เตรียมยื่นข้อเสนอ นายกฯ พรุ่งนี้ หวังฟื้นคืนชีวิต เศรษฐกิจเชียงราย สร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว เสนอเยียวยาภาคธุรกิจ แรงงาน ที่ได้รับผลกระทบหนักจากภัยพิบัติ
วันนี้ (26 ก.ย. 67) ในวงหารือ “เสียงชาวเชียงรายหลังภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่เมืองเชียงราย“ โดยมีตัวแทนภาคเอกชน ภาคธุรกิจใน จ.เชียงราย เช่น หอการค้าจังหวัดเชียงราย, สมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดเชียงราย เพื่อระดมข้อเสนอถึง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีกำหนดการลงพื้นที่เชียงรายในวันพรุ่งนี้ (27 ก.ย. 67)
โดยเห็นตรงกันว่า ภาครัฐจะต้องเร่งฟื้นฟูพื้นที่ให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เปิดเมืองให้ทันฤดูการท่องเที่ยว 1 พ.ย. นี้ ซึ่งอยากเห็นการจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะต้องเร่งเคลียร์โคลน ขยะ ความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อสร้างความมั่นใจความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว
ภาคภูมิ ผลพิสิษฐ์ ประธานหอการค้า จ.เชียงราย เห็นว่า จะต้องแยกการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบออกมาให้ชัดเจน คือ
- บ้านเรือนของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งในเขตเมือง และ อ.แม่สาย
- คนในพื้นที่เศรษฐกิจ
- ผู้ที่ได้รับผลกระทบน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มบนเขตภูเขา
ทั้งนี้คาดว่า ภาพรวมเศรษฐกิจ ภาพรวมธุรกิจรายใหญ่จะฟื้นตัวได้เร็ว ใช้เวลา 3-6 เดือน แต่รายย่อย SME รวมทั้งชาวบ้าน เกินครึ่งที่ได้รับผลกระทบ ไม่มีกำลังพอที่จะกลับมาฟื้นตัว อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือธุรกิจรายย่อย โดยหาแหล่งเงินทุนให้สามารถเข้าถึงโดยไม่มีข้อจำกัด
“เพราะส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ หยุดกิจการ จะมีปัญหาเรื่องเครดิตบูโร หรือหยุดกิจการไปไม่มีรายได้ ไม่มีสเตจเมนต์ก็จะยื่นไม่ผ่าน จึงต้องลดทอนเงื่อนไขในด้านการช่วยเหลือ หลังจากประสบภัยพิบัตินี้“
ภาคภูมิ ผลพิสิษฐ์
ทั้งนี้ การที่ภาคธุรกิจและชาวบ้านจะฟื้นได้ รัฐต้องสนับสนุนให้ครอบคลุม ลดค่าน้ำ ค่าไฟแล้ว ต้องลดภาษีด้วย อย่างตอนโควิด ลดภาษีโรงเรือนช่วยผู้ประกอบการได้เยอะ
ที่สำคัญคือการช่วยนายจ้างดูแลแรงงานที่ต้องหยุดงาน เพราะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมดินโคลนถล่ม ต้องอุ้มแรงงานอย่างต่ำ 10 – 20 คน ซึ่งยังต้องจ่ายเงินเดือน และประกันสังคม ดังนั้นรัฐต้องมีมาตการพร้อมซัพพอตเรื่องเงินสมทบประกันสังคม และเมื่อฟื้นฟูแล้ว ต้องมีมาตรการสร้างแรงจูงใจต่อนักท่องเที่ยว เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน
ในมุมมองนักวิชาการ เช่น สืบสกุล กิจนุกร จากสำนักนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ย้ำว่า การจะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็ว ต้องจัดการขยะและโคลนให้หมด ซึ่งมีความจำเป็นต้องเร่งเก็บในเวลากลางคืน ล่าสุด หลังจากที่ได้นำร่องเก็บขยะในเวลากลางคืนที่เกาะลอยมาแล้ว ทางมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จะสนับสนุนเพื่อขยายการจัดการนี้เพิ่ม ซึ่งยิ่งถ้าได้ภาคเอกชน หลายฝ่ายมาช่วยกันระดม จะทำให้สามารถเปิดพื้นที่ คืนชีวิต เศรษฐกิจชาวเชียงรายได้ตามเป้าหมายที่หวังทันในฤดูท่องเที่ยว