ชวนทุกฝ่ายร่วมลงทุน ระดมทรัพยากร หยุดส่งต่อความจน สู่ คนรุ่นลูก-หลาน

‘ปธ.กก.มูลนิธิเพื่อคนไทย’ ย้ำ แก้แบบประคับประคองไม่พอ ต้องตั้งเป้าให้ตัวเลขลดลง เชื่อเป็นความท้าทาย ต่างคนต่างทำแก้ไม่ได้ ต้องบูรณาการความร่วมมือ จัดการเป็นระบบ เอาชนะปัญหาให้จบ ยกนิทรรศการ ‘เท่าหรือเทียม’ ทำหน้าที่สร้างความเข้าใจ หวังเป็นจุดเริ่มต้นชวนทุกคนช่วยกันแก้ไขปัญหาคนจนเมือง

ในวันที่ 5 ของนิทรรศการ “เท่าหรือเทียม : เส้นทางความเหลื่อมล้ำ คนจนเมือง” ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ยังคงมีประชาชนให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา มีเครือข่ายคนทำงานภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐ เข้าชมนิทรรศการ ที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านการนำเสนอจากสารคดี คนจนเมือง ทั้ง 5 ซีซัน

ภายในนิทรรศการ ยังได้พาผู้เข้าชมสัมผัสกับมิติความเหลื่อมล้ำ ที่คนจนต้องเผชิญในทุกช่วงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของที่อยู่อาศัย การศึกษา โอกาสทางอาชีพ ความเจ็บป่วย ไปจนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ฝังรากลึก

ในช่วงของการเยี่ยมชมภาพถ่ายคนจนเมือง เสกสรร รวยภิรมย์ จาก มูลนิธิสติ (SATI Foundation) รู้สึกสะดุดตากับภาพของ “ตาไหม” ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกนำเรื่องราวชีวิตมาสื่อสาร ในสารคดี คนจนเมือง เขาเล่าว่า ก่อนหน้านี้ได้เคยทำงานช่วยเหลือครอบครัวตาไหม มาราว 10 ปี เริ่มจากหัวลำโพง ที่มีคลินิกให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพและสุขภาพจิต ซึ่งทุก ๆ สัปดาห์ ก็จะเห็น ลูกสาวตาไหม เข้ามาปรึกษาเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิต เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้รู้จักกับลูกของเขา 2 คน และหลานตาไหม โดยตาม ทฤษฎี Nature vs Nurture คือ ต้องเชื่อว่าตามสภาพแวดล้อม หรือ ครอบครัวที่เกิดมา เป็นสิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้ แต่สิ่งที่สนับสนุนได้คือต้องแก้เรื่องสิ่งแวดล้อม มอบการศึกษาให้ ดูแลสุขภาพ จึงพยายามหาที่ให้หลาน ๆ ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนประจำแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด

เสกสรร รวยภิรมย์ จาก มูลนิธิสติ (SATI Foundation)

“ตอนแรกมาเห็นในนิทรรศการ ก็ตกใจว่าเป็นภาพของคนที่รู้จัก คิดว่าสิ่งนี้เป็นการสร้างการรับรู้ ให้คนได้มาดูภาพ ดูเนื้อหาจากนิทรรศการได้เปิดมุมมอง เป็นเรื่องที่ดีอย่างมากเลย”

เสกสรร รวยภิรมย์

เสกสรร ยังเชื่อว่า สิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันคือ การศึกษา จะช่วยแก้ปัญหาได้ ทั้งเรื่องสุขภาพจิต สุขภาพกาย ช่วยให้มีอนาคต มีโอกาสทำมาหากิน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ เรื่องต่อมาคือ เมตตา ทุกคนมีปัญหากันหมด แต่ปัญหามีความแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากการเรียน ปัญหาครอบครัว การทำงาน การที่เราได้เห็นแล้วมีความเมตตากับคนอื่น เชื่อว่าจะทำให้โลกของเราดีขึ้นได้ 

ภายหลังเยี่ยมชม สัมผัสความรู้สึก เรื่องเล่าคนจนเมืองจากนิทรรศการ ทุกฝ่ายยังได้ร่วมกันตั้งวงพูดคุย สะท้อนบทบาท หน้าที่การทำงานในประเด็นการแก้ไขปัญหาความจน เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนและเป็นรูปธรรม

วิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย เปิดเผยถึงโจทย์สำคัญของการพูดคุยครั้งนี้ โดยเชื่อว่า ผู้ที่มาร่วมงานนิทรรศการเท่าหรือเทียม ส่วนใหญ่มีความเข้าใจ และทำงานในประเด็นการร่วมกันหาทางออกจากความยากจนอยู่แล้ว และเป็นผู้ที่มีพื้นฐานสำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง แต่จะทำอย่างไรให้คนอีกส่วนที่เหลือ ได้เข้าถึงและรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ เพื่อร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กัน

