ทลาย ‘กรอบ’ และ ‘กรง’ ที่สังคมสร้างเพื่อกักขัง ‘คนจน’ : บทสรุปครึ่งทศวรรษ สารคดี ‘คนจนเมือง’

สารคดี ‘คนจนเมือง’ ตลอด 5 ซีซัน 27 ตอน ได้พาผู้ชมสำรวจจักรวาลความเหลื่อมล้ำที่ซ่อนอยู่ในทุกมุมเมืองใหญ่ โดย บทส่งท้าย : ครึ่งทศวรรษ “คนจนเมือง” ส่วนหนึ่งใน Policy Forum “คนจนเมือง : เส้นทางหลุดพ้นความเหลื่อมล้ำ” เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2568 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

สำหรับข้อสรุปจากเวทีดังกล่าว ตอกย้ำว่า ความจนไม่ใช่เรื่องปัจเจก แต่เป็นผลพวงของโครงสร้างและวัฒนธรรมที่ทำให้คนจนต้องอยู่ใน ‘กรอบ’ และ ‘กรง’ แห่งความเปราะบาง เสี่ยงภัย และไร้ทางเลือก ขณะที่สังคมเคยชินกับการช่วยเหลือแบบเวทนานิยม โดยมองข้ามรากเหง้าของปัญหา สารคดี คนจนเมือง จึงไม่ใช่แค่การบันทึกหลักฐานแห่งความเหลื่อมล้ำ แต่เป็นการตั้งคำถามต่อมายาคติ และชวนขยับจากความสงสารไปสู่การเสนอทางออกเชิงนโยบายด้วยความเห็นอกเห็นใจในฐานะมนุษย์ร่วมชาติ

สื่อจึงมีบทบาทสำคัญในการทำลายมายาคติ และสร้างพื้นที่ให้คนจนเมืองได้มีเสียงในสังคม ทั้งนี้สื่อไม่ควรเล่าเรื่องความจนเพียงเพื่อเรียกความเห็นใจ แต่ต้องเป็นเครื่องมือเปิดโปงโครงสร้างที่กดทับคน จนไปถึงการหนุนเสริมพลังและสร้างโอกาสให้พวกเขามีชีวิตที่สมศักดิ์ศรี เพราะหนทางสู่ความเสมอภาคต้องอาศัยไม่เพียงนโยบาย แต่ต้องใช้หัวใจและความกล้าหาญทางการเมือง และสื่อควรเป็นส่วนหนึ่งของพลังเปลี่ยนแปลงนั้นด้วยเช่นกัน

กับดักความเห็นอกเห็นใจ ไปไม่ถึงการแก้ไขเชิงนโยบาย

ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ หัวหน้าโครงการวิจัยชุด “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ย้ำว่า สารคดีคนจนเมือง เป็นความพยายามสำคัญในการกระตุกสังคมไทยให้เห็นถึงกรอบความคิด และโครงสร้างอำนาจที่กดทับคนจนเมืองมายาวนาน ทั้งการจัดลำดับชนชั้น การผลักภาระปัญหาสังคมเป็นเรื่องของปัจเจก และการสร้างพื้นที่แห่งความเมตตาเฉพาะรายที่ทำให้สังคมมองข้ามปัญหาเชิงโครงสร้าง

ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ หัวหน้าโครงการวิจัยชุด “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง”

แม้สังคมไทยจะมีความพร้อมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แต่กลับถูกจำกัดด้วยโครงสร้างอำนาจที่ฝังรากมานาน ทั้งจากศาสนา วัฒนธรรม และระบบเศรษฐกิจ ทำให้ผู้คนยังติดกับดักความเห็นอกเห็นใจเชิงปัจเจก ไม่สามารถก้าวไปสู่ความเข้าใจในระดับโครงสร้างได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อชีวิตของคนจนเมืองที่ต้องเผชิญกับความเปราะบางทางเศรษฐกิจและโอกาสในการใช้ชีวิต

ศ.อรรถจักร์ ยังย้ำอีกว่า ความสำคัญของสารคดีคนจนเมือง ไม่ได้อยู่ที่การเล่าเรื่องว่าชีวิตคนจนที่จะต้องสู้แบบเดิม แต่ยังขยายให้เกิดความเห็นอกเห็นใจในสังคม (Empathy) ที่เข้าใจเงื่อนไขความไม่เสมอภาคของระบบ และก้าวข้ามความรู้สึกแบบสงสารเพียงเพื่อเยียวยาเฉพาะราย โดยหวังให้ผู้ชมจำนวนหนึ่งเริ่มตั้งคำถามต่อโครงสร้างอำนาจและความเหลื่อมล้ำได้มากขึ้น สารคดี คนจนเมือง จึงไม่ได้เป็นเพียงหลักฐานของความเหลื่อมล้ำ แต่สะท้อนพลังของคนที่ไม่ยอมแพ้ต่อกรอบทางวัฒนธรรม สู่ความหวังที่จะหลุดจาก “จักรวาลความจน” ซึ่งต้องเปลี่ยนวิธีคิดของสังคม จาก Sympathy ไปสู่ Social Empathy เพื่อมองเห็นความยุติธรรมร่วมกัน

