วงเสวนาการศึกษา-สุขภาพจิต แกะรหัสแฮชแท็ก ชวนสังคมมองความในใจของเด็กและเยาวชนที่มากกว่าความใจร้อน
26 ก.ค. 2566 – วงเสวนาการศึกษา-สุขภาพจิต ชี้ ความขัดแย้งระหว่างวัยแก้ไขได้ด้วยการสื่อสารอย่างเห็นอกเห็นใจ ชวนสังคมมองเบื้องหลังความเจ็บปวดของวัยรุ่น ภายใต้ Hashtag ดังและเดือดในโลกโซเชียล พร้อมเปิดตัว HOOK Learning พื้นที่เรียนรู้ออนไลน์เพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว หวังช่วยสร้างวิชาชีวิตให้เด็ก โตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
สุขภาวะทางจิตของเยาวชนที่เปราะบาง ในโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวัน
กิจกรรมช่วงแรกชื่อว่า HOOK talk: แนะแนวนอกห้องเรียน ได้เปิดประเด็นปัญหาด้านสุขภาพจิตและปัญหาการรับรู้ตัวตนในเยาวชน ผศ. นพ.พนม เกตุมาน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจําภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า 1 ใน 8 ของประชากรในโลกมีปัญหาสุขภาพจิตและส่วนใหญ่เป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในวัยเด็กและวัยรุ่น ตนย้ำว่าปัญหาโรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่สังคมกลับมองข้ามโดยง่าย หรือถูกมองว่าเป็นโรคทางจิตที่น่าหวาดกลัว (Stigmatize) ทำให้เยาวชนที่อยู่ในภาวะดังกล่าวไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
ผศ.นพ.พนม ระบุอีกว่า เมื่อ 20 – 30 ปีก่อน เชื่อว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 100 คน มีถึงมือจิตแพทย์ได้รับการรักษา 3 คน แล้วที่เหลือก็เป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง มีปัญหาเรื่องพฤติกรรม เสพติดยา หรือฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นวิกฤตหนึ่งที่สังคมจะพบได้ในโรคซึมเศร้า
“ผมคิดว่าพอเรารู้จักโรคซึมเศร้า บางทีเราอาจจะค้นหาได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นจิตแพทย์เราก็รู้ได้ และสามารถที่จะช่วยให้เขาดีขึ้นได้เบื้องต้น หรือช่วยให้เขาไปถึงมือผู้รักษาให้ได้ แน่นอนว่าเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ไปรักษา ก็เป็นโรคซึมเศร้าในวัยผู้ใหญ่ด้วย”
ผศ.นพ.พนม เกตุมาน
จิตแพทย์ให้ความเห็นว่า แม้ว่าหลายสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยได้มีการจัดวางระบบเสริมสร้าง – ป้องกัน – รักษาโรคซึมเศร้า แต่ยังมีอุปสรรคที่ทำให้คนไข้ไปไม่ถึงมือหมอ และสังคมจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ คือ 1) โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคจิต – โรคประสาท 2) โรคซึมเศร้ารักษาหายได้ และ 3) เมื่อหายดีแล้ว ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้ โดยกุญแจดอกแรกที่จะทำให้ข้อเท็จจริงเหล่านี้เกิดขึ้นได้ คือสังคมต้องรู้จักโรคซึมเศร้า ถ้าสังคมรู้จักหน้าตาของโรค เราจะรับรู้ได้เร็ว และพาคนไปรักษาได้เร็ว และการรักษาโรคนี้ไม่ใช่เรื่องผิดแผกหรือน่าอับอาย
เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ LUKKID เปิดเผยว่า โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้เยาวชนส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับตัวได้เท่าทัน และมักมีคำถามอยู่ในใจว่าท้ายที่สุดแล้วคุณค่าของตัวเองคืออะไร? ควรจะเลือกเดินบนเส้นทางชีวิตของตัวเองอย่างไรดี?
