6 เดือน Thailand Zero Dropout พาเด็กกลับห้องเรียนแล้ว 3 แสนคน

กสศ. ย้ำ อย่านิ่งนอนใจ หากเด็กไทยยังเผชิญความเปราะบาง ระบบการศึกษาไทยไม่ยืดหยุ่น ติดล็อกห้องเรียนสี่เหลี่ยม แก้เท่าไรก็ไม่เป็นผล

วันนี้ (6 ม.ค. 68) ไกรยส ภัทราวาส ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แถลงความคืบหน้าสำคัญ 6 เดือนแรกของนโยบาย Thailand Zero Dropout ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลและทิศทางในปี 2568 โดยความคืบหน้าในปี 2567 ที่ผ่านมา พบเด็กกลับเข้าระบบการศึกษาในช่วงภาคเรียนที่ 1 กว่า 3 แสนคน จากเด็กอยู่นอกระบบการศึกษาทั้งสิ้น 1.02 ล้านคน (คิดเป็น 29.65%) แต่นี่ยังไม่ใช่สถานการณ์ที่นิ่งนอนใจได้ เพราะเด็กรุ่นใหม่ก็ทยอยเข้าสู่ระบบ และเผชิญหน้ากับความเปราะบางของระบบการศึกษาอีกเรื่อย ๆ

วัยแรงงานหดตัว เศรษฐกิจชาติถดถอย
“ไม่อาจทิ้งศักยภาพของเด็กคนใดไปได้อีก”

ไกรยส อธิบายว่า โครงสร้างประชากรไทย วัยแรงงานกำลังลดน้อยลงเรื่อย ๆ และล่าสุดมีจำนวนน้อยกว่าสัดส่วนกลุ่มที่ไม่ใช่วัยแรงงาน ด้วยเงื่อนไขเช่นนี้ทำให้เป้าหมายการหลุดจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น ปัจจุบันประชากรไทยมีรายได้เฉลี่ยราว 20,000 บาท ซึ่งยังห่างจากเป้าหมายประเทศไทยในอีก 20 ปี ที่ตั้งเป้าไว้รายได้เฉลี่ยไว้ที่ 38,000 บาท ซึ่งคิดเป็น เกือบ 2 เท่า นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ต่อจากนี้ภาครัฐ ภาคเอกชนมีหน้าที่ช่วยกันให้เด็กทุกคนในชาติไทยไม่หลุดไปจากระบบการศึกษาอีก

แผนภาพแสดงโครงสร้างประชากรไทย เผยจำนวนประชากรวัยแรงงาน (สีเหลือง)
ที่กำลังถดถอยและน้อยกว่าประชากรนอกวัยแรงงาน

ผู้จัดการ กสศ. ยังเปิดเผยผลสำรวจและการจัดอันดับด้านการแข่งขันโดย IMD ในมิติ World Competitiveness ปี 2024 พบว่า ตัวเลขอันดับด้านคุณภาพการศึกษานั้น มีอันดับรั้งท้ายที่สุดในทุกมิติที่มีการประเมิน ตัวเลขการประเมินนี้ ฉุดรั้งโอกาสในการดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ​เพราะคุณภาพการศึกษาในชาติ เป็นพื้นฐานของการพัฒนามนุษย์ ซึ่งแรงงานเป็นส่วนสำคัญของการต่อยอดทางเศรษฐกิจและการลงทุน

อย่างไรก็ตาม ผลวิเคราะห์จากองค์การยูเนสโก ประเมินว่า หากประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Zero Dropout (เด็กนอกระบบเป็นศูนย์) ได้สำเร็จตาม SDG4 ประเทศไทยจะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1.7% และถ้านักเรียนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนได้รับการศึกษาที่สูงกว่าภาคบังคับจะช่วยสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (IRR) สูงถึง 9% ฉะนั้น ปัญหาด้านการศึกษาเป็นประเด็นที่แยกไม่ออกกับปัญหาด้านเศรษฐกิจเพราะเกี่ยวข้องกับการพัฒนามนุษย์โดยตรง

“เรามีบัตรประชาชนรักษาได้ทุกที่ แล้วเราจะมีบัตรประชาชนเรียนได้ทุกที่ไหม
แทนที่จะให้เด็กแบกต้นทุนไปหาการศึกษา การศึกษาจะเข้าหาเด็กทุกคนได้มากแค่ไหน”

ไกรยส ภัทราวาส ผู้จัดการ กสศ.

