อย่ากลัว AI เข้ามาแทนที่มนุษย์ ภาคการท่องเที่ยวตื่นตัว รับไลฟ์ไตล์ไหม่

มองข้อดีช่วยเพิ่มมูลค่า ลดต้นทุน สร้างสรรค์ผลงาน แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับจริยธรรมในการใช้งาน  

ปัจจุบัน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เข้ามามีบทบาทแทบจะในทุกอุตสาหกรรม เพราะช่วยประหยัดเวลาในการทำงาน ลดต้นทุน และยังเป็นที่ปรึกษา สร้างสรรค์ผลงานให้มีความน่าสนใจ ซึ่งการพัฒนาที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้ AI ฉลาดขึ้นในทุก ๆ วัน

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ผ่านมามีหลายธุรกิจในห่วงโซ่การท่องเที่ยวนำ AI มาใช้ในการประชาสัมพันธ์ดึงดูดให้เกิดความสนใจ เช่น การป้อนข้อความเพื่อให้ AI สร้างภาพการท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยในปี 2565 ทั่วพบว่า AI ช่วยเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวถึง 81.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจากผลสำรวจความพึงพอใจ พบว่า

  • 68% ใช้แชทบอทเพื่อช่วยตอบคำถามที่ต้องการความรวดเร็ว
  • 75% ไว้วางใจแชทบอท ในการวางแผนที่พัก
  • 40% ของผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกา เชื่อคำแนะนำจาก AI 

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังมีข้อถกเถียงถึงการใช้ AI สร้างภาพลวงหรือละเมิดผลงานงานสร้างสรรค์ของศิลปินที่มีตัวตนจริง รวมถึงความกลัว และกังวลว่า AI จะเข้ามาแทน ”แรงงานมนุษย์“ หรือไม่

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการจัดอบรมหลักสูตร การประยุกต์ใช้ Gen-AI เพื่องานการท่องเที่ยวสมัยใหม่ Next-Gen Tourism : Unleashing Al’s Creative Potential โดยนักวิชาการด้านการจัดการท่องเที่ยว และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อทำความเข้าใจ และประยุกต์ AI กับการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีจริยธรรมในการใช้งาน

พฤทธิ์ พุฒจร อาจารย์ประจำศูนย์ความเป็นเลิศด้านปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีก่อกำเนิด สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เริ่มต้นด้วยการเล่าว่า ตนเองอยากเปลี่ยนความคิดจาก AI ที่หมายถึงปัญญาประดิษฐ์ เป็น IA หรือ ผู้ช่วยทางปัญญา เพื่อให้สังคมเกิดการมองเชิงบวกไว้ก่อน เนื่องจากปัจจุบันกำลังแรงงานมนุษย์ยังมีความสำคัญโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ AI จะเป็นอีกจุดเปลี่ยนการพัฒนาของโลกที่เข้ามาทำให้มนุษย์ทำงานง่ายมากขึ้น เช่น การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในรูปแบบคลิปวิดีโอ จากเดิมที่ต้องวางแผนถ่ายทำ จ้างนักแสดง ช่างภาพ ตัดต่อ ก็อาจลดลงเหลือแค่คอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต 1 เครื่อง กับผู้ใช้งาน 1 คน ที่สามารถระบุชุดคำสั่งที่ต้องการ Gen AI ให้เป็นภาพ ข้อความ เพลง ช่วยให้ประหยัดงบประมาณ หรืออาจช่วยลดเวลาการทำงานจาก 5 วัน เหลือ 3.5 วัน/สัปดาห์ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าแรงงานมนุษย์ยังมีความสำคัญ แม้บางตำแหน่งจะมีการจ้างงานที่ลดลง แต่อาชีพใหม่ที่อาศัยทักษะจะเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

อย่ากลัว AI จะมาทดแทนมนุษย์ แต่จงกลัวคนที่ใช้ AI เป็น จะมาแย่งงานคุณ เพราะถ้าเรามีทักษะก็จะสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตเช่นกัน ส่วนคนที่หวังพึ่งแต่ AI วันหนึ่ง อาจจะพบกับความผิดพลาดได้

สำหรับบทบาทของ AI ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการเดินทาง  หรือ CLEARS ประกอบด้วย

  • Creative content generation – สร้างคอนเทนต์ได้ด้วยตัวเอง
  • Language skills – เก่งภาษา ช่วยเขียนจดหมาย ตอบคำถามนักท่องเที่ยวทุกภาษา
  • Efficiency in operetions -พยากรณ์ คาดการข้อมูล แนวโน้มล่วงหน้า
  • Adaptive travel experiences – แนะนำการท่องเที่ยวให้น่าสนใจมากขึ้น 
  • Real-time assistance –  แชทบอทตอบคำถาม
  • Security – สังเกตเห็นความผิดปกติ เช่น การโอนเงิน การจองในระบบต่างๆ 

ขณะเดียวกันข้อควรระวังและถกเถียงในแวดวงงานศิลปะ งานออกแบบ ถึงจริยธรรมในการใช้งาน บอกว่า จำเป็นต้องคำนึงว่าอยู่ในธุรกิจ หรือหน่วยงานใด เช่น ถ้าเป็นหน่วยงานด้านศิลปวัฒนธรรมก็ควรใช้ภาพของศิลปินจริง ๆ หรือใช้ AI มาเป็นองค์ประกอบเสริมให้น้อยที่สุด หรือไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นด้วยการตัดต่อภาพ ซึ่งจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย PDPA ดังนั้น การใช้งาน AI ถือว่ามีความละเอียดอ่อน ผู้ใช้งานต้องศึกษาหรือมีหน่วยงานที่เชี่ยวชาญจัดการอบรม รวมถึงกำหมายที่เป็นการรับรู้ร่วมกัน ทำให้เกิดจิตสำนึก จริยธรรมในการใช้ เพื่อสร้างสรรค์ภาพลักษณ์เชิงบวกของประเทศ 

ด้าน ผศ.จิตศักดิ์ พุฒจร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่า ปัจจุบันใช้ AI แทบจะอยู่ในทุกห่วงโซ่การท่องเที่ยว เช่น ถ้าเป็นนักท่องเที่ยว สามารถขอข้อแนะนำจากระบบ AI ได้ ซึ่งทุกวันนี้มีหลายโปรแกรมเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ที่จะบอกว่ามีแหล่งท่องเที่ยวอยู่ที่ไหนบ้าง อัปเดตได้ว่ามีอะไรบ้าง ข้อระมัดระวังของการไปเที่ยว เตรียมตัวอย่างไร ขณะเดียวกันข้อต่อกลางของห่วงโซ่ คือ บริษัททัวร์ AI สามารถช่วยวิเคราะห์ว่า วันนี้กลุ่มคนเจเนอเรชันวายกังวลเรื่องอะไร เจเนอเรชันแซดให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรเพื่อเป็นความรู้ในระดับหนึ่ง ขณะที่ต้นทางผู้ประกอบการสามารถใช้ AI ในการช่วยออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ หรือการวางแผนการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ที่มีความเปราะบาง การจัดการท่องเที่ยวเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ เช่น คาดการณ์ล่วงหน้าในวันที่จะมีพายุเข้ามาสามารถจัดการท่องเที่ยวในส่วนไหนได้บ้าง เป็นต้น

ขณะที่การศึกษาข้อจำกัดของ AI กับการจัดการท่องเที่ยว คือ ความเข้าใจเนื้อหาที่มีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน เกี่ยวข้อกับกฎหมาย ความมั่นคง ที่ AI ยังต้องเรียนรู้หรือไม่ควรเรียนรู้, การสร้างสรรค์ที่ไม่ละเมิดผลงานคนอื่น, การนำเข้าข้อมูลที่มีอคติ (BIAS) ลำเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งโดยขาดจริยธรรม และที่น่ากลัวที่สุดคือการสร้างภาพลวง จากการเรียนรู้ของ AI ที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ ดังนั้นผู้ใช้และผู้รับสารต้องมีความเข้าใจพอสมควร

เมื่อถามว่าการท่องเที่ยวเที่ยวชุมชน จะสามารถประยุกต์ใช้ AI ได้อย่างไร ผศ.จิตศักดิ์ บอกว่า ทุกวันนี้ชาวบ้านสามารถใช้ AI กันเป็นอยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว ผ่านช่องทาง Tiktok, Facebook ว่าคนในโซเชียลวันนี้ไปกิน ไปเที่ยวแบบไหน ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีในการรวบรวม สร้างฐานข้อมูล เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จากเดิมที่เคยนำแชทบอทมาใช้ และมีความพยายามจะพัฒนาขึ้นไปอีก ดังนั้น หลายภาคส่วนที่ทำงานด้านการท่องเที่ยว ควรจะหันมาทำความเข้าใจ ศึกษาการใช้ AI ในการประชาสัมพันธ์เชิงรุกมาขึ้น 

ถ้าพูดถึงอาชีพอะไรกำลังมาในอนาคตใหม่ของการท่องเที่ยว ”นักออกแบบประสบการณ์“ มาแน่นอน จุดเด่นของอาชีพนี้คือถ้าเรารู้ว่าในพื้นที่มีของดีอะไรใส่เป็นฐานข้อมูลไว้ เมื่อคุยกับนักท่องเที่ยวที่ต้องการประสบการณ์ส่วนตัว แล้วใช้ AI เป็นตัวช่วยประมวลผลออกมาภายในเวลาไม่กี่นาที แนวโน้มการท่องเที่ยวเริ่มเป็นแบบนี้

จะเห็นได้ว่า AI เข้ามามีบทบาทสำคัญแทบจะในทุกห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวทดลองใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่หากศึกษาจากกรณีของ ChatGPT จะพบแนวโน้มที่น่าสนใจ คือ ในขั้นถัดไปจะเริ่มมีความผิดพลาดในการนำมาใช้งานสื่อสาร เกิดความกลัว กังวล แต่หากผ่านช่วงนี้ไปได้ จะเข้าสู่ขั้นถัดไปคือเริ่มเกิดการเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ จนมีทักษะที่เพียงพอ สามารถเข้าใจได้ว่างานประเภทไหน ควรหรือไม่ควรใช้ AI เป็นตัวช่วย 

แนวโน้มดังกล่าว อาจเป็นนัยสำคัญที่สะท้อนว่า “แรงงานมนุษย์” ยังเป็นผู้เล่นคนสำคัญในทุก ๆ ความก้าวหน้าของนวัตกรรม เทคโนโลยี ผ่านการเรียนรู้ เพื่อหาทางรับมือ มองเห็นเป็นโอกาสที่เป็นตัวช่วยให้สินค้า บริการ มีมูลค่าสูงขึ้น รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active