ออกแบบ ‘นโยบายเพื่อเด็ก’ ของขวัญที่ผู้ใหญ่ ควรให้มากกว่า คำขวัญ ‘วันเด็ก’

ชวนรับฟังเรื่องราวบาดแผลวัยเด็ก ต้นเหตุพาชีวิตเดินหลงทาง ย้ำ สังคม – ผู้ใหญ่ เร่งออกแบบนโยบายสาธารณะสำหรับเด็ก สร้างพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่แสดงออก เชื่อ ‘ปีศาจ’ ที่ถูกสร้างบนกระบวนการทางสังคมจะลดลง

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 68 กิจกรรมรณรงค์ในโอกาส วันเด็กแห่งชาติ ปี 2568 มีเวทีเสวนา “ความรุนแรงในครอบครัวกับอนาคตเด็กไทย…ที่ขาดแคลนการลงทุน”

ชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว บอกว่า จุดเริ่มต้นของงานวันนี้มาจากสิ่งที่เห็นในทุก ๆ ปี ในวันเด็กแห่งชาติที่มักจะมีกิจกรรมจับสลากของขวัญ มีการชวนเด็กตอบคำถามว่า คำขวัญวันเด็กปีนี้คืออะไร ? ซึ่งเป็นมานาน ทำให้เกิดเป็นคำถามว่า เราทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม ? แล้วถ้าวันเด็กทุกปี ซึ่งเป็นวันที่มีคนจำนวนมาก มารวมตัวกันจะทำอย่างไรให้ได้รู้เรื่อง ‘สิทธิเด็ก’ โดยเฉพาะผู้ใหญ่

“เด็กเล็ก ๆ อาจไม่รู้ไม่มาก แต่อย่างน้อยให้เขาได้ซึมซับ อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้เรียนรู้เข้าใจ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ไทยร่วมลงนาม ว่ามีอะไรบ้าง และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว มาจากอะไร มีปัจจัยร่วมอะไรบ้าง ความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ของพ่อแม่มันสร้างบาดแผล หรือรอยร้าวอะไรกับเด็กหรือไม่” 

ชูวิทย์ จันทรส

บทเรียนความรุนแรงในครอบครัว

ภานุเดช สืบเพ็ง ตัวแทนเยาวชนที่เคยเผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัวจากแอลกอฮอล์ ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ โดยบอกว่า ในวัยเด็กพ่อ แม่ แยกทางกัน และเท่าที่จำความได้คือ พ่อเป็นนักดื่ม และทำร้ายร่างกายคนในครอบครัว พ่อได้พาตนเองและพี่ น้องรวม 3 คน มาเร่ร่อนในกรุงเทพฯ และมีพลเมืองดีแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้เขาและพี่สาว กับน้องชาย ถูกส่งไปอยู่ในความดูแลของมูลนิธิคนละแห่งกัน เขาใช้ชีวิตอยู่ที่มูลนิธิมาตั้งแต่เด็ก ภายใต้กฎระเบียบ และมีโอกาสได้เรียนหนังสือ แม้ในช่วงวัยรุ่นอาจจะเกเรบ้าง แต่สุดท้ายจากความคิดที่อยากหลุดพ้นจากชีวิตแบบนี้ ทำให้ตั้งใจเรียนและทำงานไปด้วย จนเรียนจบปริญญาตรี จากคณะนิติศาสตร์ มีงานทำ และสามารถดูแลตัวเองและพี่น้องได้

ภานุเดช สืบเพ็ง ตัวแทนเยาวชนที่เคยเผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

ก่อนหน้านี้เขาพยายามตามหาแม่จนได้พบกัน และนำเงินเก็บที่มีอยู่ไปช่วยซ่อมแซมบ้านให้ แต่สิ่งที่ทำให้จิตใจเขาพังลงอีกรอบ คือ แม่บอกว่าวันนั้นตั้งใจทิ้งเขาไป แม้จะเสียใจมาก แต่คิดว่าแม่คงมีเหตุผลของตัวเอง แต่ยอมรับว่าตอนนี้เขาเองก็ไม่กล้ามีความรักไม่กล้ามีครอบครัว