HOOK Learning: พื้นที่เรียนรู้ออนไลน์เพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว จึงได้เปิดห้องเรียนเพื่อการเรียนรู้ตัวเอง ผ่านหลักสูตรการออกแบบชีวิตวัยเรียนด้วย Design Thinking ที่จะเริ่มต้นจากการค้นหา เข้าใจตัวเอง (Heart) ตั้งคำถาม คิดนอกกรอบ (Head) และ ทดลอง เรียนรู้ (Hand) โดยการทดลองและเรียนรู้ จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้เร็วมากขึ้น ไม่จมอยู่กับความผิดหวัง ความล้มเหลว อันจะทำไปสู่สุขภาวะทางจิตที่ย่ำแย่ได้
#ชุดนักเรียน: การค้นหาตัวตนใต้เครื่องแบบที่กดทับ
#ชุดนักเรียน กลายมาเป็นประเด็นร้อนทุกครั้งหลังจากวันเปิดภาคเรียนในทุกปีการศึกษา เช่นเดียวกับปีนี้ที่มีกระแสการเรียนร้องให้แก้ไขระเบียบการแต่งกายและทรงผม หนุนด้วยแรงขับเคลื่อนของเยาวชนนักเคลื่อนไหวอย่าง ‘หยก’ ที่สร้างปรากฏการณ์ใส่ชุดไปรเวทปีนรั้วเข้าโรงเรียน เพื่อยืนยันสิทธิและหลักการขั้นพื้นฐานว่าการจะเรียนหนังสือไม่ได้อยู่ที่ชุดที่สวมใส่ และได้มีหลายทรรศนะต่อ Hashtag ดังกล่าวในวงเสวนา
ธนกฤต ขันธจิตต์ ตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ส่วนตัวเคยเรียนในโรงเรียนมีกฎระเบียบบังคับมาก่อน พอย้ายมาโรงเรียนนี้ที่ให้เสรีภาพในการแต่งกายและไว้ทรงผม จึงได้เข้าใจว่าทุกคนควรมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการแต่งกายอย่างไรก็ได้ เพื่อสะท้อนถึงอัตลักษณ์และตัวตนของตัวเอง และตนกับเพื่อนในโรงเรียนยังได้มีส่วนร่วมในการร่างข้อตกลงในการอยู่อาศัยร่วมกัน ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของทุกสังคม และผู้ที่ควรจะได้มีส่วนร่วมในการออกแบบข้อตกลงเรื่องชุดนักเรียนมากที่สุด ก็คือตัวนักเรียนเอง
“ก่อนที่จะมาเป็นประธานนักเรียน ได้ลองร่วมกับเพื่อน ๆ ในการรวบรวมความคิดเห็นแต่ละฝ่ายมาสร้างเป็นธรรมนูญนักเรียนที่จะบังคับใช้ในโรงเรียนด้วยกัน กล่าวง่าย ๆ มันคือกฎโรงเรียน แต่มันมาจากความเห็นแต่ละฝ่าย อยากให้มีกฎนี้มาเพราะอะไร จะมีเรื่องของระเบียบการแต่งกายด้วย ซึ่งตรงนี้มันเป็นสิ่งที่สามารถถกเถียงกันได้ในวงนักเรียน อาจจะมีมุมของนักเรียนเยอะหน่อย เพราะว่าเขาเป็นคนใช้กฎนี้ ผมว่ามันเป็นสิ่งสำคัญที่จะรับฟังเขา”
ธนกฤต ขันธจิตต์
ด้าน ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เห็นด้วยกับประเด็นของการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ เพราะในสมัยที่ตนเคยเป็นนักเรียน แม้จะไม่เคยคิดแก้ไขกฎ แต่ก็มีความพยายามหาช่องโหว่ของกฎในการสร้างสรรค์ชุดนักเรียนตามระเบียบ ให้มีความเป็นตัวเองมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติมากในวัยที่กำลังค้นหาตัวเอง ตนจึงมองว่าการบังคับชุดนักเรียนเป็นเหมือนการบอกนักเรียนว่า ยังไม่ถึงเวลาของการแสดงตัวตนของตัวเอง และการใส่เครื่องแบบคือการคงอัตลักษณ์ร่วมกัน
ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อํานวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า ชี้ว่า ปัญหาของ #ชุดนักเรียน เป็นเรื่องที่สังคมต้องเถียงกันในทุกปีหลังจากเปิดภาคเรียน เพราะว่ายังไม่มีกระบวนการการรับฟังเกิดขึ้นอย่างแท้จริงเสียที ทั้งผู้ใหญ่ และเด็กต่างอยู่กันในจินตนาการของตัวเอง และมองถึงความสุดโต่งของการปลดล็อกเครื่องแบบ เช่น ผู้ใหญ่อาจจะคิดไปเองว่าเด็กจะย้อมผมหลากสีสันมาโรงเรียน ทั้งที่จริงแล้วหากได้ฟังเด็ก เด็กอาจจะแค่อยากใส่ชุดลำลองสบาย ๆ ไปเรียน
“สังคมเราเป็นสังคมใจร้อน แต่กระบวนการมีส่วนร่วมกระบวนการแลกเปลี่ยน กระบวนการรับฟัง มันใช้ทั้งเวลา มันใช้ความอดทนที่จะต้องฟังซึ่งกันและกัน พอเราเป็นสังคมใจร้อน สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร? …พอมีตัวอย่างนโยบายมาต้องให้มีกระบวนการรับฟัง สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นมันมักเป็นพิธีกรรมมากกว่ากระบวนการรับฟังจริง ๆ ตรงนี้สำคัญมาก ๆ สังคมต้องเรียนรู้ที่จะรับฟังซึ่งกันและกันและยอมรับว่ามันมีความแตกต่างไม่เหมือนกัน”
กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
#Save…: พลังของคนตัวเล็ก รวมตัวกันเพื่อรักษาและต่อต้านอำนาจนำ
#Save… คือ Hashtag ยอดนิยมที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์มักใช้เพื่อรวบรวมเสียง-แสดงความคิดเห็นเพื่อหวังปกป้องหรือคัดค้านการทำลายบางอย่างที่พวกเขาคิดว่ามีคุณค่าในสังคม เช่น #Saveศาลเจ้าแม่ทับทิม #Saveหยก #Saveบางกลอย เป็นต้น ทางณัฐยา เผยว่าปรากฏการณ์เหล่านี้มักแสดงถึงความขัดแย้งของ 2 คู่กรณี คือ กลุ่มเยาวชน/คนตัวเล็ก และกลุ่มอำนาจนำในสังคม เช่น รัฐบาล/กลุ่มทุน เป็นต้น โดย Hashtag นี้มีเป้าประสงค์เพื่อควบรวมเสียงเล็ก ๆ ของคนตัวเล็ก ๆ เพื่อสื่อสารไปยังผู้มีอำนาจให้พิจารณาการกระทำเสียใหม่ อย่างกรณี #Saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ก็จะมองเห็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ออกมาต่อต้านการรื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิมในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหวังอนุรักษ์วัฒนธรรมที่ไม่สามารถสร้างทดแทนใหม่ได้ ซึ่งพวกเขามองว่ามีคุณค่ามากกว่าเม็ดเงิน
“การที่มัน (โซเชียลมีเดีย) มีฟังก์ชันแฮชแท็ก มันทำให้คนตัวเล็กรวมพลังกันได้ เรื่องนี้โดนใจวัยรุ่นมากเลย ถ้าพูดในแง่ของอำนาจที่มาตามอายุ ยิ่งอายุน้อยเท่าไหร่ อำนาจยิ่งน้อย เพราะต้องพึ่งพาคนอื่น …ยิ่งถ้าเทียบกับกลไกรัฐหน่วยงานหรือว่าบริษัทข้ามชาติใหญ่ ๆ เราไม่รู้จะเอาอะไรไปต่อกร เพราะฉะนั้นการที่วัยรุ่นมีแฮชแท็ก #Save… มันทำให้วัยรุ่นได้แสดงความเป็นหนึ่งเดียวกัน ฉันไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกและเราจะสู้กับเรื่องนี้ด้วยกัน”
ณัฐยา บุญภักดี
ด้าน ผศ.นพ.พนม มีความเห็นไปในทางเดียวกันกับณัฐยา มองว่าคนรุ่นใหม่และเยาวชนเหล่านี้ต้องการแสดงความคิดเห็น ซึ่งอาจไปขัดแย้งกับกลุ่มผู้มีอำนาจ ปัญหาคือ สังคมไทยยังไม่มีพื้นที่ที่จะให้เยาวชนและคนตัวเล็กเหล่านี้สามารถแสดงความเห็นของตัวเองได้อย่างเสรีและปลอดภัย ควรเริ่มต้นตั้งแต่พื้นที่ในโรงเรียนและในสถาบันที่เล็กสุดอย่างครอบครัว การเปิดใจพูดคุย และรับฟังกันจะช่วยให้ความตึงเครียดทุเลา และอาจนำไปสู่ทางออกร่วมกันได้
เมษ์ ระบุว่า เป็นเรื่องปกติในสังคมอย่างมากที่จะมีความคิดเห็นที่ต่างและขัดแย้งกัน และโลกออนไลน์ให้ได้ให้ความปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี อาจจะด้วยความไม่แสดงออกถึงตัวตน (anonymity) ทำให้วัยรุ่นกล้าที่จะพูดในโซเชียลมีเดียมากกว่าโลกความเป็นจริง หากจะมองถึงทางออกในมุมมองของครู และ ผู้ปกครอง การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน สนับสนุนการถกเถียงในห้องเรียนทุกวิชาเรียน และช่วยกันตั้งคำถามถึงปัญหาเหล่านั้น ทำอย่างสม่ำเสมอและสังคมจะมองเห็น ‘การไม่เห็นด้วย’ เป็นเรื่องปกติ
“การที่มันมีแฮชแท็กเหล่านี้ขึ้นมามันก็เป็นธรรมชาติของสังคมที่มีคนเห็นต่าง ซึ่งเมษ์รู้สึกว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เราไม่จำเป็นต้องมีคนเห็นด้วยตรงกันทุกอย่าง แล้วพื้นที่ออนไลน์ก็อาจจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย …สุดท้ายแล้วการที่เรามีความคิดเห็นอย่างหนึ่ง แล้วอีกคนคิดจะ Save บางอย่าง มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราอยู่ร่วมโลกเดียวกันไม่ได้”
เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล
#เด็กสมัยนี้ #ผู้ใหญ่สมัยนี้: เพราะผู้ใหญ่ทุกคนเคยเป็นเด็กมาก่อน สังคมจึงต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจเด็ก
ด้วย Hashtag #เด็กสมัยนี้ #ผู้ใหญ่สมัยนี้ กลายเป็นสัญญาณของช่องว่างระหว่างวัยที่ไม่ลงรอยกันในสังคม ธนกฤต ระบุว่า เด็กสมัยนี้ต้องเข้มแข็งพอสมควรถึงจะมีชีวิตอยู่รอดได้ ทั้งภัยจากโลกไซเบอร์ และภัยจากโลกความเป็นจริง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เยาวชนเติบโตมาได้ยากกว่าสมัยก่อนด้วยซ้ำ รวมถึงความอยุติธรรมบางอย่างในชีวิตที่กลืนกืนความเป็นเด็กไป เขาเชื่อว่าเยาวชนเหล่านี้ก็อยากเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่พวกเขาอยากเป็น หวังให้ผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชน เพื่อที่พวกเขาจะได้โตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า
