ทำความรู้จัก “โรงเรียนแนวตั้ง” ทางออกของเมืองหนาแน่นสูง ด้านสถาปนิกห่วงเด็กขาดพื้นที่วิ่งเล่น ส่งผลต่อพัฒนาการโดยตรง แนะสร้างโรงเรียนเป็นตึกนั้นทำได้ แต่ต้องคำนึงปัจจัยแวดล้อมเพื่อเด็กเป็นสำคัญ
ด้วยจำนวนประชากรในเมืองหลวงที่เพิ่มมากขึ้น และนโยบายเพิ่มความหนาแน่นของเมือง เบียดให้คนกรุงฯ อาจต้องอาศัยในแนวดิ่งตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่เว้นแม้แต่ช่วงวัยของการเรียนรู้ ทำให้โรงเรียนเองต้องเปลี่ยนจากตึกแนวราบที่คุ้นตา ไปแทรกอยู่กลางตึกสูงใจกลางมหานคร – นี่คือสิ่งที่สถาปนิกเป็นห่วงว่าเด็กจะขาดกิจกรรมทางกายและสูญเสียพัฒนาการในทุกด้าน
‘โรงเรียนแนวตั้ง’ คือ แนวคิดการก่อสร้างสถานศึกษาเพื่อตอบโจทย์ความขาดแคลนพื้นที่ในโลกสมัยใหม่ เนื่องจากที่ว่างในเมืองหลวงมีน้อยลงทุกวัน แต่การเข้าถึงการศึกษายังเป็นความต้องการของทุกครัวเรือน การสร้างสถานศึกษาโดยเน้นเป็นแนวดิ่งสูงขึ้นไป จะทลายข้อจำกัดด้านพื้นที่ และทำให้โรงเรียนกระจายตัวได้มากขึ้นในเมืองใหญ่
ด้วยวิถีชีวิตในเมืองที่เร่งรีบ ทำให้เด็กมีเวลาว่างเพื่อทำในสิ่งที่ชอบน้อยลง โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่ต้องดั้นด้นเดินทางไกลเพื่อมาเรียนในสถานศึกษาที่มีคุณภาพ นักเรียนในกรุงเทพฯ ต้องใช้เวลาเดินทางมาเรียนค่อนข้างนาน ซึ่งขัดแย้งต่อหลักการการออกแบบ 15-minute city (แนวคิดการวางผังเมืองที่ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็น เช่น การทำงาน การศึกษา การจับจ่ายใช้สอย ฯลฯ ภายใน 15 นาทีจากจุดใดก็ได้ในเมือง) นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่ามีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในกรุงเทพฯ ที่มีคุณภาพการนอนหลับไม่ดี ถึงร้อยละ 46.2
ธัชธรรม สีมาเอกรัตน์ สถาปนิกเจ้าของสถาปัตยนิพนธ์ ‘โรงเรียนทางตั้ง’ ระบุว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เข้าถึงการศึกษาได้ยาก ฉะนั้น นอกจากการทำให้ทุกสถานศึกษามีคุณภาพใกล้เคียงกันเพื่อส่งเสริมการเรียนใกล้บ้าน การออกแบบโรงเรียนแนวตั้งจะช่วยให้โรงเรียนกระจายตัวได้มากขึ้น รองรับกับความต้องการการศึกษาที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ตามนโยบายเพิ่มความหนาแน่นเมืองของกรุงเทพฯ
“มีสัญญาณบางอย่างที่ทำให้เราเห็นว่าความหนาแน่นใน กทม. จะเพิ่มสูงขึ้น จากนโยบายเพิ่มค่า FAR (Floor to Area Ratio) ตามแนวรถไฟฟ้าที่เอื้อให้เกิดการสร้างอาคารสูงมากขึ้น เป็นเพราะว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเมืองนั้นมีราคาแพง การเพิ่มความหนาแน่นในเมืองจะทำให้สัดส่วนการลงทุนต่อประชากรมีความคุ้มค่ามากขึ้น”
ธัชธรรม สีมาเอกรัตน์
ทั้งนี้ ธัชธรรม แจงว่า จริง ๆ แล้ว กทม. ไม่ใช่เมืองหนาแน่น แต่เป็นเมืองแออัด กล่าวคือ เป็นเมืองที่มีการวางผังเมืองที่ไม่ดี อย่างกรุงเทพฯ ชั้นในมีสัดส่วนของพื้นที่ออฟฟิศมากกว่าพื้นที่อาศัย ทำให้คนต้องเดินทางข้ามเมืองและเกิดการเดินทางที่สิ้นเปลือง สิ่งที่เราพอทำได้คือควรทำคือต้องทำให้ทุกส่วนของเมืองเจริญพอ ๆ กัน เพื่อลดความสิ้นเปลืองเหล่านี้ และนั่นหมายถึงการกระจายตัวของสถานศึกษาด้ว
อย่างไรก็ตาม แนวคิดโรงเรียนแนวตั้งยังเต็มไปด้วยข้อกังวลจำนวนหนึ่ง ธัชธรรม เผยว่า การสร้างอาคารเรียนที่มีความหนาแน่นสูง หากไม่ได้รับการออกแบบที่เหมาะสมต่อผู้เรียน อาจเกิดปัญหาตามมาได้ เช่น การไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับวิ่งเล่น ปัญหาด้านความปลอดภัยจากคนภายนอก การขาดการรับรู้ต่อธรรมชาติภายนอก เป็นต้น
รายงานจากข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการดำเนินงาน โรงเรียนส่งเสริมกิจกรรมทางกายในประเทศไทยโดย TPAK ร่วมกับ สสส. ระบุว่า นักเรียนที่มีกิจกรรมทางกาย (การได้วิ่งเล่น การเล่นกีฬา ฯลฯ) ที่เพียงพออย่างต่อเนื่องจะมีระดับพัฒนาการที่ดีกว่าทั้ง 5 มิติเมื่อเทียบกับนักเรียนที่วิ่งเล่นไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในมิติของการคิดวิเคราะห์ และวิชาการที่มีคะแนนพัฒนาการมากกว่าร้อยละ 6 นอกจากนี้ นักเรียนที่วิ่งเล่นอย่างเพียงพอจะมีความสุขในห้องเรียน และมีสมาธิในการเรียนมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน
“การปล่อยให้เด็กอยู่แต่ในห้องแอร์อย่างเดียว หลายคนอาจจะมองว่าอากาศสะอาด ไม่มีฝุ่น แต่จริง ๆ แล้วระบบไหลเวียนอากาศในอาคารสูงมันใช้ระบบรวม บางทีเราไม่แน่ใจว่าเขาทำสะอาดดีพอไหม และการที่อยู่แต่ในห้องกระจกทึบ เด็กไม่ได้เจอแสงแดด เขาขาดการรับรู้ธรรมชาติและวันเวลา จะทำให้ส่งผลต่อนาฬิกาชีวิตของเขาด้วย”
ธัชธรรม สีมาเอกรัตน์
อย่างไรก็ตาม แนวคิดโรงเรียนแนวตั้งเริ่มมีความแพร่หลายมากขึ้นในเมืองที่มีข้อจำกัดของพื้นที่ ซึ่งบางส่วนก็ประสบความสำเร็จ ธัชธรรม ยกตัวอย่าง School of the Arts ในสิงคโปร์ ที่มีการออกแบบโรงเรียนแนวตั้งที่น่าสนใจ คือเน้นให้อากาศภายนอกได้ไหลเวียนเข้าไป นักเรียนที่อยู่บนชั้นบน ก็รับรู้โลกภายนอกได้เท่ากับคนที่อยู่พื้นราบ เปิดช่องให้แสง แดด ฝน เข้ามาในอาคารได้ ไม่ปิดทึบ และโครงยังสามารถสร้างพื้นที่สีเขียวได้ถึง 140% ของที่ดินโครงการ
“โรงเรียนของเขา [สิงคโปร์] เขาสร้างโรงเรียนให้เป็นตึก แต่ของไทยเรา เราสร้างตึกขึ้นมาก่อน แล้วแทรกโรงเรียนเข้าไป มันเลยเป็นการออกแบบที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้และผู้เรียน”
ธัชธรรม สีมาเอกรัตน์
ประเทศไทยมีกฎหมายและข้อบังคับว่าด้วยเกณฑ์การสร้างโรงเรียนอยู่ 2 ฉบับคือ เกณฑ์มาตรฐานสิ่งก่อสร้างของโรงเรียน สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ กฎกระทรวงการรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบฯ พ.ศ. 2555 ซึ่งข้อบังคับทั้งสองฉบับนี้ มีการกำหนดเกณฑ์การก่อสร้างไว้เบื้องต้น เช่น จำนวนห้องเรียนต่อชั้นเรียนพึงมี จำนวนอาคารพิเศษอย่าง อาคารปฏิบัติการ อาคารกีฬา สนามหญ้า และการกำหนดพื้นที่ในโรงเรียนต่อจำนวนนักเรียน ซึ่งทาง ธัชธรรม ระบุว่า กฎเหล่านี้ไม่ได้มีการนำไปใช้อย่างรัดกุม ทุกวันนี้เรายังคงเห็นโรงเรียนที่มีความแออัดมากขึ้นเรื่อย ๆ
ท้ายที่สุด ธัชธรรม มองว่า หลักสูตรการศึกษาจะเป็นตัวกำหนดว่าโรงเรียนของเราจะมีหน้าตาอย่างไร หลักสูตรของเราคือ “ครูพูดหน้าชั้นเรียน และนักเรียนฟัง” เราจึงเห็นการออกแบบห้องเรียนที่ทุกคนต้องจดจ่อไปข้างหน้า น้อยที่จะมีห้องเรียนที่ทำให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง