ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เรียกร้องสื่อให้ความสนใจ นำเสนอข่าวอย่างเท่าเทียม ให้เป็นหน้าที่ประชาชนตัดสินใจ เชื่อมั่นศักยภาพไม่แพ้คนดัง แม้ไม่ชนะ แต่จะผลักดันนโยบายสู่ผู้ว่าฯ คนต่อไป
วันนี้ (17 เม.ย.2565) เหล่าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ประกอบด้วย วรัญชัย โชคชนะ หมายเลข 22, กฤตชัย พยอมแย้ม หมายเลข 29, ประยูร ครองยศ หมายเลข 12, พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที หมายเลข 15, นายธเนตร วงษา หมายเลข 14, ภูมิพัฒน์ อัศวภูภินทร์ หมายเลข 27 และ วิทยา จังกอบพัฒนา หมายเลข 31 ได้รวมตัวกันแถลงต่อสื่อมวลชน เพื่อเรียกร้องให้มีการนำเสนอข่าว และนโยบายของผู้สมัครอย่างเท่าเทียมกันทุกคน โดยไม่เลือกเฉพาะผู้ที่มีกระแส หรือได้รับความนิยมเท่านั้น
“พวกผมประเมินตัวเองอยู่แล้ว ว่าไม่ได้รับเลือกตั้งแน่นอน แต่ที่ลงมาเพื่อจะสื่อถึงมิติใหม่ของการเลือกตั้ง ไม่มาใส่ร้ายกัน หาเสียงกันด้วยนโยบาย สิ่งที่พวกผมใช้เวลารวบรวม และคิดออกมาเป็นนโยบาย แม้ไม่ได้รับเลือก จะรวบรวมแล้วส่งไปให้ผู้ว่าฯ คนต่อไป เพื่อสร้างมิติใหม่ของการทำงานการเมือง”
ภูมิพัฒน์ อัศวภูภินทร์
หนึ่งในผู้สมัคร กล่าวถึง ความตั้งใจและสิ่งที่อยากสะท้อนในการลงรับสมัครเลือกตั้งในครั้งนี้ ว่าแม้พวกตนจะไม่ได้พื้นที่สื่อ และมีทุนมากเพียงพอสามารถหาเสียงได้อย่างทั่วถึง แต่เชื่อมั่นในนโยบายที่ได้คิดไว้ ซึ่งจะทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น แม้จะไม่มีโครงการขนาดใหญ่ แต่เน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ปัญหาใกล้ตัวของคนกรุงเทพฯ
“ผมเข้าใจ และเห็นใจสื่อมวลชน ว่าจะไปทำข่าวก็ยากลำบาก แต่ตอนนี้ต้องมาคิดร่วมกัน พวกเราจะรวมตัวกัน และจะมีการปราศรัย หาเสียงด้วยกัน และจะนัดหมายสื่อมวลชนมาพร้อมกัน”
วรัญชัย โชคชนะ
ผู้สมัครฯ กล่าวว่า ข้อตกลงร่วมกันสำหรับผู้สมัครฯ ที่รวมตัวกันได้ จะนัดหมายการหาเสียงร่วมกัน และจะมีการปราศรัยพร้อมกันโดยที่จะแต่ละคนชูนโยบาย และจุดเด่นของตนเอง เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีแบบนี้จะเข้าข่ายการฮั้วคะแนนกันหรือไม่ หนึ่งในผู้สมัครฯ กล่าวว่า ไปพร้อมกัน แต่ทุกคนจะย้ำเบอร์ และนโยบายของตัวเอง ไม่ได้ฮั้ว หรือรวมคะแนนกันเอง ไปคนเดียวไปง่าย แต่ถ้าไปได้ไกลต้องไปเป็นทีม
ภายในการแถลงได้มีการแนะนำตัว พร้อมด้วยนโยบายมากมาย ทั้ง เรื่องของการจราจร แก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง และสุขภาพของคนกรุงเทพฯ พร้อมยืนยันว่าพวกเขาไม่ใช่ไม้ประดับ หรือมาสร้างสีสันทางการเมือง แต่ตั้งใจเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับคนกรุงเทพฯ จริงๆ เพราะไม่เช่นนั้น คงไม่ลงสมัครกันมาแล้วหลายครั้งหลายหน
นอกจากนี้ ผู้สมัครบางคนยังกล่าวด้วยว่า แม้จะไม่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งได้ แต่หากเรารวมตัวกันหาเสียง แล้วรวมคะแนนของทุกคนเกิน 200,000 เสียง อาจต่อยอดสู่การตั้งพรรคการเมือง การลงสมัครในครั้งนี้จึงเป็นการวางรากฐานสู่การทำงานการเมืองระดับชาติ โดยจะเข้าไปผลักดัน ‘กระทรวงมหานคร’ ขึ้นเพื่อดูแลท้องถิ่นพิเศษ ไม่ยึดโยงกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เกิดการบริหารอย่างอิสระ และตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง