เปิดพื้นที่ สร้างองค์ความรู้ สนับสนุนคนรุ่นใหม่เป็นกำลังขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง ยกโมเดลเยอรมนี มี กม.กำหนดให้เด็ก ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง พร้อมมาตรการสร้างความสนใจ ด้าน กทม. เร่งหาทางแก้ไข เปิดพื้นที่ และ กลไกให้กับเยาวชน
วันนี้ (1 เม.ย. 66) โครงการริทัศน์ หรือ Rethink Urban Space โดยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย มูลนิธิการศึกษาเพื่อพลเมืองไทยมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงาน “การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมือง: การแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนไทย-ยุโรป” เพื่อส่งเสริมศักยภาพการพัฒนาเมือง บนพื้นฐานของแนวคิดการมีส่วนร่วม และสร้างวิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองให้กับเด็กและเยาวชน
ปกรณ์วิศว์ เวียงศรีพนาวัลย์ ตัวแทนกลุ่มริทัศน์ บางกอก กล่าวว่า ทีมของเขานำเสนอโพรเจกส์การพัฒนากรุงเทพฯ 4 เรื่อง คือ 1. พื้นที่ทางอาหาร โดยจัดกิจกรรมสำรวจวัฒนธรรมอาหารของย่านหัวลำโพง ที่สะท้อนประวัติความเป็นมาของย่าน ในช่วงที่หัวลำโพงยังเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการเชื่อมต่อการเดินทาง และชวนผู้คนมองโอกาสในการพัฒนาย่านในอนาคต แต่ข้อสังเกตพบว่าแม้จะมีทั้งประชาชนเอกชน แต่ยังไม่มีแนวหน้าในการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ที่ชัดเจน 2. เรื่องความปลอดภัยกับเด็กและชุมชน ตรอกสลักหินย่านหัวลำโพง โดยทำงานกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กในพื้นที่ เพื่อสำรวจว่าในพื้นที่มีความปลอดภัยต่อเด็กและเยาวชนแค่ไหน และความปลอดภัยในทัศนของเด็กและเยาวชนคืออะไร เช่น การพบว่าฮีโร่ของเด็ก ๆ อาจเป็นแค่เก้าอี้ตัวหนึ่งในสนามเด็กเล่น เพราะเป็นสิ่งที่ยังขาด ไม่เพียงพอ และเป็นความต้องการ 3.เรื่องการส่งต่อของ เพื่อส่งต่อสิ่งของสร้างประสบการณ์ในบริบทที่แตกต่างจากเดิม ทำให้เห็นคุณค่าของสิ่งของของตัวเองมากขึ้น และ 4. การเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชน ได้แสดงวิสัยทัศน์ทำงานร่วมกัน
”จากที่ได้ทำงานและพูดคุยกับเยาวชน พบว่าพวกเขาต้องการพื้นที่ที่สนับสนุนเยาวชน เพื่อให้ส่งเสียงของตัวเองสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ต้องการกระบวนการสื่อสารในกลุ่มเยาวชนที่สร้างความเข้าใจกันทำงานร่วมกันได้ ซึ่งต้องอาศัยความเชื่อใจ การมีโค้ชคอยให้คำปรึกษาแนะนำเด็กเยาวชนเพื่อเจอปัญหา และเรื่องของความหลากหลาย แต่ละคนมีบทบาทต่างกัน ต้องมีกลไกการจัดการที่เหมาะสม เช่น เด็กที่ไม่มีสังกัด เด็กที่อยู่ในสภาเยาวชนตามกฎหมาย โดยเราหวังว่าพลังของเยาวชนจะยังอยู่ต่อไป ไม่อยากให้จบแค่นี้ อยากให้มีความยั่งยืน ทำเป็นอาชีพได้จริง เรามองว่าเมืองจะทำจากเทพสร้างไม่ได้อย่างเดียว แต่ต้องทำแบบมีองคาพยพ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง”
ทัศวรรณ บรรจง ผู้อำนวยการมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย (Thai Civil Education Foundation) กล่าวว่า โพรเจกส์นี้เป็นโครงการที่อยากจะสนับสนุนเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง เพราะทุกวันนี้ในเมืองไทยหรือต่างประเทศ เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศน้อยมาก เราจึงอยากเป็นโมเดลเล็ก ๆ ที่จะชวนเยาวชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเมืองมาร่วมพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้เยาวชนมีโอกาสร่วมพัฒนาเมือง มีช่องทางที่โครงสร้างทางสังคมจะเปิดรับ และสนับสนุนทั้งงบประมาน การสนับสนุนด้านต่าง ๆ ให้กับเยาวชน
“เราจึงทำงานบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมให้เยาวชนนำเสนอโพรเจกส์ที่ตนเองสนใจ ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างไร พื้นที่ที่ต้องการเปลี่ยนมีความต้องการแบบไหน รับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ด้วย เมื่อสำรวจแล้วก็มาพิจารณาว่าจะทำอย่างไร ออกแบบการพัฒนาอย่างไร ระดมความคิดเห็นร่วมกัน และลงมือทำได้เลย เราสนับสนุนงบประมาณให้เยาวชนได้ลงมือทำ เพราะเชื่อว่าองค์ความรู้ต้องอาศัยประสบการณ์การลงมือทำ และสนับสนุนช่องทางการสื่อสารแนวคิดการพัฒนาเหล่านี้สู่สาธารณชน”
อันเดาอัน เคล็ดดิ้น ผู้จัดการโครงการในภูมิภาคอาเซียน สถาบันเกอเธ่ประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับเยาวชนไทยและเยาวชนยุโรป ได้มีการเชื่อมโยงบทสนทนาพูดคุยกัน ผ่านการทำงานกับหลายประเทศทำให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าสนใจมากมาย เช่น ธุรกิจเพื่อสังคม สภาเด็กและเยาวชน
“เราเริ่มต้นโครงการนี้ในช่วงโควิด-19 ต้องประชุมกันผ่านทางออนไลน์ โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เป็นพื้นที่ประสานงาน แม้จะไม่เหมือนกับการเจอกันต่อหน้า เป็นความท้าทายและนอกกรอบการประชุมในปกติ 2022 เรามีเยาวชนจาก 9 แห่ง เมืองที่เป็นพาร์ทเนอร์ในประเทศไทย และพาไปยุโรปในหลายพื้นที่ เพื่อที่จะศึกษาดูงานร่วมกัน และในปี 2023 เพื่อน ๆ จากยุโรปก็ได้มาเยี่ยมเยือนไทยเช่นกัน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เยาวชนทำงานกันอย่างทุ่มเทมาก ๆ ทำงานคู่ขนานไปกับการเรียนหนังสือ และภารกิจอย่างอื่น งานวันนี้เป็นกิจกรรมปิดท้าย แต่เปิดโอกาสในการเปลี่ยนแปลงเมือง พร้อม ๆ กับการระดมความคิดกันว่าเยาวชนทั้งสองทวีปจะทำอะไรต่อไป”
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึง ความสำคัญของการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาเมืองว่า การที่จะทำให้คนในเมืองรู้สึกเป็นเจ้าของเมืองด้วยก็คือการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม แต่ปัจจุบันเราขาดพื้นที่ที่จะแสดงออกให้กับเด็กและเยาวชน กลไกเรื่องของพื้นที่อาจจะเป็นปัจจัยที่เข้าถึงยาก เช่น การทำกิจกรรมในเมืองจะต้องมีกระบวนการในการดำเนินงานซับซ้อน อีกเรื่องคือเครื่องมือในการเปลี่ยนความสนใจเป็นการสร้างเมืองระยะยาว เช่น การทำธุรกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งทำให้เราสามารถทำงานมีอาชีพเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองได้ ปัญหาเหล่านี้ในฐานะกรุงเทพมหานคร จะต้องหาทางแก้ไข และทำให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสในการพัฒนาเมืองได้ เพราะเด็กและเยาวชนไม่ใช่แค่อนาคต แต่คือปัจจุบันด้วย
“ในอดีตสิบปีที่แล้วการหาเด็กและเยาวชนมาทำงานเพื่อสังคมหายากมาก แต่ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนเยอะมากที่สนใจการพัฒนาเมือง กทม. จึงได้จัดสภาเมืองคนรุ่นใหม่ เป็นพื้นที่ให้เด็ก ๆ นำเสนอนโยบายได้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมารับฟังเอง และร่วมดำเนินงานตามที่น้อง ๆ ให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบพื้นที่ สาธารณสุข และเรื่องสุขภาพ เรามีนโยบายที่อยากจะทำ City Lab ที่ กทม. อยากจะหนุนเสริม ช่วยให้มีพื้นที่ค่าเช่าราคาถูก งาน open innovation งานที่เปิดให้คนรุ่นใหม่เข้าไปมีส่วนร่วม และทำให้ไม่ใช่แค่อีเว้นท์แต่เป็นงานที่จัดอย่างต่อเนื่อง เช่น ทุกสามเดือน โดยใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยขับเคลื่อน หวังว่าอนาคตจะมีเด็ก ๆ เยาวชนอยู่ในบทบาทของการกำหนดนโยบาย อยู่บนเวทีของการแสดงวิสัยทัศน์ โดยย้ำว่า กทม. พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนต่อไป”
ศ.อังเกลา มิลเลียน หัวหน้าภาควิชาออกแบบเมืองและการพัฒนาเมือง มหาวิทยาลัยเทคนิคเบอร์ลิน กล่าวในประเด็น เยาวชนออกแบบและพัฒนาเมืองได้ ว่า เธอเคยได้ยินเด็กคนหนึ่งบอกว่าการพัฒนาเมืองไม่เซ็กซี่และเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ ทำให้รู้สึกแปลกใจ เพราะปัจจุบันเยาวชนออกมาเป็นพลังในการขับเคลื่อนเมืองจำนวนมาก ทำให้เราได้ทราบว่า ปัจจัยที่จะทำให้เยาวชนเข้าใจเรื่องการพัฒนาเมือง คือต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากประเด็นที่เยาวชนสนใจ ส่งผลต่อชีวิตของพวกเขา มีความหมายและใช้ภาษาสื่อสารที่เขาเข้าใจ
อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมของเยาวชนมีพื้นฐานทางกฏหมาย ข้อตกลงสากลหลักพื้นฐาน และกฎหมายในประเทศอ้างอิงได้ เช่น ที่เยอรมันระบุในกฎหมายว่าเด็กและเยาวชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง แต่การที่จะทำให้เด็กมีความสนใจและมีส่วนร่วมในระยะยาวจะต้องมีกระบวนการอื่น ๆ ด้วย คือต้องทำโครงการที่ให้เขาเห็นกระบวนการการมีส่วนร่วมและเห็นโอกาสในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง การส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน ซึ่งแตกต่างกันไปตามบริบทของเมือง และความแตกต่างหลากหลาย แบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ การมีส่วนร่วมที่รัฐเป็นผู้นำในการเปิดโอกาสให้กับเยาวชน การสร้างโครงการที่นำเสนอนโยบายจากภาคประชาชนเสนอสู่ระดับนโยบาย และมีทีมสนับสนุนผลักดันไอเดียของเยาวชนให้เกิดขึ้นได้จริง
“มีข้อเสนอเรื่องของกองทุนสนับสนุนเยาวชนสำหรับการทำโครงการต่าง ๆ ของ การมีสภาเยาวชนในการตัดสินใจใช้งบประมาณต่าง ๆ เกิดขึ้นแล้วที่เยอรมนี ทันทีที่เข้ามาทำงานจะต้องมีเรื่องของทรัพยากรเงินสนับสนุนตั้งแต่ช่วงนำร่องและหลังจากนั้น เช่น การทำวิสาหกิจเพื่อสังคม สมาคม หรือกลุ่มการทำงานเพื่อสร้างรายได้ และทุนในการขับเคลื่อนการทำงาน ที่สำคัญคือสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม ตั้งแต่เรื่องการประชาสัมพันธ์หากเมืองจะมีโครงการอะไรสักอย่าง ผู้บริหารตั้งแต่ระดับท้องถิ่นต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ และมีโครงสร้างในการสนับสนุน มีนโยบาย มีผู้รับผิดชอบเรื่องของเยาวชนอย่างชัดเจน เช่น ต้องรู้ได้ว่าถ้าเยาวชนมีไอเดียดีๆ จะติดต่อใครได้”
สำหรับการจัดกิจกรรม EU-THAI URBAN YOUTH FORUM “การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมือง : การแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนไทย-ยุโรป” ครั้งแรกในประเทศไทย จะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองโดยเยาวชน ระหว่างเยาวชน ผู้เชี่ยวชาญ และตัวแทนเทศบาล 18 คนจากสหภาพยุโรป ทั้งเยอรมนี ฟินแลนด์ เบลเยียม กรีซ โรมาเนีย และลิทัวเนีย กับเยาวขน ผู้เชี่ยวชาญ และตัวแทนชาวไทย จาก 5 เมืองใหญ่ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เชียงใหม่ ขอนแก่น กาญจนบุรี และหาดใหญ่
พร้อมพัฒนาแนวคิดนโยบายในการแก้ไขปัญหาและผลักดันความร่วมมือในการหาทางออกที่ยั่งยืนและเป็นนวัตกรรมใหม่ของเมืองในปัจจุบันและอนาคต และมีการจัดแสดงนิทรรศการ “นี่เทศกาล MY YOUTH IS …?” โดยเยาวชน ‘ริทัศน์’ ร่วมกับศิลปินรุ่นใหม่ JULI BAKER and SUMMER” ที่อยากชวนทุกคนมานิยามความเป็น Youth ในรูปแบบของตัวเอง เพราะความเยาว์ (ชน) ต่างอยู่ในตัวเราและทุกคน ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม ถึงวันที่ 2 เมษายน 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
ทั้งนี้ เยาวชนและผู้เชี่ยวชาญจากทั้งสองภูมิภาคจะได้เข้าร่วมในการอภิปรายและการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสำรวจแนวทางที่จะขยายบทบาทของเยาวชนในการสนับสนุนการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยภายในงานได้มีการออกแบบโรดแม็ปการรณรงค์ร่วมกัน เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเยาวชนได้เริ่มต้นการรณรงค์การตระหนักรู้ในเมืองของตน และจะแสดงที่การประชุมนายกเทศมนตรีอาเซียนในเดือนสิงหาคม 2023 ต่อไป