ตามเด็กกลับมาเรียนแค่ไหน…ก็ไม่เป็นผล
หากการศึกษาไทยยังติดล็อกใน ‘ห้องสี่เหลี่ยม’

ไกรยส บอกอีกว่า การศึกษาที่ติดล็อกในห้องเรียนสี่เหลี่ยมคือ แนวคิดทางการศึกษาในยุคศตวรรษที่ 19 – 20 เป็นการศึกษาเน้นปริมาณเพื่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันการศึกษาไม่ใช่แบบนั้น ต้องยืดหยุ่น ต้องปรับตามความต้องการและความถนัดของผู้เรียน โดยเฉพาะผู้เรียนที่มีข้อจำกัดในต้นทุนชีวิต ไม่สามารถเดินทางไปเรียน ต้องดูแลครอบครัว หรือมีความทรงจำที่แย่ในชั้นเรียน ฉะนั้น นี่เป็นโจทย์สำคัญของรัฐไทยในการสร้างการศึกษาที่ยืดหยุ่นให้กับเด็กทุกรูปแบบ

“โรงเรียนไม่ได้หายไปไหน แต่เป็นเสมือน ‘ฐานปล่อยจรวด’ ทำหน้าที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน คอยส่งเสริมและให้โอกาสทางการเรียนรู้ให้กับเด็กไทยว่าเขาจะสามารถไปเติบโตในที่ใดได้บ้าง”

ไกรยส ภัทราวาส

จากสถานการณ์ปัจจุบัน นเรศ สงเคราะห์สุข รองหัวหน้าโครงการหนุนเสริมทางวิชาการและการจัดการความรู้สำหรับการพัฒนาเยาวชนนอกระบบการศึกษา กสศ. ยืนยันว่า แนวโน้มการหลุดจากระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชนจะไม่ลดลง เพราะความรุนแรงยังคงมีอยู่ในทุกพื้นที่ของสังคมไทย โดยเฉพาะความรุนแรงแอบแฝง การใช้อำนาจนิยมในโรงเรียน การแบ่งแยกเลือกปฏิบัติระหว่างเด็กเก่งเด็กอ่อน ความยากจน ความขาดแคลน ตลอดจนการใช้ความรุนแรงและกฎหมายแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและเปราะบางในสังคม เหล่านี้ได้ตกผลึกเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทย ที่ฉุดรั้งให้การพาเด็กกลับเข้าสู่การศึกษาไม่เอื้ออำนวยเท่าที่ควร

การพาเด็ก 1 ล้านกว่าคนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง ไม่ต่างอะไรกับการแก้ไขปัญหาของเด็ก 1 ล้านชีวิตไปทีละคน ซึ่งแต่ละกรณี ไม่ใช่ว่าพวกเขาอยากจะหนีเรียน เกเร หรือไม่เอาไหน แต่พวกเขาเผชิญหน้ากับความรุนแรงโดยรอบ เจอกับภาวะยากจนสุดขั้ว ปัญหายาเสพติด ความรุนแรงทางเพศ จนถึงการเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุข แต่ระบบกลไกการแก้ไขปัญหาของภาครัฐยังตอบสนองต่อปัญหาที่มีความซับซ้อนได้จำกัด ยังคิดแก้ไขปัญหาเป็นเรื่อง ๆ ไม่มองว่าเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะพยายามพาเด็กเข้าระบบมากแค่ไหน พวกเขาก็จะถูกฉุดกลับออกมาเช่นเคย

“ปัญหาสำคัญตอนนี้ไม่ใช่เด็ก แต่เป็นทุกคนที่อยู่รอบตัวเด็ก ถ้าเราทำให้เด็กมีพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้น มันจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่เราหวังจริง ๆ แต่ตอนนี้พวกเขาไม่มีพื้นที่ปลอดภัย ความสัมพันธ์ในชุมชนก็อ่อนแอ เขาจะหนีไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าเขามีพื้นที่ปลอดภัย เขาจะอยู่นิ่ง เรียนรู้ และเริ่มปรับตัวกับผู้อื่น”

