หวัง ‘นวัตกรรมแก้จน’ หยุดวงจรหนี้ ยกระดับคุณภาพชีวิต กลุ่มเปราะบาง-คนจนเมือง

ภาคเอกชน องค์กรธุรกิจ ภาคประชาสังคม ร่วมชมนิทรรศการ ‘เท่าหรือเทียม’ สัมผัสเรื่องราวความจนผ่าน สารคดี คนจนเมือง 5 ซีซัน ชวนคุยแลกเปลี่ยนแนวทางนวัตกรรมแก้จน ค้นหาวิธีการใหม่ ๆ ทลายกับดักที่ซับซ้อนของปัญหาคนจนเมือง

ในช่วงบ่ายของวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ท่ามกลางผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ “เท่าหรือเทียม : เส้นทางความเหลื่อมล้ำ คนจนเมือง” ที่ The Active Thai PBS ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดขึ้น เพื่อสะท้อนเรื่องราวความจนในโอกาสครึ่งทศวรรษ สารคดี คนจนเมือง สู่ข้อเสนอ การแก้จนอย่างยั่งยืน ยังมีตัวแทนจากกลุ่มภาคธุรกิจ เอกชน และองค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาความจน นัดหมายกันมาชมนิทรรศการนี้เช่นกัน

หลังให้ความสนใจ และเยี่ยมชมส่วนต่าง ๆ ของนิทรรศการ จากนั้นทุกคนจึงได้มานั่งจิบกาแฟ ในบรรยากาศสบาย ๆ เป็นกันเอง ที่ร้านกาแฟภายในหอศิลป์ฯ โดยมีมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ชวนพูดคุยถึงบทบาทการทำงานของแต่ละภาคส่วน กับความพยายามค้นหานวัตกรรม หรือแนวทาง เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับคนจนเมือง ซึ่งถูกสะท้อนผ่านเรื่องราวทั้ง 5 ซีซัน ของสารคดีคนจนเมือง และได้นำมาถ่ายทอดในนิทรรศการ

รับรู้-รู้สึก เสียงจากนิทรรศการ ถึง คนจนเมือง

โดยเห็นตรงกันว่า ปัญหาคนจนเมืองเต็มไปด้วยความซับซ้อน มีกับดักเกิดขึ้นหลายชั้น แม้การแก้ปัญหาความยากจนมีกลไก มีนโยบายรัฐสนับสนุน แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าไม่สามารถทำได้จริง ยังมีปัญหาตกค้างจำนวนมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องออกแบบ คิดค้นนโยบาย หรือวิธีการใหม่ ๆ เข้ามาแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ตัวแทนภาคธุรกิจ เอกชน และองค์กรที่ทำงานแก้ปัญหาความยากจน ร่วมแสดงความเห็นหลังชมที่ร่วมชมนิทรรศการ เท่าหรือเทียม โดยส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า เรื่องความจนเป็นสิ่งที่ทราบอยู่แล้ว แต่พอได้เห็นได้สัมผัสจากนิทรรศการ ยิ่งทำให้เกิด Impact ว่าความจนใกล้ตัวเราทุกคน ซึ่งทุกอย่างสามารถเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับเคสในสารคดี

ขณะเดียวกัน ยังเกิดคำถามตามมามากมาย เช่น ทำไมพวกเขาหางานทำไม่ได้ ? ทำไมเข้าไม่ถึงการศึกษา ? ทางเดินมันยังขาดทางออก หาทางออกไม่ได้เลย

บางคนรู้สึกสะเทือนใจ กับปัญหาสังคมที่ซ่อนอยู่ และยังพอทำให้รู้สึกได้ว่าตัวเองจะมีส่วนช่วยอะไรเพื่อแก้ปัญหาความจนได้บ้าง นอกจากนั้น มีบางคนที่เห็นว่า นิทรรศการได้สะท้อนถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ถือเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงวิกฤตของชีวิตใครหลาย ๆ คน เพราะหากเผชิญความเจ็บป่วย หรือเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น จะยิ่งทำให้เราเข้าสู่วงจรความจนได้ง่าย ๆ

ขณะที่ในวงพูดคุย Mini Forum หลายคนได้แสดงความเห็น บทบาท และพยายามค้นคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาคนจนเมือง

หนุนเสริมสร้างการเติบโตของเด็กอย่างมีคุณภาพ

ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ระบุถึงประเด็นสวัสดิการเด็ก ว่า ปัจจุบันสถานรับเลี้ยงเด็กปฐมวัยของภาครัฐ รับเด็กอายุ 2 ขวบครึ่ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับสวัสดิการที่พ่อแม่ได้รับ คือสามารถลาเลี้ยงลูกได้เพียง 3 เดือน จึงมีแนวคิดในการสนับสนุนให้ชุมชนเข้มแข็ง ให้ชาวบ้านเปิดบ้านรับเลี้ยง เป็นที่ปรึกษา และรับเลี้ยงเด็ก พร้อมกับเปิดศูนย์อบรมครู ทั้งครูของรัฐและเอกชน เพื่อแก้ปัญหาครูทำร้ายเด็ก ผ่านโครงการ “ครูดีในใจเด็ก” เพื่อให้ครูรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้นในการทำงานดูแลเด็ก

ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์ฯ

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ กำลังหาทางออกเรื่องสวัสดิการเด็กถ้วนหน้า อยากให้ภาครัฐดูแลตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ และการเลี้ยงเด็ก 1 คนใช้เงินเฉลี่ย 3,000 บาทต่อเดือน ย้ำว่า “ไม่อยากให้มองว่าเด็กคือเรื่องส่วนตัว แต่ให้มองว่าเขาคือนาคตของชาติ” แน่นอนว่าโครงการที่มูลนิธิฯ ดำเนินการ ไม่สามารถทำได้ทั่วประเทศ

จึงเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในต่างจังหวัด หรือ กรุงเทพมหานคร ที่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอยู่ในความดูแล ปรับเปลี่ยนการรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปีด้วย เพื่อสนับสนุนการทำงานของพ่อแม่ และส่งเสริมการเติบโตที่มีคุณภาพ

“เรื่องการสื่อสารสำคัญมาก เพื่อให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของเด็ก ทั้งเด็กไทย และลูกแรงงานข้ามชาติ ที่ต้องได้รับการดูแลในช่วง 6 ขวบปีแรก รัฐต้องสนับสนุนเชิงนโยบาย เรื่องการรับเด็กที่อายุน้อยลง การรับส่งต้องตรงกับวิถีการใช้ชีวิตและการทำงาน พรรคการเมืองควรเห็นความสำคัญ และมีนโยบายเรื่องนี้ เพราะเด็ก 42 ล้านคน มีความสำคัญเป็นกำลังของประเทศ”

ศีลดา รังสิกรรพุม

นวัตกรรม ‘แก้หนี้เสีย’ หยุดวังวน วงจรหนี้

ภูมิ วิสิฐนรภัทร ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนา Noburo Platform มองว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นหนี้เสียจำนวนมากถึง 1.2 ล้านล้านบาท มีคนเป็นหนี้เสีย 5 ล้านคน คือ หยุดจ่ายมาแล้วเกิน 90 วัน คนกลุ่มนี้จะเข้าถึงสถาบันการเงินไม่ได้ จะถูกฟ้องศาล และยังมีกลุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยรายวัน หนี้ของข้าราชการที่ไม่ได้กู้กับสถาบันการเงิน เป้าหมายขององค์กรคือ อยากเห็นคนไทยจัดการหนี้ได้ ไม่ใช่ไม่มีหนี้ แต่สามารถจัดการหนี้ได้อย่างมีความสุข มีเงินเก็บหลักแสน

ภูมิ วิสิฐนรภัทร ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนา Noburo Platform

โดย ทาง Noburo ได้ทำงานกับพนักงานกลุ่มปฏิบัติการ เพื่อหาทางไม่ให้กลับไปเป็นหนี้อีก และต้องมีเงินเก็บ โดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่า “เรามาอยู่ในจุดนี้ได้อย่างไร ?” เพราะระบบการศึกษาไม่ดีหรือ ? ระบบหลักประกันสุขภาพไม่ดี ? สถาบันการเงินปล่อยกู้ง่าย ? คนไทยขาดความรู้ ? หรือรสนิยมอวดหรูในโซเชียล ?

ภูมิ ยังระบุว่า จากการทำงานกับแรงงาน พบว่า หนี้เกิดจากความรัก ความโลภ ความไม่รู้ พบว่ามีชีวิตแบบ “แซนด์วิชเจเนอเรชัน” ต้องดูแลทั้งลูกและพ่อแม่ผู้สูงอายุ ทำให้ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของทั้ง 2 ช่วงวัย, มีหนี้จากการค้ำประกันเงินกู้ให้เพื่อน, หนี้จากการเล่นพนัน, หนี้จากพฤติกรรม เช่น ใช้ก่อนผ่อนทีหลัง เที่ยวก่อนผ่อนทีหลัง รายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ดื่ม ซื้อหวย ขาดความสามารถในการชำระหนี้ กลายเป็นระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจ

การทำงานของ Noburo จึงเน้นสร้างองค์ความรู้และเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม มีเวิร์กชอป “ความรู้ คู่ทุน” เปิดใจพนักงานให้คุยกัน เกิดความเชื่อใจว่า “เราจะเข้าไปแก้หนี้ให้ได้” พร้อมกิจกรรม “ฝึกฝัน” ให้คิดถึงความฝันตอนมาทำงานใน กทม. ว่า ทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ หรือกลายเป็นหนี้จนกลับบ้านไม่ได้

“เราสัมภาษณ์และรวบรวมหนี้ทั้งหมด ใส่ในแอปพลิเคชัน วางแผนปิดหนี้ในระบบ เพราะหนี้ไม่สามารถแก้ได้ในวันเดียว ต้องเรียน ส่งการบ้าน ทบทวนรายรับรายจ่าย เพื่อฝึกวินัย สร้างเจตจำนงให้หารายได้มากกว่ารายจ่าย”

ภูมิ วิสิฐนรภัทร

ภูมิ ยังบอกอีกว่า ได้จับมือกับองค์กรช่วยเหลือในการให้สินเชื่อ ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา มีองค์กรร่วมกว่า 200 แห่ง ปีล่าสุด รีไฟแนนซ์หนี้นอกระบบได้แล้ว 50 ล้านบาท พร้อมเสนอให้มีความรู้เรื่องการเงินในโรงเรียน และเตือนว่า

“ก่อนจะผ่อน 0% ถามตัวเองก่อนว่า มีเงินฉุกเฉิน 6 เดือนหรือยัง ?”

ภูมิ วิสิฐนรภัทร

สอดคล้องกับ อารยา ทองโสภา เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า พนักงานไม่มีความสุขจากการมีหนี้ และพยายามขอคำปรึกษา ได้ทำโครงการร่วมกับ Noburo และมูลนิธินวัตกรรมฯ คือ ไม่ได้ให้เงินไปใช้หนี้ แต่ใช้แพลตฟอร์มในการเรียนรู้การวางแผนการเงิน มีพี่เลี้ยงช่วยคิด

อารยา ทองโสภา เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ บริษัท สตาร์เฟล็กซ์ จำกัด (มหาชน)

อารยา ระบุจากการสำรวจความเห็น พบว่า พนักงานหลายคนไม่กล้าเปิดใจว่ามีหนี้เท่าไร หนี้มาจากอะไร จึงมี “พี่เลี้ยงทางการเงิน” ที่พูดคุยอย่างเข้าใจ เพื่อให้กล้าเปิดใจ และสามารถ MOU กับสถาบันการเงิน ที่ให้ดอกเบี้ยต่ำ ในการนำไปบริหารจัดการใช้หนี้ 

“การเปลี่ยนพฤติกรรมคือกุญแจสำคัญ บางคนปลดหนี้และไม่มีหนี้หลังเกษียณได้จริง บริษัทไม่ได้วัดความสำเร็จจากกำไร แต่จากความสุขของพนักงาน เพราะหนี้ไม่กระทบแค่พนักงาน แต่ส่งผลถึงครอบครัว”

อารยา ทองโสภา

‘แรงงานข้ามชาติ’ ความจนที่ไร้ทางเลือก

ขณะที่ ไลลา ตาเฮ เจ้าหน้าที่ บริษัท ปั้นเมือง จำกัด ให้ความเห็นถึงประเด็นแรงงานข้ามชาติกับชีวิตในเมือง โดยหยิบยกเรื่องราวของ “ตาไหม” จากสารคดีคนจนเมือง ว่า ซอกหลืบของตึกที่ลึกกว่านั้น ที่ตาไหมต้องเดินทางเข้าไปเพื่ออาศัยอยู่ รู้ไหมว่าที่นั่นมีห้องเช่ากว่า 200 ห้อง เส้นทางเดินเข้าไปเล็กแค่คนเดินสวนได้ ตึกที่แสงเข้าไม่ถึง ห้องน้ำรวม นั่งยอง ในค่าเช่า 5,000 บาท ห้องหนึ่งอยู่มากสุด 7 คน เป็นใครคงไม่คิดจะเช่า แต่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะอยู่ตรงนั้น เพราะอยู่ใกล้กับที่ทำงาน เพราะต้องประหยัดต้นทุน เพราะไหนจะการลงทุนที่กว่าจะได้เข้ามาทำงาน ที่ต้องจ่ายนายทุนเพื่อเข้ามาทำงานโดยที่ไม่มีทางเลือก