“วันนี้มีสิ่งที่ผมอยากฝากไปถึงผู้ใหญ่ ว่า เด็กคือผ้าขาว เขาจะโตมาเป็นแบบไหนอยู่ที่ผู้ใหญ่จะเขียนหรือแต้มอะไรลงไป ครอบครัวคือสิ่งสำคัญควรให้ความสำคัญ ปลูกฝังสิ่งดี ๆ ให้เด็ก ถ้าครอบครัวเข้มแข็ง เด็ก ๆ ก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อสิ่งที่ไม่ดีได้ ขณะเดียวกันก็อยากฝากหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เด็กแต่ละครอบครัวโตมาไม่เหมือนกัน บางคนพร้อม บางคนขาด สิ่งที่เด็กอยากได้มาก ๆ คือโอกาส ดังนั้นขอให้โอกาสกับเด็ก ๆ ด้วย” 

ภานุเดช สืบเพ็ง

ขณะที่ เอ (นามสมมติ) ตัวแทนเยาวชนจากบ้านกาญจนาภิเษก เล่าว่า พ่อแม่แยกทางกัน และตัวเขาถูกนำมาฝากกับย่าตั้งแต่เกิดได้ 3 วัน ซึ่งตั้งแต่เล็กจนโตและจำความได้ ย่าป่วยต้องฟอกไต ทำให้ไม่สามารถที่จะดูแลได้เต็มที่ เขาอยู่กับย่าถึงชั้น ป.3 ย่าก็ขอให้พ่อพาไปอยู่ที่ต่างจังหวัด เพราะในช่วงนั้นเขาติดเกมและติดเพื่อนหนัก พอได้ไปเรียนที่ต่างจังหวัดช่วงที่ได้เข้าเรียนมัธยม เริ่มคบเพื่อนที่มีการใช้สารเสพติด แม้ว่าเขาจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการใช้สารเสพติด แต่สังคมแวดล้อมที่อยู่ ทำให้รู้สึกเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดูปกติ ที่สำคัญเขารู้สึกว่าพื้นที่นี้มีคนเข้าใจ รู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน

เอ เยาวชนบ้านกาญจนาฯ

จุดเปลี่ยนอีกครั้งคือ พ่อส่งกลับเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ที่ต้องอาศัยอยู่กับอา เขาแต่งชุดนักเรียนออกบ้านทุกวันแต่ไม่ไปเรียนและเริ่มเข้ากับกลุ่มเพื่อนที่มีทั้งการใช้ความรุนแรงและใช้สารเสพติด เขาเองก็เริ่มทดลองกัญชาและกระท่อม กระทั่งวันหนึ่งเกิดคดีความที่ทำให้ต้องมาเข้าบ้านแรกรับ ช่วงแรกยังคงใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง ใช้ความรุนแรง จนช่วงเวลาหนึ่งที่ถูกขังห้องเดี่ยว จึงเริ่มคิดกับตัวเองว่าไม่อยากอยู่ตรงนี้ และบ้านกาญจนาฯ คือทางออก

“ช่วงเวลาที่ถูกขังคนเดียว ก็คิดหาทางในการจะออกไปจากตรงนี้ และ บ้านกาญจนาฯ ก็เปิดรับ ตอนนี้อยู่ได้ 7 เดือนแล้ว จากกระบวนการวิเคราะห์ข่าว ทำให้ได้คิด ความสัมพันธ์กับพ่อดีขึ้น พ่อบอกว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงคือผมใจเย็นขึ้น ไม่ใช้ความรุนแรง จุดสำคัญที่เปลี่ยนเราเป็นคนนี้ เพราะกระบวนการ ตั้งแต่เข้ามาไม่เหมือนที่อื่น ที่ไม่มีการคุมเข้ม และกิจกรรมที่รู้สึกว่า ทำให้เราคิดได้ คือ การวิเคราะห์ข่าว มันมีคำถามว่า ผมรู้สึกอย่างไร และทำให้เราได้ย้อนกลับมาทบทวนตัวเอง” 


