พม. จับมือสถานประกอบการ สร้างอาชีพเพื่อคนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง พบเกือบ 600 คน ได้รับโอกาส มีงานทำ มีรายได้ พร้อมตั้งทีมสหวิชาชีพประเมินศักยภาพ วางแผนฟื้นฟูรายบุคคล
สถานการณ์ ‘คนไร้บ้าน’ เกิดขึ้นทั่วโลกจากผลกระทบอย่างต่อเนื่องทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะจากวิกฤตโควิด – 19 หลายประเทศพยายามแก้ปัญหานี้ตามหลักสิทธิมนุษยชน พร้อมร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกเพื่อช่วยเหลือ ในขณะที่ไทย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลกลุ่มคนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่งโดยตรง ซึ่งเป็นบทบาทตาม พ.ร.บ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 โดยปัจจุบันมีคนไร้ที่พึ่งที่อยู่ในความคุ้มครองกว่า 4,500 คน ทั่วประเทศ ซึ่งถูกส่งต่อมาจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกลุ่มที่สิ้นสุดการรักษา ผู้พ้นโทษ สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยอาการทางจิต เป็นต้น ซึ่งหนึ่งในแนวทางเพื่อช่วยฟื้นฟูชีวิตให้กับคนกลุ่มนี้ คือ การให้โอกาสสร้างอาชีพ สร้างงาน
ล่าสุดเมื่อช่วงวันหยุดที่ผ่านมา พส. ลงพื้นที่ติดตามการจ้างงานคนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง ภายในพื้นที่สวนรถไฟ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการจ้างงานโดย บริษัท พนาทัศน์ จำกัด เพื่อดูแลความสะอาดภายในพื้นที่สวนรถไฟ
อนุกูล ปีดแก้ว อธิบดี พส. เปิดเผยว่า การจ้างงานคนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง ที่ผ่านมาได้ทำบันทึกความตกลงร่วมกันกับเอกชน ภาคีเครือข่ายสถานประกอบการจำนวนกว่า 284 แห่ง เพื่อหาแนวทางดูแลฟื้นฟูกลุ่มเปราะบางจิตเวช ให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้ และไม่เป็นภาระพึ่งพิง เป็นที่มาของการพัฒนาคนทุกช่วงวัย “สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้” ซึ่งปัจจุบัน มีคนไร้ที่พึ่งกว่า 597 คน มีอาชีพ มีรายได้ และพึ่งพาตนเองได้
เช่นเดียวกับความร่วมมือของ กรุงเทพมหานคร ที่ดูแลรับผิดชอบสวนรถไฟ และบริษัท พนาทัศน์ จำกัด ที่มอบโอกาสให้กลุ่มคนในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ได้ทำงานดูแลรักษาความสะอาด และความปลอดภัยภายในสวนรถไฟ ประกอบคนไร้ที่พึ่งที่อาจมีภาวะบกพร่องทางร่างกายและจิตใจ จำนวน 65 คน ได้รับการจ้างงาน ด้วยรายได้ขั้นต่ำ วันละ 331 บาทต่อคนต่อวัน หรือเดือนละกว่า 7,900 บาท ถือเป็นการให้โอกาส ด้วยการสร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อสร้างสังคมให้น่าอยู่ อีกทั้งเป็นการทำงานที่ใช้ธรรมชาติบำบัดสำหรับคนไร้ที่พึ่งอีกด้วย
“ขณะนี้มีคนไร้ที่พึ่งที่เป็นผู้ใช้บริการในหน่วยงานสังกัด พส. จำนวนกว่า 5,300 คน และในจำนวนนี้ ไม่ได้มีความพร้อมในการทำงานทุกคน เนื่องจากส่วนใหญ่ มีปัญหาสุขภาพกาย และสุขภาพจิต ทำให้การเตรียมความพร้อมมีความหลากหลาย และเงื่อนไขการรับสมัครงานของแต่ละสถานประกอบการส่งผลต่อการรับผู้ใช้บริการเข้าทำงาน เช่น ไม่มีวุฒิการศึกษา, ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน, ไม่มีสมุดบัญชีธนาคาร ทำให้มีผู้ใช้บริการที่มีความพร้อมในการทำงานเพียง 532 คน หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของจำนวนทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องมีทีมสหวิชาชีพร่วมกันประเมินศักยภาพและวางแผนฟื้นฟูรายบุคคล (Individual Rehabilitation Plan) และจัดกิจกรรมฟื้นฟูตามความเหมาะสม”
อนุกูล ปีดแก้ว อธิบดี พส.
ปัจจุบัน กระทรวง พม. โดย พส. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง กว่า 597 คน เข้าไปทำงานอยู่ใน 131 สถานประกอบการ โดยแบ่งออกเป็น 1. สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จำนวน 309 คน 2. ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิต จำนวน 127 คน และ 3. ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จำนวน 132 คน ภายใต้หลักคิดที่สำคัญ คือ การเล็งเห็นศักยภาพในทรัพยากรบุคคล และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งคนไร้บ้าน และคนไร้ที่พึ่ง ควรได้รับสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมกัน ทุกคนต้องมีสิทธิเข้าถึงการทำงาน และบริการภาครัฐได้
ขณะที่ แรมรุ้ง วรวัธ รองปลัด พม. บอกว่า จากการลงพื้นที่ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร ในปี 2565 พบคนไร้บ้านจำนวน 1,868 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากข้อมูลในปี 2562 ที่พบคนไร้บ้านจำนวน 1,033 คน สิ่งนี้สะท้อนถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด – 19 ที่ทำให้เกิดภาวะตกงาน ส่งผลให้คนไม่มีงานทำ ขาดรายได้ จึงไม่มีเงินจ่ายค่าที่พัก และถูกผลักดันออกมาในที่สุด จนเกิดปรากฏการณ์ “คนไร้บ้านหน้าใหม่” เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ปี 2565 กระทรวง พม. จึงได้บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อจัดบริการที่หลากหลายในการรองรับกับสภาพปัญหาและความต้องการ โดยกลุ่มคนไร้ที่พึ่งส่วนใหญ่ที่ถูกส่งต่อมาจากหน่วยงานอื่น และเข้าสู่การรองรับของสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 11 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ มีจำนวน 4,448 คน ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวง พม. ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยอมรับจะเข้าอยู่อาศัยในสถานที่ที่รัฐจัดให้ และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ หรือทุพพลภาพ โดยรัฐจะต้องไปบำบัด ฟื้นฟู และพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
นอกจากนี้ กระทรวง พม. โดย พส. ได้จัดจุดบริการเชิงรุกในพื้นที่ “จุดประสานงานคนไร้บ้าน” เป็นจุดบริการที่เป็นมิตร ให้บริการคัดกรองโควิด – 19 จัดหางาน ขึ้นทะเบียนคนพิการและผู้สูงอายุ เพื่อรับสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ บริการส่งกลับภูมิลำเนา และบริการตัดผม เป็นต้น โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีผู้มาใช้บริการกว่าเกือบ 2,000 คน ทั่วประเทศ อีกทั้งได้ปรับปรุงบริการ “โครงการนวัตกรรมการจัดบริการที่อยู่อาศัยและความช่วยเหลือฉุกเฉินบนฐานการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน” หรือ “โครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา ปรากฎว่า มีคนไร้บ้านสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 21 ห้อง 33 คน ด้วยรูปแบบการจ่ายเงินเพื่อเกิดความยั่งยืนของโครงการ และวางแผนขยายผลไปตามหัวเมืองรองอีก 4 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่, กาญจนบุรี, ขอนแก่น และปทุมธานี