ตัวแทนภาครัฐแจงรับฟังคิดเห็นจากตัวแทน LGBTQIAN+ ทั่วประเทศ และศึกษาการออกกฎหมายจากต่างประเทศ ย้ำไม่ได้แยกคนออกเป็น 2 ประเภทอดีต กสม. ชี้ มติโหวตสวนพรรครัฐบาล สะท้อน เกมการเมือง และ ส.ส.รู้บทบาททำหน้าที่เพื่อประชาชน
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันทางเพศ เมื่อวานนี้ (15 มิ.ย.65) โดยสภาฯ มีมติเสียงส่วนใหญ่ รับหลักการร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 4 ฉบับ ในวาระแรก ได้แก่ 1. ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ตามที่ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ 2. ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ตามที่ ครม.เป็นผู้เสนอ 3. ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามที่ ครม.เป็นผู้เสนอ 4. ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ตามที่ อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ
โดย พ.ร.บ. ที่มีกระแสข่าวในช่วงก่อนการพิจารณาว่าจะผ่านเป็นกฎหมายในการสร้างครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) คือ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของ ครม. และม้ามืด อย่าง ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่มาในชื่อเดียวกันจากพรรคประชาธิปัตย์ The Active ชวนฟังสาระ เนื้อหา สาระ ของ ร่าง พ.ร.บ. ผ่านการอภิปรายของผู้เสนอทั้ง 2 ฉบับ
ในช่วงการนำเสนอร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่ ครม. เป็นผู้เสนอ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จัดทำขึ้นเพื่อให้สังคมเข้าใจ เรียนรู้การอยู่ร่วมกันระหว่างคนในสังคม เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้ (LGBTQIAN+) จดทะเบียนสมรสเป็นคู่ชีวิต เพราะกฎหมายแพ่งพาณิชย์ระบุให้เป็นการสมรสชายกับหญิงเท่านั้น จึงควรมีกฎหมายรับรองความสัมพันธ์การเป็นคู่ชีวิต
ด้าน เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ก.ยุติธรรม ในฐานะผู้ชี้แจง กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นความพยายามผลักดันกันมานานกว่า 10 ปี กว่าจะเข้ามาสู่การพิจารณาในวันนี้ โดยมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีกฎหมายรับรองสิทธิ (LGBTQIAN+) ซึ่งจากการสัมภาษณ์พบว่ามีกว่า 71 รายการยังมีปัญหาเข้าไม่ถึงสิทธิทั้งที่เป็นคนไทย จึงต้องการที่จะสร้างกฎหมายรองรับสิทธิ ให้เท่าเทียมที่สุด
“ผมขอยืนยันว่าการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ได้ถูกร่างฯ โดยการตั้งเป้าว่าจะต้องแบ่งแยกคนให้ออกมาเป็น 2 ประเภท เนื่องจากคนที่ยกร่างฯ ฉบับที่1-5 คนที่ร่างฯ พัฒนาการทั้งหมด มีการรับฟังคิดเห็นจาก หน่วยงานราชการ ภาคประชาสังคม และตัวแทนกลุ่ม (LGBTQIAN+) ทั่วประเทศ ยอมรับว่า 10 ปีที่ผ่านมาเป็นความยากลำบากในภาคราชการ จึงอยากให้เข้าใจว่าเราไม่กดให้ไม่ได้รับสิทธิอะไร สิ่งที่ยังไม่ได้ต้องแก้ไขในชั้นรัฐสภา”
เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร
นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติ่มว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มีเป้าหมายเดียวกัน คือการมุ่งสู่สมรสเท่าเทียม แต่วิธีการจะไปให้ถึงอาจจะแตกต่างกัน เนื่องจากการพิจารณาในการจัดทำ พ.ร.บ.คู่ชีวิต กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มีการศึกษาแนวทางพัฒนาจากกฎหมายของต่างประเทศ รวมถึงการหารือกับภาคส่วนต่างๆ กลุ่มศาสนา และสถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน แบบเป็นค่อยไป พร้อมอ้างอิงกฎหมายกว่า 30 ประเทศ ที่มีการอนุญาตให้มีสมรสเท่าเทียมแล้ว ทุกประเทศดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปทั้งสิ้น ทั้งการเริ่มจากเป็นคู่ชีวิตและจึงค่อยพัฒนาไปถึงสมรสเท่าเทียม บางประเทศใช้เพียงบางเมืองและค่อย ๆ ขยายไปจนทั่วประเทศ นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจึงเลือกใช้แนวทางนี้