ผศ.นพ.พนม มองว่า Hashtag ดังกล่าวสะท้อนถึงความตึงเครียด โกรธ และผิดหวังของผู้ใหญ่ ถึงภาพของเด็กสมัยนี้ไม่ตรงกับภาพที่คาดหวังไว้ อย่างไรก็ตามตนมองว่าผู้ใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีการรับฟังเยาวชนมากยิ่งขึ้น นั่นเป็นเพราะทั้งเยาวชนมีวิธีการสื่อสารเชิงบวกมากยิ่งขึ้น และนี่อาจเป็นวิธีที่คนรุ่นใหม่เริ่มมองเห็นแนวทางการจัดการสื่อสารต่อผู้ใหญ่ ดังนั้น การสื่อสารทางบวกเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้คนทั้งสองวัยยืนอยู่บนจุดร่วมเดียวกันได้ และทางผู้ใหญ่เองต้องใช้แนวทางสันติวิธีต่อเด็กมากขึ้น การสื่อสารนี้จึงจะสำเร็จทั้งสองฝ่าย
ท้ายที่สุด ครูจุ๊ย มองว่า ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ซึ่งกันนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก่อนที่สังคมจะไปถึงจุดนั้นได้ สังคมจะต้องมีความสงสัยใคร่รู้เสียก่อน (Curiousity) กล่าวคือ ความรู้สึกที่อยากจะเห็นอกเห็นใจอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องเริ่มต้นจากการตั้งคำถามตัวเองก่อนว่าทำไมตนถึงมีความรู้สึก/ความคิดเช่นนี้ จากนั้นจึงตั้งคำถามกับคนรอบข้าง สิ่งสำคัญคือต้องใช้จินตนาการในการลองนึกภาพความทุกข์ของผู้อื่น เพราะหากขาดจินตนาการแล้ว เราจะนึกภาพความรู้สึกที่คนอื่นต้องเผชิญได้ยาก เมื่อเยาวชนมีความสงสัยใคร่รู้ มีจินตนาการแล้ว เราจะสอนให้เยาวชนมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นได้
“การที่เราจะมีความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) เราต้องมีจินตนาการ เพราะมันไม่ใช่บริบทเรา เป็นบริบทเขา เราก็จำเป็นที่จะต้องพยายามทำความเข้าใจ ต้องใช้จินตนาการ ถ้าจินตนาการอย่างเดียวล่องลอยมันก็ไม่ได้ มันก็มาพร้อมกับกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ แต่ปลายทางเราต้องสื่อสารกับคนอื่นได้ด้วย ซึ่งการรับสารมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน”
กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
ยังมีบทเรียนอีกมากที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ ซึ่งทาง HOOK Learning ได้รวบรวมหลักสูตรวิชาชีวิตที่จำเป็นต่อการเติบต่ออย่างมีคุณภาพ ได้แก่ 1) เปิดโลกจิตวิทยาเด็ก เพื่อเข้าใจพัฒนาการมนุษย์ที่จะช่วยแก้ไขปมค้างคาของผู้ใหญ่ ทำให้เข้าใจเด็กและตัวเองมากขึ้น 2) โรคซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่น สังคมยังขาดความเข้าใจอันดีต่อโรคซึมเศร้า บทเรียนนี้จะช่วยแนะนำวิธีป้องกัน เยียวยา และช่วยสังคมก้าวไปข้างหน้ากับผู้ป่วย 3) การแนะแนวชีวิตด้วยแนวคิดนักออกแบบ โดยนำเอาแนวคิด Design Thinking มาใช้เป็นแกนหลักในการจัดวงชีวิต ซึ่งสามารถฟังได้ทั้งแต่วัยเรียนจนถึงผู้ใหญ่ เนื้อหาเหล่านี้สามารถติดตามได้จาก www.hooklearning.com หรือเพจเฟซบุ๊ก HOOK Learning