นเรศ สงเคราะห์สุข

ข้อเสนอ 8 มาตรการ จัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น

ขณะที่ พัฒนะพงศ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. ย้ำว่า เป้าหมายของ กสศ. ไม่ใช่การสงเคราะห์เด็กยากไร้หรือกลุ่มเปราะบางเพียงเพื่อให้เขาอยู่รอดได้แบบผิวเผิน แต่มองถึงการพัฒนาศักยภาพของเด็กทุกคน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายหากเราต้องปล่อยมือทรัพยากรที่ทรงคุณค่าของชาติไป นี่ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเป้าหมายทางเศรษฐกิจ แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและพาพวกเขาออกจากเส้นล่างของความยากจน และไม่กลับตกไปอยู่ในสภาวะเช่นนั้นอีก

ดังนั้น การส่งเสริมการศึกษาที่ยืดหยุ่นในหลาย ๆ มิติของโครงสร้างการศึกษาของรัฐไทย จึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ กสศ. ได้เสนอ 8 มาตรการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ดังนี้

มาตรการรายละเอียดผู้รับผิดชอบ/กลไกผลักดัน
หลักประกันโอกาสทางการศึกษา เพื่อป้องกันการหลุดจากระบบการศึกษาให้ทุนเสมอภาค สร้างระบบช่วยดูแลและส่งเสริมการศึกษาของเยาวชนกสศ., สพฐ.
1 โรงเรียน 3 รูปแบบสร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นให้โรงเรียนเป็นมากกว่าห้องเรียนภาคบังคับสพฐ., กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ศูนย์การเรียนตาม พ.ร.บ.การศึกษา มาตรา 12จัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนศูนย์การเรียนรู้ กระจายอำนาจทางการศึกษาให้เอกชนและครอบครัวคณะทำงานตาม พ.ร.บ. การศึกษา มาตรา 12
ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้กลไกลดอุปสรรคและเชื่อมต่อระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นรายบุคคลสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด
ตำบลต้นแบบ การจัดการศึกษาโดยหน่วยงานพื้นที่ร่วมกับสถาบันการศึกษาสร้้างตำบลต้นแบบทำงานคู่กับเครือข่ายในพื้นที่จัดการศึกษา กับสถานศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ Zero Dropoutกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
โรงเรียนมือถือ (Mobile School)ใช้เทคโนโลยีส่งเสริมการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลากระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลฯ
การเทียบโอนหน่วยกิต (Credit Bank)พัฒนาระบบธนาคารหน่วยกิต รองรับทักษะทางวิชาชีพให้มีคุณวุฒิรองรับกระทรวงแรงงาน, กระทรวงอุดมศึกษาฯ, สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
การเรียนรู้และส่งเสริมการสร้างรายได้ (Learn to earn)บูรณาการระหว่างหน่วยงานเพื่อสร้างการเรียนรู้และส่งเสริมรายได้ไปพร้อมกันสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ

รศ.ลือชัย ศรีเงินยวง ทิ้งท้ายถึงปัญหาทัศนคติของสังคมไทยที่มีต่อเด็กกลุ่มเปราะบาง ว่า เมื่อเกิดเหตุรุนแรงหรือความสูญเสียในเด็กและเยาวชน สังคมไทยมักมองเพียงปัญหาผิวเผิน ไม่ได้วิเคราะห์ลึกถึงรากฐานของปัญหา เช่น ความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางโอกาสซึ่งเชื่อมโยงกันถึงความรุนแรงในทุกมิติ ทั้งยังเหมารวมปัญหาของเด็กแต่ละคนเป็นเรื่องเดียวกัน และตัดสินจากมุมมองภายนอกเพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกับระบบการศึกษาที่สร้างมาแบบ One Size Fit All (1 รูปแบบปรับใช้กับเด็กทุกคน)

พร้อมทั้งย้ำว่า สิ่งสำคัญคือการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก โดยต้องมองปัญหาในภาพรวมและเชื่อมโยงกันเป็นระบบ ไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบแยกส่วนหรือเฉพาะจุด ซึ่งวิธีดังกล่าวไม่สามารถสร้างความยั่งยืนได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active