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมเห็นปัญหาร่วมกัน มีคำตอบเชิงเทคนิค แต่ผลที่ตามมา คือ ไม่ดีขึ้น บางด้านแย่ลง สิ่งอยากบอกคือไม่ได้หมายความว่าคนในกระบวนการยุติธรรมเลวร้าย แต่มีแรงจูงใจบางอย่างทำให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่ได้ โดยทีมวิจัยพบว่า ในระบบยุติธรรมมีพลังของการปฏิรูปอยู่ คือ หลายคนอยากเปลี่ยนแปลง
เขาตั้งคำถามต่อว่า ในช่วงที่นักเรียนนักศึกษาเคลื่อนไหวเยอะ ๆ ในฐานะผู้ใหญ่ เราทำอะไรน้อยไปไหม โดยเฉพาะผู้นำองค์กรหรือข้าราชการระดับสูง ส่วนตัวคงมีเหตุผลมากมาย ที่จะบอกว่าไม่กล้าหาญเท่าคนที่ออกมาต่อสู้ แต่เราสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่ ในขอบข่ายอำนาจ เราสามารถปกป้องพวกเขาได้บ้างไหม
สมคิด ยกกรณี ผู้พิพากษาสองท่าน เขียนจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้มีการยกเลิกหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง หรือ บ.ย.ส. ของศาลยุติธรรม ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่า ที่ผ่านมาคำวิพากษ์วิจารณ์กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นมาตลอดแต่ยังไม่สามารถทำอะไรได้ แต่การที่คนข้างในระบบวิจารณ์ตัวเอง การเปลี่ยนแปลงข้างในจึงเป็นสิ่งที่ทรงพลัง ซึ่งส่วนตัวมองว่ายังมีโอกาสอยู่บ้าง ท่ามกลางความมืดมน อาจต้องสะสมชัยชนะเล็ก ๆ
รัฐธรรมนูญ ต้องวางโครงสร้างระบบทั้งหมดไม่ให้มีปัญหา
รศ.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ความเจริญงอกงามของ นิติรัฐ นิติธรรม จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อเรามีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีการปกครองโดยกฎหมายได้ เพราะ The Rule of Law เจริญงอกงามบนสภาพแวดล้อมที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น
แต่การมีประชาธิปไตยอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งการันตีว่า Rule of Law จะเจริญมั่นคงสถาพรได้ จึงมองว่านอกจากการมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งแล้ว สิ่งที่เป็นหัวใจ คือ การตรวจสอบถ่วงดุล แน่นอนว่าคือองค์กรในกระบวนการยุติธรรม แต่คำถามคืออะไรทำให้มั่นใจว่าจะบังคับกฎหมายอย่างเสมอภาค
![](https://files.wp.thaipbs.or.th/theactive/2025/02/IMG_9272-1024x768.jpg)
รศ.มุนินทร์ หยิบยกกรณีตัวอย่างของ ศาล ที่ดูเหมือนเป็นจุดสูงสุดของกระบวนการยุติธรรม แต่ศาลต้องรับผิดชอบต่อสังคม มีความโปร่งใส สิ่งที่เป็นพื้นฐานของศาลที่แสดงให้เห็นถึงการไม่เลือกปฏิบัติ คือ คำพิพากษา ที่ต้องแสดงให้เห็นว่ามีเหตุผลหนักแน่นเพียงพอหรือไม่เมื่อเทียบกับคดีอื่น แต่เมื่อมีคนสงสัยว่าทำไมจึงแตกต่าง เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เป็นตัวบ่งชี้ว่าการตรวจสอบถ่วงดุลโดยประชาชนทำงานหรือไม่ หรือการตรวจสอบภายในองค์กร รวมถึงการตรวจสอบจากองค์กรภายนอก ยังทำงานอยู่หรือไม่ จึงถูกตั้งคำถามว่าอาจเป็นเพราะเหตุนี้ทำให้คนในกระบวนการยุติธรรมไม่ต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพราะข้อจำกัด เช่น การละเมิดอำนาจศาล
