เปิดพื้นที่สวนกลางกรุงสำหรับผู้รักการอ่าน เชื่อมโลกแห่งความคิดใกล้บ้าน ปั้นนักอ่านหน้าใหม่สู่วัฒนธรรมคนกรุงฯ
“ห้องสมุดที่สวยที่สุดไม่ใช่ห้องสมุดที่อยู่กลางเมือง แต่เป็นห้องสมุดที่อยู่ใกล้บ้าน…” คือ คำพูดของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวขณะร่วมกิจกรรม “หนังสือในสวน” ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับกลุ่มคนรักหนังสือจากเพจ Just Read จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2565 ที่สวนลุมพินี เป็นการเปิดพื้นที่สวนสาธารณะให้นักอ่านทั้งหลายได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่คนรักหนังสือ เสริมสร้างสังคมนักอ่าน และส่งเสริมการรักการอ่านให้ขยายไปในวงที่กว้างขึ้น โดยมี ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรมด้วย
“เด็กสามารถใช้เวลาตอนเย็นมาดูหนังสือ มีคนช่วยสอนอ่าน เสาร์-อาทิตย์ ไม่ต้องเดินทางเข้ามาในเมือง ห้องสมุดต้องกระจายไปทั่ว อยากอ่านหนังสืออะไรต้องมีให้อ่าน อนาคตอาจเป็นออนไลน์หมดได้ไหม เป็นการยืมหนังสือออนไลน์ อยู่บ้านล็อกอิน โหลด E-Book มาอ่าน 7 วันหมดอายุ คนอื่นใช้ต่อได้ ห้องสมุดต้องไม่ใช่ไว้เก็บสมุดต้องตอบโจทย์คน มีชีวิตเปลี่ยนไปตามสภาพ”
เล่าเรื่องวัยเด็ก ‘ชัชชาติ’ อ่านหมดทุกแนว
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตอนเด็ก ๆ ก็อ่านหนังสือ พล นิกร กิมหงวน ต่วยตูน สตรีสาร สกุลไทย ดิฉัน แพรว อ่านหมด พอรักการอ่านก็ง่ายขึ้น ตอนหลังอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับชีวิต อ่านแล้วตอบโจทย์ชีวิตมากขึ้น แต่ละคนมีหนังสือที่ชอบไม่เหมือนกัน อ่านที่ตัวเองรู้สึกว่าสนุกและมีประโยชน์กับชีวิต บางคนอ่านนิยาย กำลังภายใน ธุรกิจหลาย ๆ เรื่องในชีวิตมาจากการอ่านหนังสือ เป็นการเพิ่มความรู้ มุมมองต่าง ๆ ในสิ่งที่หลากหลายขึ้น เป็นการพัฒนาตัวเองที่รวดเร็ว เป็นทางลัด คนอ่านหนังสือเยอะ ๆ ความคิดจะหลากหลายขึ้น สร้างสิ่งดี ๆ ให้เมืองได้มากขึ้น กทม. มีห้องสมุด 34 แห่ง บ้านหนังสือ 142 แห่ง แต่ไม่พอต้องขยายให้มีคุณภาพมากขึ้น มีหนังสือหลากหลายมากขึ้นเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
‘ศานนท์’ เล็งต่อยอดห้องสมุดเดิม เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก
ศานนท์ กล่าวว่า กทม. มีห้องสมุด 34 แห่ง ซึ่งมีห้องสมุดดี ๆ เยอะมาก อย่างห้องสมุดที่สวนลุมพินีที่มีความสวยงามจึงอยากให้มีที่แบบนี้ให้คนมาใช้กันมากขึ้น ตอนนี้มีการนำร่องปรับบ้านหนังสือ 15 ที่ให้ดีขึ้น มี Wi-Fi มี E-Book เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการ ‘สร้างเมืองให้มีชีวิต’ จึงต้องจัดกิจกรรมให้คนออกมาใช้ชีวิต หนังสือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีฐานแฟนคลับจำนวนมาก
“จัดงานแล้วมีคนมาก่อนเวลา ถือว่าประสบความสำเร็จ ทดลองก่อน ถ้าสำเร็จก็ต่อยอด วิธีการทำงานเปลี่ยนไป บางทีไอเดียมาก่อนก็เริ่มได้เลย ทุกวันนี้การเรียนรู้มีหลายแบบ แต่การอ่านมีเสน่ห์ การอ่านทำให้มีสมาธิ การอ่านมีความเฉพาะ อาจไม่ใช่กิจกรรมแต่เป็นวัฒนธรรม สร้างการเรียนรู้ เวลาอ่านหนังสือเล่มเดิมแต่เวลาต่างกัน ความรู้สึกก็จะต่างกัน”
ศานนท์ เล่าว่า กทม. ให้ความสำคัญมาตั้งแต่ยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เป็นเมืองหนังสือโลก กทม. มีทรัพยากรอยู่แล้ว หน้าที่คือทำอย่างไรให้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น จริง ๆ มีหลาย ๆ ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ ไม่อยากจัดงานหนังสือในฮอลล์แล้ว อยากให้เป็นย่านหนังสือจริง ๆ มีร้านหนังสืออิสระมากขึ้น มีคนไปงานหนังสือได้ต่อเนื่องทั้งปี คิดว่าน่าจะต่อยอดได้
“หนังสือในสวน” ออกแบบให้หลากหลายทั้งช่วงวัย และกิจกรรม
สำหรับกิจกรรม “หนังสือในสวน” แบ่งเป็น 3 โซนหลัก ๆ ที่ออกแบบให้เข้ากับผู้ร่วมงานหลากหลายประเภท หลากหลายอายุวัย ดังนี้
Zone A : Book Clubs เป็นโซนที่ล้อมวงนั่งพูดคุยกันในประเด็นต่าง ๆ ของหนังสือที่ตนเองชื่นชอบ ไลฟ์สไตล์การอ่านของตัวเอง หาเพื่อนที่สนใจเรื่องเดียวกัน พูดจาภาษาเดียวกัน ในบรรยากาศสบาย ๆ และจะมีล้อมวงสำหรับพ่อ-แม่ ที่จะมาแลกเปลี่ยนทริคสร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูก ๆ ด้วย
Zone B : Mini talk เวทีเสวนาบริเวณศาลาแปดเหลี่ยม พูดคุยใน 2 หัวข้อ ได้แก่ หัวข้อแรก “แลกเปลี่ยนเล่าประสบการณ์การอ่านและหนังสือในดวงใจ” พูดถึงหนังสือเล่มแรกที่พาเข้าวงการนักอ่าน และหนังสือที่จะแนะนำให้ตัวเองอ่านหากย้อนเวลากลับไปได้ หัวข้อที่สอง “เวทีประชาชนของคนชอบอ่าน” พูดคุยถึงการอ่านในเมืองกรุงเทพฯว่าเป็นอย่างไร และจะทำอย่างไรให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองนักอ่านได้
Zone C : นิทรรศการ ให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้แสดงความคิดเห็น แชร์ไอเดียพัฒนาห้องสมุด กทม. มาแนะนำหนังสือจากลิสต์ของตัวเอง และจัด Book Playlist ของตัวเอง รวมถึงการส่งต่อหนังสือที่มีประโยชน์ต่าง ๆ