‘สว.ธนกร’ ยอมรับ อวนตาถี่กระทบระบบนิเวศรุนแรง ขณะที่ ‘สว.นันทนา’ ลูกชาวประมง ย้ำใช้อวนมุ้งเท่ากับฆ่าทะเลไทย ยืนยันจะลุกขึ้นอภิปราย เสนอตั้งกรรมาธิการร่วม สส.-สว. ทบทวนแก้ไขร่างกฎหมาย ฝั่ง ‘ประมงพื้นบ้าน’ ยัน แม้มีกฎหมายลูกควบคุม ก็ไม่เอา
วันนี้ (8 ม.ค. 68) ที่รัฐสภา สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ทบทวนมาตรา 69 ในร่างแก้ไขกฎหมายประมงฉบับใหม่ หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎร มีมติผ่านมาตรา 69 ซึ่งอนุญาตให้ใช้ “อวนมุ้ง” ในการทำประมงเชิงอุตสาหกรรมในเวลากลางคืนได้
ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย บอกว่า แม้กฎหมายจะผ่านสภาผู้แทนราษฎรด้วยเสียงข้างมาก แต่มีผู้แทนราษฎรจำนวนมากที่งดออกเสียง สะท้อนความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้ปรับแก้ไขมาตรา 69 ซึ่งจากเดิมที่กำหนด “ห้ามใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตรทำการประมงในเวลากลางคืน” เปลี่ยนเป็น “อนุญาตให้ใช้อวนล้อมจับในเขตนอก 12 ไมล์ทะเลได้ โดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด”
“การอนุญาตให้ใช้ ไฟนรกล่อสังหารดูดสัตว์น้ำวัยอ่อนและขนาดเล็ก จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวประมงพื้นบ้าน ทำให้โอกาสในการมีรายได้เลี้ยงปากท้องยิ่งน้อยลง”
ปิยะ เทศแย้ม
แม้ฝ่ายสนับสนุนกฎหมายจะชี้แจงว่าจะมีการออกกฎหมายลูกมากำหนดเงื่อนไขการควบคุมการใช้อวนตามุ้ง แต่เครือข่ายประมงพื้นบ้านฯ ยังคงย้ำจุดยืน คัดค้าน พร้อมประกาศความพร้อมที่จะพบปะกับทุกฝ่าย ทั้งวุฒิสมาชิก องค์กรหน่วยงาน และพรรคการเมือง เพื่อให้ข้อมูลและขอการสนับสนุนในการทบทวนมาตรา 69 อย่างจริงจัง
โดยการยื่นหนังสือครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้วุฒิสภา พิจารณากลั่นกรองกฎหมายบนพื้นฐานของหลักวิชาการและความเป็นธรรม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและความสมดุลของธรรมชาติเป็นสำคัญ ท่ามกลางความกังวลว่าการอนุญาตให้ใช้อวนมุ้งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อทรัพยากรทางทะเลที่มีมูลค่านับแสนล้านบาทต่อปี เนื่องจากวิธีการนี้จะดักจับลูกปลาวัยอ่อนที่เป็นทรัพยากรสำคัญของระบบนิเวศ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจประมงของประเทศในระยะยาว อีกทั้งยังมีข้อกังวลว่า การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ไม่ได้ผ่านกระบวนการที่รอบด้านและขาดการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
เครือข่ายประมงพื้นบ้าน จึงมีข้อเรียกร้องต่อวุฒิสภา ดังนี้
- สนับสนุนให้มีการทบทวนร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 โดยเฉพาะมาตรา 69 เพื่อให้กลับไปใช้ข้อกำหนดเดิม
- สนับสนุนให้เพิ่มสัดส่วนบุคคลภายนอก เช่น ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และนักวิชาการ เข้าร่วมกระบวนการพิจารณา เพื่อให้ข้อมูลรอบด้าน
- ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน นักวิชาการ และองค์กรสาธารณะประโยชน์ในทุกขั้นตอน
ขณะที่ ธนกร ถาวรชินโชติ รองประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ และประธานอนุกรรมาธิการด้านการประมง เป็นตัวแทนวุฒิสภา รับหนังสือ พร้อมทั้งกล่าวว่า ได้รับหน้าที่ในการแก้ไขพระราชบัญญัติการประมง ตามมอบหมายจากคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะในประเด็นมาตรา 69 ซึ่งกำลังจะมีการปรับเปลี่ยนให้สามารถใช้อุปกรณ์ประมงในเวลากลางคืนและเปิดไฟได้ตามใบอนุญาต
ทั้งนี้ เครื่องมือประมงบางประเภทที่มีประสิทธิภาพสูง อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ หากไม่มีการควบคุมอย่างเหมาะสม ซึ่งตนในฐานะที่เคยประกอบอาชีพประมงมาก่อน เข้าใจถึงปัญหานี้ดีและจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วยความเป็นธรรม เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้คงอยู่ต่อไป
ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา บอกว่า การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และการปกป้องสิทธิของประมงพื้นบ้านเป็นเรื่องสำคัญ คณะกรรมาธิการฯ ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิของชุมชนประมงพื้นบ้าน ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องสมัชชาคนจนในปี 2540 โดยในการประชุมวุฒิสภา วันที่ 13 มกราคมนี้ จะมีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายร่วมแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะในประเด็นมาตรา 69 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรร่วมกันของสังคมไทยและสังคมโลก ที่อาจส่งผลต่อพันธสัญญาระหว่างประเทศ เช่น กรณี IUU Fishing (การทำประมงผิดกฎหมาย)