ตัวแทนเยาวชนจากบ้านกาญจนาฯ

เอ ยังกล่าวถึงสิ่งที่อยากจะบอกกับสังคมและพ่อ คือ อยากขอโทษเหยื่อที่ล่วงเกิน และการตัดสินใจมาพูดครั้งนี้ เพราะอยากแบ่งปันเรื่องราวให้คนในสังคมได้รับรู้ เพราะไม่อยากให้เด็กและเยาวชนอีกหายคนต้องมาเป็นแบบเขา ซึ่งเขาโชคดีที่ได้มาอยู่บ้านกาญจนาฯ ทำให้เขาคิดได้ว่า เขาไม่ถือโทษกับเรื่องราวที่ครอบครัวปฏิบัติกับเขา เพราะเข้าใจในความเป็นเด็กของพ่อในวันนั้น

“ผมไม่โกรธ ไม่เกลียดพ่อ ผมให้โอกาสพ่อ เพราะผมเข้าใจว่า พ่อก็ยังเด็ก เหมือนผมตอนนี้ ตอนนั้นผมรู้สึกเสียใจที่เขาแยกทางกัน แต่ผมทำอะไรไม่ได้ สิ่งที่มีอยู่ตอนนั้นก็มีแต่เพื่อนที่เข้าใจผม ไม่มีใครที่มาให้คำปรึกษาผม ผมเหมือนลูกฟุตบอล ที่คนหนึ่งเตะไปทาง ไปตามเขาเตะ มองไม่ให้เห็นใครที่จะมารับฟังคำปรึกษา”

ตัวแทนเยาวชนจากบ้านกาญจนาฯ

มอบความรัก ก่อนเด็กหนีห่างจากครอบครัว

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” บอกว่า การที่เด็กคนหนึ่งติดเพื่อน ติดเกม มีรากของปัญหานี้เสมอ ซึ่งเขาอาจไม่ได้รับความรักจากคนที่ควรจะรักเขามากที่สุด ทำให้เด็กโหยหาสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการคือ การเป็นที่รัก การยอมรับ ต้องการความสัมพันธ์ จึงเกิดการวิ่งหา ไขว้คว้าสิ่งนั้นจากคนนอก อาจจะเป็นเพื่อนหรืออะไรที่เขาจะนำพาตัวตนของเขาไปในทางไหน เหมือนที่ เอ บอกว่าชีวิตเหมือนลูกบอลที่หาหลักไม่เจอ

“แต่หากเด็กสักคนได้มีหลักที่จะทำให้เขายึดได้ เช่นเดียวกับเอ ที่ได้บ้านกาญจนาฯ ที่มองเห็นว่าท่ามกลางปัญหาที่เจอ ยังมีด้านสว่าง และเลือกเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์นั้นให้มันงอกงาม การที่เขาพูดว่าไม่โกรธพ่อ และเข้าใจพ่อที่เป็นเด็กเหมือนกัน มันเกิดจากการเติบโต และเชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนมีแสงสว่างในตัวเอง”

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร

หมอโอ๋ ยังย้ำถึงกรณีของภานุเดช ว่า การมีครอบครัวไม่ใช้จุดสูงสุดในชีวิต เรามีสิทธิที่จะเลือก การไม่มีครอบครัว ก็สามารถที่จะมีความสุขกับการเป็นตัวเอง 

ป้ามล – ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาฯ

เรามีนโยบายสาธารณะสำหรับเด็ก หรือยัง ?