ผู้คนในสารคดีคนจนเมือง ไม่ยอมแพ้ต่อการกดทับ หลายตอนอาจจะบ่นอย่างน้อยเนื้อต่ำใจ แต่ทุกคนพยายามต่อสู้ เพื่อก้าวข้ามพรมแดนทางวัฒนธรรมนี้ สังคมไทย ต้องการแรงปรารถนาที่แรงกล้ามากขึ้นในการทําให้สังคมมองเห็นซึ่งกันและกันเพื่อให้โอกาสของผู้คนในการเลือกเดินทางชีวิต เพื่อให้สังคมไทยสามารถดึงคุณค่าของผู้คนหลายสิบล้านเข้ามาร่วมสร้างสรรค์สังคมด้วยกัน”

ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

ศ.อรรถจักร์ ยังเสนอว่า การทำงานเชิงสื่อสารในอนาคตต้องขยับจากการนำเสนอชีวิตคนจนไปสู่การเผยให้เห็นจักรวาลของความจนและกลไกตลาดที่ซับซ้อน รวมทั้งสร้างความรู้เพื่อสนับสนุนการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ ให้สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง เช่น ระบบราชการที่ต้องเปลี่ยนบทบาทใหม่, การสนับสนุนเศรษฐกิจนอกระบบ และการเสริมสร้างทางเลือกให้ชีวิตคนจนมากกว่าการเน้นอัพสกิลเพียงอย่างเดียว

ในช่วงท้าย ศ.อรรถจักร์ ได้ฝากข้อคิดว่า หากสังคมไทยจะก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำได้ จำเป็นต้องปลุกแรงปรารถนาใหม่ให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้คน และสร้างสังคมที่มองเห็นและยอมรับคุณค่าของกันและกันอย่างแท้จริง เพื่อให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างเสมอภาค พร้อมขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมผลักดัน และเชื่อมั่นในพลังของการสร้างสรรค์สังคมผ่านงานวิจัยและสื่อสารสาธารณะ

ความยากจนเป็นเรื่องของคนทั้งสังคม ต้องอาศัยทุกคนช่วยแก้ไข

วิเชียร พงศธร ประธานมูลนิธิเพื่อคนไทย ระบุว่า ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องของคนทั้งสังคม โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีทรัพยากรและองค์ความรู้ ควรมีบทบาทมากกว่าการสร้างผลกำไรเพียงอย่างเดียว เพราะหากปล่อยให้คนส่วนใหญ่ของประเทศขาดโอกาส ย่อมกระทบต่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งยังเป็นการเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของผู้คนซึ่งเป็นทั้งแรงงานและผู้บริโภค

วิเชียร พงศธร ประธานมูลนิธิเพื่อคนไทย

ทั้งนี้เห็นว่า ภาคธุรกิจไม่ควรเพียงมองบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมแบบผิวเผิน แต่ควรลงทุนอย่างจริงจังเพื่อสร้างโอกาสให้คนจนเมือง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านความเป็นธรรม ความยั่งยืน หรือผลตอบแทนในอนาคต เพราะนั่นคือการลงทุนที่คุ้มค่าและจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม พร้อมทั้งเชิญชวนให้ภาคธุรกิจออกแรงขับเคลื่อนประเด็นนี้ร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ

สำหรับการทำงานของภาครัฐ และภาคประชาสังคม ประธานมูลนิธิเพื่อคนไทย มองว่าที่ผ่านมา แม้แต่ละหน่วยจะพยายามทำเต็มที่ แต่ผลลัพธ์ยังไม่พอจะพลิกสถานการณ์ได้ เพราะต่างคนต่างทำในกรอบของตนเอง จึงถึงเวลาต้องก้าวข้ามข้อจำกัด และหันมาร่วมมือกันให้มากขึ้น เพื่อสร้างพลังร่วมที่ใหญ่พอจะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ต้องตั้งเป้าหมายร่วมกันเพื่อ “เอาชนะ” ปัญหาความยากจน ไม่ใช่เพียงแค่ประคองสถานการณ์ โดยเริ่มจากการรวมพลังของภาคส่วนต่างๆ เพื่อหาทางออกจริงจัง แม้จะเป็นเส้นทางที่ยากและต้องใช้เวลา แต่ถ้าไม่เริ่มก็ไม่มีทางสำเร็จ พร้อมทั้งฝากเป็นโจทย์ให้ทุกภาคส่วนไปคิดต่อว่าจะร่วมมือกันเอาชนะปัญหานี้ได้อย่างไร

“ผ่านไปครึ่งทศวรรษแล้ว เราเข้าใจและเห็นปัญหา เห็นผู้เล่นพอสมควรแล้ว เราน่าจะมาชวนร่วมมือกันเพื่อเอาชนะให้ได้ มันมีสังคมที่เอาชนะมาแล้ว พวกนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพียงแต่เราต้องกล้าที่จะคิด”

วิเชียร พงศธร

สื่อจำเป็นต้องพ้นจากกรอบการเล่าข่าวแบบ ‘เวทนานิยม’

ขณะที่ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ประธานกรรมการนโยบาย Thai PBS ย้ำว่า แม้ปัญหาความยากจนในเมือง จะเป็นจักรวาลที่ซับซ้อน เต็มไปด้วยหลุมพราง และความไม่แน่นอน แต่สิ่งสำคัญคือการตั้งใจฟัง เรียนรู้ และร่วมกันหาทางออก เพื่อสร้างสังคมที่โอบรับคนทุกกลุ่ม โดยเน้นว่าเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจและคลี่คลายโครงสร้างที่กดทับคนจนเมืองในหลากหลายรูปแบบ

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ประธานกรรมการนโยบาย Thai PBS

นพ.โกมาตร ยังสะท้อนว่า ปัจจัยสำคัญ 5 ด้านที่กดทับคนจนเมือง ประกอบด้วย

  1. ความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งทำให้คนจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญชีวิตไร้หลักประกัน

  2. งานและรายได้ที่เปราะบาง พร้อมเสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบ

  3. การเข้าไม่ถึงบริการพื้นฐานด้านสุขภาพและการศึกษา ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อโอกาสชีวิต

  4. ความไร้ตัวตนทางกฎหมาย เช่น การไม่มีบัตรประชาชน หรือสถานะบุคคล

  5. ความเสี่ยงจากภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อม ที่ซ้ำเติมชีวิตคนจน ทั้งหมดนี้คือเงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่จำเป็นต้องถูกเปิดเผยและแก้ไข

สำหรับบทบาทสำคัญของสื่อ ประธานกรรมการนโยบาย Thai PBS ระบุว่า ต้องเป็นพื้นที่เปิดเผยความจริง และสร้างเรื่องเล่าที่ทัดทานกับมายาคติความจน ไม่ใช่แค่เล่าเรื่องคนจนในฐานะผู้ด้อยโอกาส แต่ต้องทำให้เห็นว่าพวกเขาคือพลเมืองคนหนึ่งที่มีสิทธิ์จะเลือกและสร้างสรรค์ชีวิตของตัวเองในเมืองได้ สื่อจำเป็นต้องพ้นจากกรอบการเล่าข่าวแบบเวทนานิยม หรือมองความจนเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ต้องพาให้สังคมมองเห็นโครงสร้างกติกาที่กดทับคนจน ทั้งในเรื่องความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย งานที่เปราะบาง การเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะ การไร้ตัวตนทางกฎหมาย และความเสี่ยงจากภัยพิบัติ สื่อควรช่วยเผยให้เห็นความซับซ้อนของปัญหาเหล่านี้ เพื่อทำให้สังคมเข้าใจว่าความจนไม่ใช่ความผิดส่วนตัว

“ในฐานะของสื่อ จำเป็นที่ต้องสร้างความรู้สึกใหม่และสร้างจินตนาการของการอยู่ในเมืองที่มีความหลากหลายขึ้น เช่น การทำให้เห็นว่า ภาวะไร้บ้านเป็นสิทธิอย่างหนึ่ง ถ้าเขาเลือกที่จะมีชีวิตแบบนั้น เขาก็ควรจะอยู่แบบคนไร้บ้านอย่างมีศักดิ์ศรี และเข้าถึงความช่วยเหลือเมื่อเขาต้องการได้ เมืองจึงเป็นพื้นที่ที่จะต้องมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น”

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

นอกจากนี้ นพ.โกมาตร ยังเสนอว่า สื่อต้องกล้าเล่าเรื่อง “ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ” ของการใช้ชีวิตในเมือง ไม่ได้มองคนจนในภาพซ้ำเดิม หรือสร้างภาพว่าความสำเร็จมีเพียงแบบเดียว แต่เปิดพื้นที่ให้คนจนเมืองมีโอกาสแสดงออกและสร้างสรรค์ชีวิตของตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี เพราะชีวิตคนเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นแบบแผนของชนชั้นกลาง เพื่อขยายพื้นที่ความเป็นประชาธิปไตยของคนจนในเมือง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active