ขณะที่ นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา ยอมรับว่า ตนเองมีพ่อเป็นชาวประมง “หากคุณพ่อของดิฉันใช้อวนลักษณะนี้ในการจับปลา ป่านนี้เราคงไม่มีปลาเหลือกินแล้ว เพราะนี่มันเหมือนมุ้ง ไม่ใช่อวน อุปกรณ์มีขนาดเล็กมากจนสามารถดักจับไข่ปลาได้ หากยังปล่อยให้ใช้อุปกรณ์แบบนี้ ทรัพยากรทางทะเลสำหรับลูกหลานของเราจะเหลืออะไร ? นี่คือปัญหาใหญ่ที่ต้องพูดคุยและพิจารณาในร่างกฎหมายนี้ โดยเฉพาะในส่วนของเครื่องมือจับปลา”
นันทนา ยังบอกว่า ปลาที่เหลืออยู่ถูกจับไปหมดด้วยอวนหรือมุ้งลักษณะนี้ ประมงพื้นบ้านที่ไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอในการออกไปจับปลานอกทะเลลึกจะยิ่งได้รับผลกระทบหนัก และในระยะยาว แหล่งอาหารของประเทศก็จะหมดสิ้น จึงต้องคำนึงถึงอนาคตของลูกหลานและแหล่งทรัพยากรของเรา
“ประเทศไทยไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว แต่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก การใช้อุปกรณ์จับปลาแบบนี้อาจไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เราต้องคิดว่าโลกจะมองเราอย่างไร และเราจะอยู่ร่วมกับประชาคมโลกได้อย่างไร”
นันทนา นันทวโรภาส
นันทนา ยังย้ำว่า การพิจารณาร่างกฎหมายนี้ในชั้นของวุฒิสภาในวันที่ 13 มกราคมนี้ เป็นสิ่งสำคัญ โดยตั้งใจจะอภิปราย และเสนอตั้งกรรมาธิการร่วม สส.-สว. เพื่อพิจารณาเรื่องความเหมาะสมของอุปกรณ์จับปลา และนำไปสู่การหาแนวทางแก้ไขร่างกฎหมายนี้ต่อไป
กฎหมายใหม่ทำลายทะเลไทยรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์
รศ.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย เปิดเผยกับ The Active ว่า ร่างพระราชบัญญัติประมงฉบับใหม่ เป็นกฎหมายที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อทรัพยากรทะเลไทยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ นอกเหนือจากประเด็นมาตรา 69 แล้ว ยังมีประเด็นที่น่ากังวลอีกหลายจุด โดยเฉพาะการลดแนวเขตทะเลชายฝั่งจากระยะ 1.5 ไมล์ทะเล ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการอนุรักษ์ตัวอ่อนสัตว์น้ำ นอกจากนี้ ยังมีการเปิดให้ทำการประมงที่อาจส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลได้อย่างเสรี ซึ่งอาจนำไปสู่การถูกแบนสินค้าประมงจากสหรัฐอเมริกา
“การดัดแปลงเครื่องมือประมงตามกฎหมายฉบับนี้สามารถทำได้อย่างเสรี ไม่มีการควบคุม ซึ่งเป็นประเด็นที่น่ากังวลมากกว่ามาตรา 69 เสียอีก”
รศ.ธนพร ศรียากูล
รศ.ธนพร เน้นย้ำว่า แม้ปัจจุบันจะมีระบบข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ครบถ้วนในการควบคุมการทำประมง รวมถึงระบบบันทึกการจับปลา (Log Book) ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งตรวจสอบได้เลยว่าใครจับปลาไปเท่าไร แต่กฎหมายฉบับนี้กลับเป็นการถอยหลังในด้านการอนุรักษ์ โดยหากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ภายใน 10 ปี คนไทยอาจต้องพึ่งพาการนำเข้าปลาจากต่างประเทศเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นปลาแซลมอนหรือปลาหิมะ เพราะทรัพยากรในท้องทะเลไทยจะหมดไป
ลุ้น สว. โหวตคว่ำ ร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่
รศ.ธนพร ยังเปิดเผยถึงทิศทางการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประมงฉบับใหม่ในชั้นวุฒิสภา ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา หลังจากที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรทางทะเล
“จากการพูดคุยกับสมาชิกวุฒิสภาหลายท่าน พบว่าหลายคนมีความเห็นตรงกันและเข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น”
รศ.ธนพร ศรียากูล
รศ.ธนพร ยังเรียกร้องให้การพิจารณาในชั้นวุฒิสภาเป็นไปอย่างเปิดเผย เพื่อให้สังคมได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
“ถ้าสังคมไทยจะเห็นชอบกับกฎหมายฉบับนี้ เราก็ต้องยอมรับว่าต่อไปเราอาจไม่มีปลาในท้องทะเลไทยให้บริโภคอีก และต้องพึ่งพาการนำเข้าปลาจากต่างประเทศเท่านั้น”
รศ.ธนพร ศรียากูล
หากร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา จะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อหาข้อยุติ ก่อนที่จะนำกลับไปให้ทั้งสองสภาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นความหวังสุดท้ายในการปกป้องทรัพยากรทางทะเลของประเทศไทย