คิกออฟแคมเปญ “โอกาส Delivery” เนื่องในเทศกาลวันเด็ก ปี 2566 ส่งมอบของขวัญถุง ‘ปันยิ้มฯ’ ไปยังกลุ่มเด็กเปราะบางที่เข้าไม่ถึงการเรียนรู้ ผ่านขบวนคาราวาน “โอกาส Delivery” มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กสะท้อนสถานการณ์ปัญหาเด็กกลุ่มเปราะบางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
14 มกราคม 2566 ที่พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานครแห่งที่ 1 (จตุจักร) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายจังหวัดเสมอภาค 4 แห่ง ได้แก่ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง และปัตตานี ร่วมรณรงค์สร้างโอกาสและการฟื้นฟูการเรียนรู้ โดยนำถุง “ปันยิ้มให้น้อง” เพื่อการเรียนรู้ไปให้กับเด็ก ๆ ที่มีความต้องการพิเศษ (พิการ) และเด็กกลุ่มเปราะบาง โดยใช้กลไกจากภาคีเครือข่ายจังหวัดเสมอภาคในการดำเนินการร่วมกับ กสศ. เพื่อนำสิ่งของไปถึงน้อง ๆ เป็นของขวัญวันเด็กแห่งชาติ 2566 ภายใต้แนวคิด “โอกาส Delivery” เด็กทุกคนควรมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ที่เสมอภาค
รองศาสตราจารย์ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเปิดงานวันเด็กแห่งชาติปี 2566 ว่าทุกวันควรเป็นวันเด็กเพราะเขามีคุณค่าต่อเมือง มีความสำคัญมากในครอบครัวของเราทุกคน วันเด็กปีนี้ขอให้มีความสุข สร้างสรรค์ ดูแลซึ่งกันและกันเดินหน้าไปด้วยกัน ผู้ใหญ่ให้สัญญาว่าจะดูแลเมืองให้ดีที่สุด ส่งต่อเมืองที่มีคุณภาพ
ด้านไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การนำถุง ‘ปันยิ้มให้น้อง’ เข้าไปมอบให้กับเด็กกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงการเรียนรู้และเด็ก ๆ ที่ไม่สามารถเดินทางออกมาร่วมกิจกรรมวันเด็กได้นั้นจะทำผ่านขบวนคาราวาน “โอกาส Delivery” เพื่อรณรงค์และจุดประกายให้สังคมตื่นตัวกับปัญหาด้านการศึกษา พร้อมเชิญชวนสังคมให้ความสำคัญกับ ‘เด็กทุกคน’ ที่ควรมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ที่เสมอภาค และฟื้นฟูการศึกษาหลังวิกฤตโควิด-19
“ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ และเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะความยากจน คือหนึ่งในสถานการณ์ที่น่ากังวลของเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน”
กสศ. ระบุสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พบว่า นักเรียนยากจนที่สุด 15% แรกในระบบการศึกษาไทย จำนวนกว่า 1.3 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนเพียงเดือนละ 1,044 บาท หรือเฉลี่ยวันละ 34 บาทเท่านั้นขณะเดียวกันพบผลกระทบกับเด็กทั่วไปเรื่องพัฒนาการเรียนรู้และภาวะกล้ามเนื้อบกพร่องในเด็กปฐมวัยและเด็กประถมต้น ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบถึงสถานการณ์ทักษะแรงงานและปัญหาเศรษฐกิจของเด็กในอนาคต
ด้านทองพูล บัวศรี หรือครูจิ๋ว ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน โรงเรียนก่อสร้างเคลื่อนที่ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ซึ่งเป็นหนึ่งในมูลนิธิที่ได้รับมอบถุงปันยิ้มครั้งนี้ บอกว่า จะนำถุงปันยิ้มที่ได้มอบให้เด็กพิการซึ่งมีอยู่ในความดู 10 คน เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถไปร่วมกิจกรรมวันเด็กได้เพราะสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย อีกทั้งบางครอบครัวยังมีปัญหาทางด้านกฎหมายอีกด้วย โดยขณะนี้มีเด็กด้อยโอกาสที่อยู่ในความดูแลของทางมูลนิธิฯ ประมาณ 500 คน นอกจากนี้ครูจิ๋วยังพูดถึงสถานการณ์เด็กเปราะบางว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โควิด พ่อแม่ของเด็กยังไม่สามารถกลับเข้าสู่การจ้างงานได้ รวมถึงปัญหาเด็กเร่ร่อน
“การจัดระเบียบเด็กเร่ร่อนขอทานดูเหมือนจะดีขึ้น แต่จริง ๆ แล้วพวกเขาแค่ย้ายเวลาไม่ให้เจอกับเจ้าหน้าที่ เปลี่ยนมาขอทานช่วงเช้ามืด แนวโน้มไม่ลดลงเลยเท่าที่เราทำงานยังเจออยู่ตลอด และเราก็ทำงานได้ไม่เต็มทุกพื้นที่ ทำได้แค่ 30 พื้นที่เท่านั้น”