ไลลา ตาเฮ เจ้าหน้าที่ บริษัท ปั้นเมือง จำกัด

 ไลลา ยังเล่าว่า จากการสำรวจ พบกรณีแรงงานข้ามชาติ ที่เดินทางเข้ามาแบบอิสระผ่านเอเจนซี่ มีการทำเวิร์คเพอร์มิต แต่ไม่รู้เลยว่าได้รับสวัสดิการ การดูแลอะไรบ้าง ที่สำคัญข้อมูลเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทุกปี แรงงานข้ามชาติยังมีเรื่องของภาษาเป็นกำแพง สิ่งที่เขาเสียไปคือ ประกันสุขภาพ แต่ไม่บอกรายละเอียดเลยว่าใช้สิทธิได้ที่ไหน เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีสิทธิ ด้วยภาษาทำให้เขาไม่กล้าไปโรงพยาบาล ไม่กล้าลางานเพราะหวั่นกระทบกับการจ้างงานที่ไม่มั่นคง อีกประเด็นสำคัญที่อยากสื่อสาร คือ ห้องเช่าที่อยู่ไม่มีพื้นที่สาธารณะในการพักผ่อนหย่อนใจ ทางออกคือ นั่งล้อมวงดื่ม จนเสียสุขภาพ 

‘ยืมอุปกรณ์การแพทย์’ ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย

พันโท พันธุ์พิสิฐ ม่วงประเสริฐ หัวหน้าแผนกสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า บอกว่า จากปัญหาคนไข้ที่ต้องไปพักรักษาตัวต่อที่บ้าน จึงมีโครงการ “เราปันกัน” ให้ยืมอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้ผู้ป่วยยากไร้ยืมฟรี โดยให้มีใบรับรองแพทย์ว่าจำเป็นต้องใช้ เพื่อให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น ลดค่าใช้จ่าย ลดอัตราการครองเตียงในโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ลดภาระงานของอุปกรณ์ทางการแพทย์ ลดความเหลื่อมล้ำเรื่องสุขภาพ

พันโท พันธุ์พิสิฐ ม่วงประเสริฐ หัวหน้าแผนกสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

โดยโครงการเริ่มมาตั้งแต่ เม.ย. 2567 เริ่มแรกอุปกรณ์ทางการแพทย์มีน้อย จึงได้รับการสนับสนุนจาก BOI โดย มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ทำให้ตอนนี้มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพียงพอต่อความต้องการ โดยมีนักสังคมที่คอยคัดกรองลำดับความต้องการ ทำให้คนไข้ที่ต้องการได้เข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ และมีคนมาบริจาคในนามบุคคลมากขึ้น

“ค่ารักษาพยาบาลฟรี แต่ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่ฟรี การบริหารจัดการ มีการให้คำแนะนำการใช้อุปกรณ์ เมื่อคนไข้มาคืนอุปกรณ์มีการคาลิเบรตเครื่องเพื่อให้พร้อมใช้งานกับคนถัดไป และมีการขอรับบริจาคผ่านมูลนิธิโรงพยาบาล เพื่อนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ เนื่องจากคนไข้เยอะมาก มีการสร้างกลุ่มไลน์เพื่อให้อัปเดตสภาพอุปกรณ์ หรือสอบถามว่าอุปกรณ์หมดความต้องการใช้หรือไม่”

พันโท พันธุ์พิสิฐ ม่วงประเสริฐ

อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอว่า อุปกรณ์ทางการแพทย์มีอายุการใช้งาน ต้องการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

อภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม

อภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวถึง มาตรการส่งเสริมเพื่อการลงทุนเพื่อชุมชน สังคม ของ BOI ที่ให้สิทธิประโยชน์ในเรื่องภาษีกับหน่วยงานเอกชน โดยนำเงินที่จะต้องจ่ายภาษีไปทำเพื่อชุมชนสังคม ในหลากหลายด้าน เช่น การรักษาพยาบาล, การศึกษา, สิ่งแวดล้อม ซึ่งมูลนิธิฯ เห็นมาตรการที่ดีขนาดนี้ ต้องมีการขยายผล ทั้งนี้คุณสมบัติบริษัทต้องเป็นไปตามที่เงื่อนไขของ BOI กำหนด

ปัจจุบันสิทธิประโยชน์ในบางส่วนเพิ่มขึ้น บางส่วนลดลง ตามความเหมาะสมและความต้องการ ซึ่งตอนนี้อยากให้เศรษฐกิจชุมชน สิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงคงสิทธิประโยชน์ให้มากอยู่ แต่ในเรื่องพยาบาลที่มีคนสนใจลดลง เนื่องจากมีคนบริจาคเยอะ ปัจจุบันมีการสนับสนุน 1,000 ล้านบาท

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active