ป้ามลทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาฯ บอกว่า ก่อนจัดกิจกรรมนี้ มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว ได้จัดกลุ่มพูดคุยกับเยาวชนในบ้านกาญจนาฯ เพื่อรับฟังเรื่องราวบาดแผลในวัยเด็ก ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาเดินหลงทาง ซึ่งการได้เปิดพื้นที่รับฟังจะทำให้สังคมและผู้ใหญ่ที่มีอำนาจเกี่ยวข้องได้เห็นถึงปัญหาและนำไปสู่การออกแบบนโยบายสาธารณะสำหรับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัย การเปิดพื้นที่ให้เขาได้แสดงความสามารถ หรือได้ทำให้สิ่งที่เขาถนัดและสนใจ จากพื้นฐานความเชื่อว่า เด็กทุกคนเป็นดาวฤกษ์ที่มีแสงในตัว ซึ่งเมื่อเขาถูกยอมรับ และ ในโอกาสวันเด็ก จึงสามารถที่จะเริ่มต้นปักหมุด และขับเคลื่อนกันเรื่องนี้ได้ เชื่อว่า ปีศาจที่ถูกสร้างบนกระบวนการทางสังคมจะลดลง

“เด็ก ๆ ไม่ได้เป็นปีศาจร้าย หรือเป็นอาชญากรด้วยการเกิด การเกิดไม่สามารถสร้างอาชญากรได้ ถ้าเรามีระบบนิเวศทางสังคมที่ดี มี นโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการ ปล่อยของ ปล่อยแสง ดังนั้น จึงต้องกลับมาสู่การตั้งคําถามกับผู้ใหญ่มากกว่าที่จะตั้งคําถามกับเด็ก ๆ ว่า เรามีนโยบายสาธารณะ เรามีพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการเติบโตของเด็ก ๆ หรือยัง”

ทิชา ณ นคร

บุหรี่ – เหล้า – การพนัน ความเสี่ยงในชีวิตเด็ก เยาวชน

สำหรับสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงต่อเด็ก เยาวชน ในเวลานี้ รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ระบุว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า เยาวชน อายุ 15-24 ปี สูบบุหรี่ 12.7% ลดจากปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 15.4% ส่วนนักสูบหน้าใหม่ที่สูบบุหรี่ไม่เกิน 1 ปี มี 211,474 คน โดย 73.7% เริ่มสูบช่วงอายุ 15-19 ปี และ ที่น่ากังวล คือ ผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ Global Youth Tobacco Survey : GYTS ในกลุ่มนักเรียนที่มีอายุระหว่าง 13 – 15 ปี พบว่า พบเด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 17.6% จาก 3.3% ในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า

ขณะที่ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานข้อมูลปี 2566 พบกลุ่มอายุ 15-25 ปี เล่นพนันออนไลน์ 32.3% หรือ 2.9 ล้านคน ในจำนวนนี้ 1 ใน 4 เสี่ยงเป็นนักพนันหน้าใหม่ประมาณ 739,000 คน

ส่วน ผลสำรวจการดื่มแอลกอฮอล์ ในเด็กเยาวชนอายุ 15-24 ปี ช่วงปี 2547 – 2558 พบอัตราการดื่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 23.5% 29.5% และปี 2564 ลดเหลือ 20.9% หรือราว 1.9 ล้านคน โดยพบข้อมูลผู้ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับทุกกลุ่มอายุ 34.05% และอายุต่ำกว่า 20 ปี 16.75% 

“ปัญหาเหล่านี้ ส่งผลต่อความรุนแรงในครอบครัว จากข้อมูลที่น่าสนใจโดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รวบรวมข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เสนอผ่านสื่อในปี 2566 รวม 1,086 ข่าว มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น 316 ข่าว คิดเป็น 29.1% ยาเสพติด 283 ข่าว คิดเป็น 26.1% ทั้งนี้ ชัดเจนว่าอบายมุขทุกชนิด ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดที่สมองจะพัฒนาไปได้ดีจนถึงอายุ 25 ปี ทั่วโลกจึงทำทุกทางเพื่อปกป้องเด็กจากอบายมุข และมีงานวิจัยจำนวนมากชี้ชัดว่า ครอบครัวที่มีคนเสพติดอบายมุข  มีความเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงในครอบครัว และสร้างบาดแผลในชีวิตของเด็ก”

รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active