‘ครูขอสอน’ ชวนถามใหม่ เหตุใดเราต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อสิทธิขั้นพื้นฐาน ชี้ ไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ทุกคนมีเงื่อนไขชีวิตที่พร้อมต่อการตัดสินใจ ห่วงหากมองไม่เห็นคุณค่าความหลากหลาย อาจกลายเป็นอุปสรรคขวางการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย

ภายหลังการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาล 2,463 แห่ง ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา พบหลายกลุ่มอำนาจเดิมหรือ บ้านใหญ่ ยังคงครองแชมป์ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์ในสื่อสังคมออนไลน์ ที่มองเห็นถึงปัญหาของระบอบประชาธิปไตย พร้อมตั้งคำถามว่า หาก “Voter ด้อยคุณภาพ” ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ยังคงมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ ?
The Active พูดคุยถึงข้อถกเถียงดังกล่าวกับ ครูทิว – ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูวิชาสังคมศึกษา ในฐานะหนึ่งในผู้ก่อตั้ง กลุ่มครูขอสอน วิเคราะห์ถึงปัญหาวาทกรรม “เสียงคุณภาพ – เสียงด้อยคุณภาพ” ที่มีประเด็นกลับมาอีกครั้งหลังการเลือกตั้งเทศบาล โดยเฉพาะในเขตที่ยังคงเลือกผู้แทนซึ่งมีข้อครหาเกี่ยวกับคุณสมบัติ วาทกรรมเช่นนี้ สะท้อนปัญหาความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ?
“3 แสนเสียงของ กทม. แต่เป็นเสียงที่มีคุณภาพ
รศ.เสรี วงษ์มณฑา
ย่อมดีกว่า 15 ล้านเสียงใน ตจว. แต่ไร้คุณภาพ”
จากประโยคข้างต้นโดย รศ.เสรี วงษ์มณฑา เป็นตัวอย่างที่สะท้อนว่า วาทกรรม “Voter ด้อยคุณภาพ” จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นของใหม่ในสังคมไทย ซึ่ง ครูทิว บอกว่า วาทกรรมลักษณะนี้อยู่ในสังคมมานานมากแล้ว ตั้งแต่ตนยังเด็กก็ได้ยินอยู่บ่อย ๆ ทั้งเรื่องเสียงของคนเมืองกับคนชนบท, บ้านใหญ่, การซื้อเสียง หรือการเลือกผู้มีอิทธิพล หรือพูดง่าย ๆ คือสังคมเรายังมีความเชื่อบางอย่างที่ฝังรากลึก เช่น ความคิดที่ว่าเสียงของบางคนไม่มีคุณภาพเท่าเสียงของอีกคนหนึ่ง
ประเด็นนี้ย้อนกลับไปที่ ความเข้าใจพื้นฐานของประชาธิปไตย ที่ไม่ใช่แค่การรู้ในหลักทฤษฎีว่าประชาธิปไตยมีหลักการอะไรบ้าง แต่เป็นเรื่องของการ เชื่อและใช้คุณค่าเหล่านั้นในชีวิตจริง เช่น หลัก หนึ่งคนหนึ่งเสียง หรือความคิดว่าทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันในการตัดสินใจ แม้ในบางเรื่องอาจต้องใช้ความรู้เฉพาะทาง แต่ในหลาย ๆ เรื่อง คนธรรมดาก็สามารถแสดงความเห็นได้ เพราะพวกเขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง
“ผมว่าพื้นฐานของการมองเห็นคนไม่เท่ากัน มันคือพื้นเดียวกันกับความคิดที่ว่า ทำไมฉันต้องเสียภาษีให้คนที่ไม่เสียภาษี ? นี่คือความล้มเหลวของการศึกษาสังคมในยุคใหม่เลยนะ เราต้องเข้าใจใหม่ว่า ภาษีไม่ใช่การขูดรีด แต่คือเครื่องมือสร้างความเป็นธรรมทางสังคม เพื่อให้เราทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่แค่ให้ชีวิตเราดีขึ้น แต่เพื่อให้สังคมที่เราอยู่ดีขึ้นต่างหาก แล้วชีวิตของเรามันถึงจะดีตามไปด้วย”
ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

Meritocracy: เหตุใดเราต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อสิทธิขั้นพื้นฐาน ?
ครูทิว ได้ย้ำ คำถามสำคัญ คือ เรามองคนเท่ากันหรือไม่ ? มองว่าเขามีคุณค่าเท่ากับเราหรือเปล่า เขาควรมีสิทธิพื้นฐานในการใช้ชีวิตร่วมกับเราหรือไม่ หรือเราคิดว่าใครไม่คู่ควรกับสิทธิเหล่านี้ ? แม้เขาจะไม่ได้ใช้ชีวิตแบบคุณก็ตาม แต่เขาควรมีสิทธิในการมีชีวิตที่ดีและออกเสียงในระบอบประชาธิปไตย
นอกจากนี้ วาทกรรมเสียงด้อยคุณภาพ ยังเกี่ยวข้องกับแนวคิด Meritocracy หรือระบบคุณธรรมที่เชื่อว่า บุคคลจะได้รับสิ่งต่าง ๆ ตามความสามารถหรือความพยายาม ซึ่งมันอาจปรับใช้ได้กับบางบริบท แต่สำหรับ ครูทิว ชี้ว่า ในหลายเรื่องโดยเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาล, การเลือกตั้ง, หรือสวัสดิการทั่วไป สังคมไทยกลับเอาวิธีคิดแบบนี้ไปใช้ จนเกิดคำถามว่า “คนที่ไม่ดูแลสุขภาพตัวเองควรได้รับสิทธิรักษาฟรีหรือเปล่า ?”, “คนชนบท ห่างการศึกษาไม่ควรมีสิทธิเลือกผู้นำของเขาหรือเปล่า ?” ทั้งที่ในความเป็นจริง สิทธิเหล่านี้ควรเป็นสิทธิที่ทุกคนพึงมี
“น่าเสียดายที่ระบบการศึกษาในไทยไม่ค่อยสอนให้นักเรียนเข้าใจว่า การเมืองคืออำนาจในการจัดสรรทรัพยากร ตั้งแต่ยุคอารยธรรมโบราณจนถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งก็คือการเลือกคนที่มีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากร และผู้คนจะเลือกแบบที่พวกเขาเชื่อว่าจะทำให้พวกเขาได้รับสิ่งที่ต้องการต่อให้รู้อยู่ว่าคนที่เลือกนั้นทุจริตก็ตาม ถ้ายังไม่มีใครเสนอ วิธีคิดใหม่ ที่ทำให้เขาเชื่อว่ามันดีกว่าเดิม เขาก็จะยังคงเลือกแบบเดิม”
ครูทิว—ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

ครูทิว ลองเปรียบเทียบง่าย ๆ เหมือน ครูที่ไม่ควรโทษนักเรียนว่าไม่ฉลาด หรือขี้เกียจเมื่อเขาสอบตกหรือหนีโรงเรียน แต่ควรถอยออกมาและต้องมองว่ามันจะต้องหาวิธีการสอนยังไงที่จะทำให้เขาเข้าใจ ถ้าเชื่อว่าปัจจัยภายนอกทำให้นักเรียนสอบตก เราก็ต้องทำงานให้หนักขึ้น หรือต้องสื่อสารให้เข้าใจมากขึ้น ทั้งนี้ การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นเรื่องพื้นฐาน เราต้องเชื่อในเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก่อน เคารพการตัดสินใจของเขา แล้วเราจะมองเห็นปัญหาที่อยู่รอบตัวเขา และช่วยกันแก้ไขมันได้อย่างถูกจุด
เช่นเดียวกันกับระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ทุกคนในสังคมจะได้มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ทุกคนจะมีเงื่อนไขในชีวิตที่พร้อมต่อการตัดสินใจ คุณจะเห็นต่างหรือไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของผู้อื่นในสังคมก็ได้ แต่คุณต้องไม่ละเมิดหลักการพื้นฐานบางอย่าง เช่น ความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์ เพราะหากเรายังมองไม่เห็นคุณค่าของความหลากหลาย และยังพยายามสร้างอัตลักษณ์แบบเดียวให้ทุกคนเหมือนกัน คิดเหมือนกัน เชื่อว่ามีคนฉลาดกว่า ตัดสินใจได้ดีกว่า สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ขวางการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย
“คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ แต่คุณต้องไม่ข้ามหลักการพื้นฐานบางอย่าง เพราะเรามักเห็นคนที่อ้างตัวว่าเป็นประชาธิปไตย แต่กลับมองคนไม่เท่ากัน ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากระบบการศึกษากับรัฐที่พยายามสร้างอัตลักษณ์แบบเดียว จนความหลากหลายกลายเป็นสิ่งแปลกแยก ทั้งที่จริงแล้ว ความหลากหลายควรเป็นจุดแข็งของประเทศนี้”
ธนวรรธน์ สุวรรณปาล