พร้อมย้ำว่า The Rule of Law ไม่ใช่หน้าที่ของศาลหรือนักกฎหมายอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องตรวจสอบ ตั้งคำถาม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด หรือรัฐธรรมนูญที่วางโครงสร้างของระบบทั้งหมดที่พูดมา ไม่ให้เกิดปัญหา แต่ที่ผ่านมาระบบตรวจสอบถ่วงดุลอ่อนแอลงเรื่อย ๆ
“ยืนยันว่า ไม่มีประชาธิปไตยในเวอร์ชันไทย ไม่มี The Rule of Law ในเวอร์ชันไทย หมายความว่าเราไม่มี The Rule of Law เลย … นั่นคือการปกครองโดยกฎหมายตามอำเภอใจโดยผู้มีอำนาจในการตีความกฎหมาย ซึ่งขัดกับเป้าหมายหรือที่มาของ The Rule of Law ที่ต้องป้องกันการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งไม่มีทางอยู่ด้วยกันได้ คือ สองสิ่งที่ขัดแย้งกันเองหรือตรงข้ามกัน”
ด้าน รศ.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า หากการต่อสู้เพื่อสร้างนิติรัฐและนิติธรรมในสนามใหญ่เป็นเรื่องยาก อาจต้องมองไปที่สนามใหม่ ๆ จากโจทย์ว่าทำอย่างไรให้ประชาชนใช้ชีวิตตามที่ปรารถนาได้ ทำให้ตนนึกถึงคำว่า ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน โดยกล่าวถึง การตื่นตัวของประชาชนในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่พลังของการเมืองภาคประชาชนเกิดขึ้นท่ามกลางคนมีอำนาจ
แม้ปัจจุบัน พลังของภาคประชาชนจะแผ่วเบาลงไป จนแทบต่อรองอะไรไม่ได้เลย จะทำอย่างไรที่จะขยายอำนาจประชาชนให้มากขึ้น ทำอย่างไรให้รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับเราได้น้อยลง กำกับเราได้น้อยลง จะหาพื้นที่อย่างไร
รศ.อนุสรณ์ กล่าวต่อไปว่า เวลาพูดเรื่องประชาธิปไตย คือ อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ถ้าค้นนิยามอีกแบบ อำนาจอธิปไตย เคลื่อนตัวผ่าน 2-3 ทศวรรษ ไม่ใช่แบบเนื้อเดียวแล้วบังคับใช้เหนืออาณาบริเวณอีกต่อไป แต่แยกย่อยได้ กลายเป็นว่าคนที่เข้าไปกำกับกลายเป็นกลุ่มทุนใหญ่หรือบรรษัทข้ามชาติ แต่ยังไม่มีประชาชนอยู่ในนั้นเท่าที่ควร ในทางปฏิบัติ อาจต้องคิดถึงรัฐในรูปแบบอื่น ที่นอกเหนือจากการตรึงรูปแบบรัฐแบบโบราณ แต่ปัจจุบันรัฐไปสัมพันธ์กับเรื่องราวต่าง ๆ ไกลกว่านั้นแล้ว
เขามองว่าการปกครองท้องถิ่น จะทำให้อำนาจชนชั้นนำเข้ามาแตะชีวิตประชาชนน้อยลง เช่น ท้องถิ่นจัดการตนเอง ใช้เงื่อนไขที่ตั้งตามภูมิศาสตร์ ทำให้รัฐขนาดใหญ่มีขนาดลดลง คนที่อาศัยรัฐเป็นเครื่องมือกำกับชีวิตประชาชน เขาจะทำได้น้อยลงเรื่อย ๆ
”ในระดับท้องถิ่นอาจต้องคิดเรื่องนี้มากขึ้นในการใช้อำนาจอธิปัตย์ในระดับที่แยกย่อยออกไป“