ทั้งนี้ข้อมูลจากในนิทรรศการ มีสถิติหนึ่งที่ชี้ว่า 65% ของกลุ่มคนยากจน ลูกหลานจะเติบโตขึ้นเป็นคนยากจน ขณะที่อีก 35% สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้ หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ จะต้องใช้เวลาอีกกี่ชั่วอายุคน กว่าความยากจนจะหมดไป คาดว่าจะใช้เวลากว่า 100 ปี ดังนั้นทุกฝ่ายที่มาในวันนี้ก็ปรารถนาที่จะเห็นตัวเลข 65% ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

“แม้ผมอาจจะไม่ได้เห็นวันที่ตัวเลขลดลงเหลือ 0 หรือใกล้ 0 แต่ก็หวังว่าจะได้เห็นการลดลงอย่างมีสาระสำคัญ”

วิเชียร พงศธร

อีกปัจจัยหนึ่งคือ ตัวเลขเกี่ยวกับความยากจนที่เส้นแบ่งรายได้ 3,000 บาท ต่อครัวเรือน แต่ในความเป็นจริงยังมีกลุ่มที่เกือบจะยากจนอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนจนเมือง ซึ่งรัฐบาลมักไม่ต้องการเพิ่มจำนวนตัวเลขคนยากจน ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจทำให้คนจนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก ข้อเสียคือจำนวนคนรวยมีน้อยแต่คนจนมีมาก

วิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย

วิเชียร จึงชี้ว่า ขนาดของปัญหาความจนนั้นใหญ่มาก นิทรรศการได้สะท้อนให้เห็นภาพว่าไม่ใช่เพียงแค่ปัจจัย 4 ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีได้ แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าเดินทาง เชื่อว่า 3,000 บาทก็ไม่เพียงพอ หรือ ค่าเดินทางเพื่อไปรับบริการบัตรทอง หรือหากป่วยหนัก ก็ยังคงมีค่าเดินทางของคนที่ต้องพาไป เมื่อการเจ็บป่วยต้องมีคนดูแลก็จะเกิดเป็นภาระของคนที่ต้องดูแลอีกทอด นิยามของความยากจนจึงน่าจะหนักกว่าที่เรามองเห็นอยู่

ปธ.กรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย บอกด้วยว่า คนจนเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่รองลงมา คือกลุ่มที่มีสัดส่วนความยากจนมากที่สุดในประเทศ ทั้งที่ความมั่งคั่งในระบบเศรษฐกิจกลับกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่เหล่านี้ จะทำอย่างไรให้เด็กที่เกิดมาวันนี้สามารถหลุดพ้นจากวงจรความยากจนได้ ทั้งในด้านการศึกษาและสาธารณสุข 

แต่ความท้าทายคือจำนวนคนเป็นล้านหากต่างคนต่างทำคงไม่เพียงพอ วิเชียร จึงเสนอว่า ควรบูรณาการเครื่องมือต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อเอาชนะปัญหา ซึ่งวันนี้มีเพียงแค่ประคับประคอง และเชื่อว่าหลายฝ่ายทำได้ดีอยู่แล้ว แต่หากสร้างเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น จากทรัพยากรที่มีอยู่ และต้องหาวิธีนำทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้แก้ปัญหา จึงอยากเชิญชวนให้ภาครัฐเข้ามาลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน เพื่อความมั่นคงของสังคม

“ต้องขอบคุณ The Active Thai PBS ที่จัดงานในวันนี้ ต่อเนื่องจากสิ่งที่พยายามทำมาหลายปี ในเรื่องปัญหาความยากจน คนจนเมือง สิ่งที่ได้มาเห็นในวันนี้ นอกจากกระบวนการเล่าเรื่องในนิทรรศการ เป็นเรื่องที่เราพบเจอได้ในสังคม แต่อาจไม่ได้สังเกตเห็น นิทรรศการนี้มาทำหน้าที่ถ่ายทอด สร้างความเข้าใจให้คนที่มาสัมผัส นำไปสู่การช่วยกันแก้ไขปัญหาใหญ่นี้”

วิเชียร พงศธร

วิเชียร ยังบอกด้วยว่า จากการได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม หน่วยงานรัฐ ภาคสาธารณสุข เป็นโอกาสที่ได้ระดมความคิด ไม่ได้แค่มารับรู้ แต่มาร่วมหาทางออกไปด้วยกัน ซึ่งปัญหานั้น “ใหญ่เกินตัว” สำหรับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะทำโดยลำพัง

“ชัดเจนว่า การจะเอาชนะ คือ บูรณาการความร่วมมือ และจัดการอย่างเป็นระบบ ระดมทรัพยากรเพื่อมาแก้ปัญหาเหล่านี้ เราไม่อยากให้สภาพการเป็นครอบครัวเปราะบาง สภาพของการเป็นคนจน คนจนเมือง มันสืบทอดต่อไปรุ่นลูกหลาน เราต้องการให้มันจบในอนาคตที่เรามองเห็น

วิเชียร พงศธร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active