‘ชาวเล’ ปักหลักทำเนียบ รอ นายกฯ ตั้ง คกก.ขับเคลื่อนนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิต

เรียกร้องเร่งแก้ไขข้อพิพาทที่ดิน โดนฟ้องร้องขับไล่ออกจากพื้นที่ดั้งเดิม พร้อมขอให้เร่งออกกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

วันนี้ (4 ต.ค. 67) ตัวแทนเครือข่ายชาวเลอันดามัน (มอแกน, มอแกลน, อูรักลาโว้ย) ยื่นหนังสือถึง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอให้เดินหน้ามติ ครม. 2 มิถุนายน 2553 แนวนโยบายในหารฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และเร่งให้มีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

โดยมีสาระสำคัญระบุว่า กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยในพื้นที่ทะเลอันดามันมาตั้งแต่ก่อน ปี 1178 มี 3 เผ่า คือ ชนเผ่ามอแกนที่ดําน้ำนาน อยู่ตามเกาะที่เพิ่งพัฒนา ชนเผ่ามอแกลนที่ชํานาญดูปลาผิวน้ำ อาศัย ชายฝั่ง และชนเผ่าอูรักลาโว้ยที่ดําน้ำได้ลึก อาศัยตามเกาะห่างไกล โดยหาอยู่หากินแบบพอเพียง ไม่ยึด ครอบครอง เคารพและมีความเชื่อต่อธรรมชาติ จํานวน 1,4367  คน 46 ชุมชน กระจายใน 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่ และสตูล

ตามที่มีมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 มีแนวทางนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ที่มี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนําไปดําเนินการ ในการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย การผ่อนปรนการใช้เครื่องมือ ดั้งเดิมของชาวเล 17 ชนิด การเข้าถึงระบบสุขภาพ สิทธิการเข้าถึงบริการของรัฐ การแก้ปัญหาสิทธิสถานะ บุคคล การศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวเล ภาษา วัฒนธรรม ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ การประกาศเขต คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล พบว่านโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ที่ส่งผลต่อการ ประกาศเขตอนุรักษ์ทั้งทางทะเลและในเขตป่าที่ทําให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ถึงแม้ทุกฝ่ายจะมีความ พยายามในการร่วมแก้ไขปัญหา ยังมีปัญหาอุปสรรค

ทั้งปัญหาความไม่มั่นคงในที่ทํากินอยู่อาศัยทั้ง ๆ ที่อยู่อาศัยมายาวนาน ซึ่งมีจํานวนไม่ต่ํา กว่า 27 ชุมชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน ทั้งในที่ดินรัฐและที่ดินเอกชนอ้างสิทธิ์ มีข้อพิพาท 7 แห่ง มากกว่า 1,228 หลังคาเรือน ทําให้ไม่สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต

ปัญหาสุสาน 25 สุสานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมถูกรุกราน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่พื้นที่ชายหาดริมทะเล จากการสํารวจ พบว่ากําลังมีปัญหาถึง 75 แห่ง

ปัญหา “ทะเลหมุนเวียน” ที่ทํากินในทะเล แต่เดิมชาวเล หากิน พักพิง จอดเรือ ใช้สอยทรัพยากรตามเกาะแก่งและหน้าหาด แต่ปัจจุบันมีการห้ามชาวเลไม่ให้ดํารงวิถีชีวิตด้วย กฎหมายอนุรักษ์ แต่กลับมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คาร์บอนด์เครดิต แลนด์บริดจ์ ส่งผลให้ ชาวเลถูกจํากัดสิทธิขับไล่ ฟ้องร้องดําเนินคดี ถูกยึดเรือและเครื่องมือหากินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ปัญหาสุขภาพ มาจากหลายประการ อาทิเช่น การเข้าไม่ถึงสิทธิ รักษาพยาบาล ความยากจน ความห่างไกลสถานที่ให้บริการทางสาธารณสุข และไร้สิทธิสถานะทางทะเบียน เป็นต้น

การศึกษาเด็กเยาวชนชาวเล ได้รับโอกาสในการศึกษาน้อยและหลักสูตรไม่ สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรม ประกอบกับปัญหาความยากจนทําให้ขาดทุนทรัพย์เพื่อใช้ในการศึกษา สูญเสียความภาคภูมิใจในภาษาและวัฒนธรรมเพราะขาดการส่งเสริมที่ดี การไร้ สิทธิและสถานะบุคคลมีชาวเลกว่า 600 คน ที่เป็นผู้ไร้สถานะทางทะเบียน

นอกจากนั้นชาวเลยังเผชิญกับ อคติชาติพันธุ์ของนโยบาย สังคม ทําให้การแก้ปัญหาต่าง ๆ เป็นไปอย่างล่าช้า รวมทั้งการเข้าไม่ถึง กระบวนการยุติธรรม เพราะความยากจน ขาดความรู้ และมีความกลัวต่อกระบวนการและขั้นตอนที่ซับซ้อน

เครือข่ายชาวเลอันดามัน จึงมีข้อเสนอดังนี้

  1. ให้นายกรัฐมนตรี ลงนามในคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายตาม มติ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และให้ประธานฯ กําหนดวันประชุมฟื้นฟูวิถีชีวิต วัฒนธรรมกลุ่ม ชาติพันธ์ชาวเล ให้เกิดรูปธรรมและเกิดแนวทางปฏิบัติต่อข้าราชการ ภายใน 3 วัน

  2. ให้นายกรัฐมนตรี มีคําสั่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่ชาวเลที่กําลังถูกคุกคาม ฟ้องร้อง ขับไล่ เช่น ชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ, ชุมชนชาวเลราไวย์, บาฆัดเกาะจํา, ชุมชนชาวเลทับปลา-ลําปี, ชุมชนชาวเลเกาะพีพี, ชุมชน ชาวเลเกาะพยาม กรณีเอกชนออกเอกสารสิทธิ์ทับนางลาภ หาญทะเล – ขุมเขียว ทับตะวัน, กรณีธนารักษ์ให้ ต่างชาติเช่าที่ดินทําโรงแรมทับซ้อนเขตคุ้มครองฯชาวเล หาดไม้ขาว รวมถึงกรณบัตรประชาชน, กรณีชาวเลที่ เจ็บป่วยทะยอยเสียชีวิตเข้าไม่ถึงมาตรฐานการรักษาพยาบาล, ชาวเลเปราะบาง ยากจนไม่ได้รับเงิน  10,000 บาท

  3. เร่งให้มีการออกกฎหมายกฎหมาย คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 70 และยุทธศาสตร์ชาติ  20 ปีที่เขียนให้มี พระราชบัญญัติคุ้มครองวิถีชีวิตส่งเสริมสิทธิ กลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง ภายใน ปี 2565 แต่ล่วงเวลามาแล้ว 2 ปี

โดยตัวแทนเครือข่ายชาวเลอันดามัน ระบุว่า หากนายกฯ ยังไม่ลงนามคำสั่งตามข้อเรียกร้อง จะยังคงปักหลักที่บริเวณประตู 1 ทำเนียบรัฐบาลต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active