สำรวจ 9 ร้านหนังสือย่านพระนคร ปลุกกรุงเทพฯ เมืองหนังสือ ‘ภาค ปชช.’ ชวนคนรักการอ่านให้กำลังใจร้านหนังสือในตำนาน ‘กทม.’ จัดกิจกรรมนั่งรถไฟไปห้องสมุด พัฒนาคลังความรู้ที่ทุกคนเข้าถึงได้
เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2565 เพจ JUST READ ภาคประชาชนที่รณรงค์เรื่องของการอ่านหนังสือ จัดกิจกรรม “คลับ เที่ยวอ่าน” ชวนผู้ที่รักการอ่านหนังสือ เดินสำรวจ 9 ร้านหนังสือในความทรงจำย่านพระนคร ขณะเดียวกัน ก็กำลังถูกท้าทายจากหลายปัจจัย อาจหลงเหลือไว้เพียงตำนานหากไม่ได้รับการสนับสนุน
ร้าน “รวมสาส์น” คือร้านหนังสือที่เกิดขึ้นในช่วงยุคทองของวังบูรพา ผ่านมากว่า 60 ปี ที่ร้านต้องหยุดตีพิมพ์หนังสือเนื่องจากต้นทุนที่มีราคาสูง เหลือเพียงจัดจำหน่ายหนังสือที่อัดแน่นไปด้วยความรู้ โดยเฉพาะพจนานุกรมหลากหลายภาษา เช่น จีน-ไทย ที่ได้รับลิขสิทธ์จาก เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ แต่เพียงผู้เดียว และยังมีนวนิยายไทยในยุคโบราณ แต่ทุกวันนี้คนอ่านที่แวะเวียนเข้ามาหน้าร้านลดลงมาหลายปีแล้ว
“สมัยหนุ่ม ๆ เคยเข้าไปบอกกระทรวงฯ ขอให้สนับสนุนการอ่านหน่อยนะ แต่ก็เงียบไป ขอให้ลดภาษีกระดาษก็เงียบไป ก็เลยช่วยตัวเองมาโดยตลอด ถ้าเป็นสำนักพิมพ์ในต่างประเทศมีข่าวจะปิดตัว ทุกคนต้องแห่ไปซื้อเพื่อให้ร้านจะยังไม่ปิด แต่ตอนบ้านเรา “สกุลไทย” ปิดรัฐบาลเฉย ๆ ทั้งที่เป็นหนังสือทรงคุณค่ามาก ๆ”
ปิติ ทวีวัฒนสาร
นอกจากนี้ยังมีร้านบูรพาสาส์น ร้านหนังสือเก่าแก่ที่ปรับตัวเพิ่มในส่วนของร้านกาแฟ, ร้านโอเดียนสโตร์, ร้าน WorldAtTheCorner ในบ้านไม้เก่าแต่ปรับปรุงให้เป็นร้านหนังสือจากทั่วโลกที่มีแรงบันดาลใจจากการเดินทาง , ร้านเปียบุ๊ค ที่อัดแน่นไปด้วยนิตยสาร, ร้านริมขอบฟ้า หนังสือแนวประวัติศาสตร์ บนโค้งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, ร้านหนังสือเดินทางที่กำลังต้องออกเดินทางอีกครั้ง หลังถูกเวนคืนดินสร้างเป็นสถานีรถไฟฟ้า ปิดท้ายกิจกรรมล้อมวงคุยบอกเล่าเรื่องราวร้านหนังสือ กับ “น้าหนอม จอมอ่าน” (ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล) ภายในร้านสวนเงินมีมา และร้านศึกษิตสยาม
สหัสวรรษ ธนสุขสวัสดิ์ เจ้าของเพจ JUST READ กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ต้องการพาทุกคนมาร่วมเปิดประสบการณ์ และความหลากหลายของย่านหนังสือฝั่งพระนคร ที่สำคัญเป็นร้านอิสระที่บางคนอาจจะเคยได้ยินชื่อ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของร้านหนังสือในประเทศไทย ว่ามีความเป็นมาอย่างไร และตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันก็อาจทำให้คนที่รักการอ่านหนังสือเกิดแรงบันดาลใจ ในการที่จะสนับสนุนร้านหนังสือในวิธีของตัวเอง
“เห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเยอะกว่าแต่ก่อนโดยเฉพาะหลังโควิด มีกิจกรรมเกี่ยวกับห้องสมุด หรือร้านหนังสือมากขึ้น มีในส่วนของภาครัฐที่เริ่มสนใจมากขึ้น เรารู้สึกว่ามันเป็นการกระเตื้องของวงการหนังสือระดับหนึ่ง อาจจะไม่ได้ใหญ่มากแค่ในระดับ กทม. แต่มันทำให้เราเห็นว่าทุกคนสนใจ และอยากจะช่วยวงการหนังสือจริง ๆ แต่แค่ไม่รู้จะทำยังไง”
สหัสวรรษ ธนสุขสวัสดิ์
ด้านกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับ OKMD, TK Park อุทยานการเรียนรู้ และ Matichon Book – สำนักพิมพ์มติชน ร่วมจัดกิจกรรม Library Alive : ห้องสมุดมีชีวิต จะจัดขึ้นตั้งแต่ ก.ย. 65 – ม.ค. 66 เปิดพื้นที่สาธารณะของห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้กรุงเทพมหานคร 34 แห่ง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนทุกเพศทุกวัย และพัฒนารูปแบบการให้บริการและกิจกรรม ใน 3 ระดับ คือ การสร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคลากรห้องสมุดผ่านการออกแบบกิจกรรมที่น่าสนใจ การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้บุคลากรของกรุงเทพมหานคร และระดับนโยบาย จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย
สำหรับกิจกรรมแรกคือการ “นั่งรถไฟไปห้องสมุด” กรุงเทพฯ วันที่ 4 ก.ย. 65 ตั้งแต่เวลา 07.00 – 16.00 น. เริ่มต้นที่ห้องสมุดการเรียนรู้วัดราชโอรสาราม พร้อมทัศนศึกษาศึกษาศิลปะและประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อเนื่องไปที่ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้บางบอน ร่วมกิจกรรมซ่อมหนังสือแสนรัก ผ่านวิทยากรธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล แฟนพันธุ์แท้วัดไทย และศักดิ์ศรี บุญยรักษ์โยธินนักจัดการความรู้อาวุโส TK Park