วรกร โอภาสนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พร้อมด้วย ณัฐนันทน์ อัศวเลิศศักดิ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำ กล่าวว่า สำนักงานฯ ไม่ได้มีความเห็นขัดหรือแย้ง กับการดำเนินการของกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่ภารกิจสำคัญนอกเหนือไปจากการตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ. และให้ความเห็นทางกฎหมายในฐานะของที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลแล้ว เรายังมีภารกิจที่ต้องพิจารณาถึงความจำเป็นตรากฎหมาย ต้องประเมินถึงผลกระทบ โดยเฉพาะในแง่ของกฎหมายที่เป็นหลักพื้นฐานของประเทศ ซึ่งการแก้ไข ปรับปรุง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครอบครัว อาจจะมีผลกระทบต่อกฎหมายอื่นอย่างมากอย่างมาก และมีการอ้างอิงไปถึงการเป็นคู่สมรสอย่างมาก จึงต้องศึกษาอย่างรอบคอบ ถ้าหากค่อยเป็นค่อยไปจะสอดคล้องกับกลุ่ม (LGBTQIAN+) ได้ ซึ่งการที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีความเห็นไปถึง ครม.นั้น สำนักงานเห็นว่ายังไม่สมควรรับหลักการดังเหตุผลที่กล่าวมา
ขณะที่ในชั้นการพิจารณของกฤษฎีกา มีการพิจารณาทั้งร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ปี 2563 เมื่อเสร็จในปี 2565 จึงมีร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเข้ามา และจัดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และส่งกลับ ค.ร.ม. โดยสำนักงานฯ เห็นว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อาจจะยังส่งผลกระทบที่ยังไม่ได้ศึกษา เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นกฎหมายพื้นฐ่าน ในขณะที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีก 50 ฉบับ มีการนำคำว่าคู่สมรส หรือสามี ภรรยา ไปใช้ในกฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายอุ้มบุญ สิทธิประโยชน์ในกองทุน สัญชาติ
“กรณีของคู่ชีวิตจะไม่เหมือนคู่สมรส แค่การเป็นบิดา-มารดาบุตร และการหมั้น ส่วนสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่มีการพูดถึงนั้น ต้องไปดูอีกว่าในสิทธิตามกฎหมายเฉพาะอื่นๆ จะครอบคลุมไปมากแค่ไหน จะมีผลกระทบอย่างไร ในชั้นกฤษฎีกา จึงมองว่าเมื่อเป็นเรื่องเร่งด่วนและมีการผลักดันมาถึง 10 ปี การเสนอ พ.ร.บ.คู่ชีวิตไปก่อนเพื่อแก้ไขปัญหาความเร่งด่วนที่เกิดขึ้น ส่วนปัญหาเรื่องอื่นๆ ก็ค่อยดำเนินการตามมา เช่นเดียวกับต่างประเทศ”
ณัฐนันทน์ อัศวเลิศศักดิ์
ส่วนอีกฉบับจากพรรคประชาธิปัตย์ อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เสนอร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต ชี้แจง ว่า ร่างฯ ฉบับนี้แม้จะมีชื่อเหมือนกับฉบับของ ครม.