หมอสุภัทรเชื่อ! แม้ชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านการก่อสร้าง แต่เป็นความกังวลต่อโครงการจะนะ ไม่ใช่โจมตีเจ้าแม่กวนอิม สัญลักษณ์ทางศาสนา ที่ผ่านมาพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ ค้านด้วยสันติวิธีและไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง
วันนี้ (20 พ.ย.67) เกิดเหตุระเบิดที่พักคนงานก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิม บ้านปากบางสะกอม ม.1 ต.สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา เบื้องต้นพบว่าเป็นการยิงด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด M 79 มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 3 คน เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
The Active สัมภาษณ์เพิ่มเติม นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา และยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” หรือโครงการจะนะ ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา มองถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงกับการก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิมครั้งนี้ โดยพื้นที่ที่เกิดเหตุเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมจะนะ ที่ชาวบ้านในพื้นที่มีการคัดค้านอย่างหนัก และมีจุดยืนมาโดยตลอดว่าพวกเขาไม่ต้องการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ไม่ยั่งยืนต่อทรัพยากรและคนในพื้นที่
นพ.สุภัทร ระบุว่า ในกลุ่มทำงานของคนที่อยู่ในพื้นที่ มีการพูดคุยและตั้งข้อสังเกตต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า มีความต่างจากการก่อความไม่สงบในชายแดนใต้ 2 ประเด็น คือ การแจกใบปลิวในจุดเกิดเหตุเป็นภาษาพม่า และการใช้อาวุธ ระเบิด RPG ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้ ไม่เคยเห็นใช้ในเหตุการณ์มาก่อน
“การระเบิดครั้งนี้ มีลักษณะแปลก ๆ สองสิ่งที่ไม่เคยเห็น จดหมายภาษาพม่า และ อาวุธที่ใช้ เราเห็นจากรูป ว่ามีอยู่รูปหนึ่งเหมือนระเบิดอาร์พีจี ไม่ใช่การวางระเบิดแบบปกติ ถ้าใช่ ก็เป็นพัฒนาการของการใช้อาวุธอีกแบบหนึ่งที่ไม่เคยเห็นในการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่”
ส่วนการระเบิดในพื้นที่ก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิม นพ.สุภัทร มองว่า จากที่ได้ตามอ่านข่าวและเห็นการแสดงความคิดเห็นบนโลกโซเชียล มีการโพสต์ในลักษณะที่สร้างความเกลียดชัง ไม่เห็นด้วย ไม่สุภาพกับคนในพื้นที่และมีลักษณะเชิงชาตินิยม ซึ่งเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สร้างความแตกแยกในพื้นที่ สร้างความเข้าใจผิดจากกคนไกลที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ทำให้ความรู้สึกต่อการแก้ปัญหาโดยสันติวิธีน้อยลง ทั้งที่ความจริงแล้วพี่น้องมุสลิมเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอุตสาหกรรมจะนะ ที่พวกเขามองว่าส่งผลต่อทรัพยากรและคนในพื้นที่ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนา หรือการท่องเที่ยวแต่อย่างใด
“คนมุสลิมในพื้นที่ กังวลในฐานะที่เป็นโครงการส่วนหนึ่งของนิคมฯ ไม่ได้กังวลเจ้าแม่กวนอิมในฐานะสร้างเจ้าแม่กวนอิม มิติทางศาสนา หรือการท่องเที่ยว อันนี้ต้องทำความเข้าใจให้ชัด ไม่งั้นจะกลายเป็นว่าพี่น้องมุสลิมบ้านเราหัวรุนแรง ไม่ยอมให้เกิดการพัฒนา หรือสร้างมิติศาสนาอื่นเลย ซึ่งไม่ใช่ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับศาสนา ในความรู้สึกของพี่น้อง”
สำหรับการก่อสร้างรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอุตสาหกรรมจะนะ และยังมีแผนจะก่อสร้างคอนโดฯ โรงแรมในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งพื้นที่ก่อสร้างดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ชุมชนมุสลิม ที่ผ่านมามีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งพยายามที่จะคัดค้านการก่อสร้างแต่ท้ายที่สุดก็แผ่วลงเนื่องจากชาวบ้านเห็นว่าเป็นสิทธิของนายทุนในการก่อสร้าง จนกระทั่ง 3-4 เดือนให้หลังเริ่มมีความคืบหน้าของการก่อสร้าง ลงเสาขนาดใหญ่ในพื้นที่แล้ว
ส่วนการก่อสร้างอุตสาหกรรมจะนะ ถูกยุติโครงการชั่วคราว โดยให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ก่อน หรือ SEA หลังชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวกันคัดค้านถึงทำเนียบรัฐบาล ช่วงปี 2563-2564 ซึ่งชาวบ้านมีจุดยืนต่อเรื่องนี้ว่า พวกเขาไม่ต้องการการพัฒนาที่ส่งผลต่อทรัพยากรและวิถีชุมชนโดยขาดการมีส่วนร่วม
แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการเคลื่อนไหว คัดค้านการก่อสร้างโครงการดังกล่าว แต่นพ.สุภัทร เชื่อว่าเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แนวทางและวิถีที่พี่น้องมุสลิมต้องการ เห็นด้วย หรือจะเป็นกลุ่มเดียวกัน เนื่องจากชาวบ้านที่เคลื่อนไหวในโครงการดังกล่าว ล้วนใช้วิธีการต่อสู้แบบสันติวิธีมาโดยตลอด มีหลายคนถูกจับดำเนินคดี แต่เหตุการณ์นี้กำลังสร้างความเข้าใจผิดต่อพี่น้องมุสลิมในพื้นที่
“ขบวนการต่อสู้เป็นการต่อสู้สันติวิธี แต่การก่อเหตุมีการสร้างความเข้าใจผิดว่าคนมุสลิมในพื้นที่ ชอบ เห็นด้วย หรือมีส่วนร่วมในการก่อความรุนแรงในครั้งนี้ ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้นเลย เขารู้ว่าการต่อสู้จะชนะ เขาต้องสู้บนหนทางสันติวิธี ไม่ใช่การใช้ความรุนแรง เราสู้ด้วยความชอบธรรมเท่านั้น จากเนื้อหาที่เรานำเสนอด้วยวิธีการสันติวิธี”