แต่มีหลักคิดแตกต่างกัน เพราะกระทรวงยุติธรรมมองว่า คู่สมรสต้องเป็นชายหญิงเท่านั้น การแต่งงานของเพศอื่นถูกมองเป็นเพียงคู่ชีวิต จึงถูกกลุ่ม (LGBTQIAN+) ต่อต้าน เพราะมองเป็นพลเมืองชั้นสอง แต่กฎหมายพรรคประชาธิปัตย์เปิดให้คนทุกเพศ ไม่ใช่เฉพาะเพศเดียวกัน เป็นทางเลือกทุกคู่ชีวิตทั้งเพศเดียวกัน และคู่รักต่างเพศ ประกบร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล และร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีว่า ไม่อยากให้เป็นสงคราม หรือเป็นเรื่องการทำตลาดบนโลกออนไลน์ระหว่างเรื่อง ‘สมรสเท่าเทียม’ กับเรื่อง ‘คู่ชีวิต’ ทั้งนี้ โดยส่วนตัวเห็นว่าสมรสเท่าเทียมกับคู่ชีวิตนั้นไปด้วยกันได้ และเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ แต่ต้องไม่ใช่ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตที่เสนอมาโดยกระทรวงยุติธรรม เพราะเป็นการจับแพะชนแกะ ตนเองและพรรคประชาธิปัตย์จึงอยากเสนอร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตขึ้นมาอีกฉบับ แตกต่างจากร่างสมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกลและของกระทรวงยุติธรรม
ซึ่งคำนิยามคู่ชีวิตของพรรคประชาธิปัตย์ ให้นิยามคู่ชีวิต คือ บุคคล 2 คน ไม่ว่าจะเพศเดียวกันหรือต่างเพศ จดทะเบียนคู่ชีวิตได้ จึงอยากให้ใช้ร่างพรรคประชาธิปัตย์เป็นร่างหลัก เพราะมีมิติพัฒนาความสัมพันธ์ พัฒนาครอบครัว นำไปสู่การสมรสเท่าเทียมอย่างจริงจังและจริงใจ จึงเสนอให้ใช้ร่างกฎหมายที่การมองคนเท่ากัน ให้โอกาสทุกคน ทุกเพศ เลือกระดับความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับชีวิตตัวเองได้ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นความหวังของทุกคู่ชีวิต กฎหมายที่ดีคือกฎหมายที่หมุนทันโลก แต่ถ้ากระทบกฎหมายอื่นหลายฉบับ ต้องศึกษาให้รอบคอบ หลักประชาธิปไตยที่แท้จริงคือการฟังความเห็น ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
พร้อมย้ำว่า ประเทศไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางศาสนา เช่น พุทธ คริสต์ อิสลาม ตัวอย่าง ศาสนาพุทธ การประกอบพิธีทางศาสนาในงานมงคลสมรส เป็นการประกอบเพื่อความสิริมงคลไม่ใช่ภาคบังคับ ต่างกับคริสต์หรืออิสลามที่การประกอบพิธีทางศาสนา คือหัวใจสำคัญที่สุดของการสมรส
“หากวันนี้ต้องการที่จะแก้กฎหมายสมรสให้เป็นของคนทุกเพศ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการบังคับผู้นำศาสนา ให้ต้องประกอบพิธีสมรสให้กับคนทุกเพศ ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าเสียงของผู้นำศาสนาอื่นๆ จะถูกรับฟังด้วยหรือไม่”
อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ
ภายหลังสภาฯ มีมติรับหลักการ ทั้ง 2 ฉบับ
- ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เสนอโดย ครม. สภาฯ มีมติรับหลักการ ด้วยคะแนนรับหลักการ 229 เสียง ไม่รับหลักการ 166 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสีย
- ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ สภาฯ มีมติรับหลักการ 251 เสียง ไม่รับหลักการ 123 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง
ก้าวต่อไปของ ร่าง พ.ร.บ. ในการสนับสนุนการสร้างครอบครัวเพศหลากหลาย ทั้ง 4 ฉบับ จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 25 คน เพื่อร่วมกันพิจารณาร่างกฎหมายในรายละเอียดทั้งหมด ก่อนจะนำเสนอกลับเข้าไปพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร วาระ 2-3 ต่อไป อย่างไรก็ตามปรากฎการณ์โหวตสวนมติพรรคจากฟากฝั่งรัฐบาล
นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สะท้อนว่า อาจนับเป็นอีกความก้าวหน้า และศักด์ศรี ของ ส.ส. ที่ต่างก็ยึดประโยชน์ประชาชน เช่นเดียวกับร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าที่เพิ่งผ่านมติมาก่อนหน้านี้ แต่อีกนัยหนึ่งอาจเป็นความพยายามรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลที่กำลังจะหมดวาระ และต้องจับตาเมื่อ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังเป็นร่างฯ หลัก ทำให้ภาคประชาชนต้องทำงานหนักมากขึ้น ให้สังคมเห็นว่าร่างฯ ของรัฐบาลไม่มีน้ำหนักอย่างไร