สภาองค์กรผู้บริโภคฯ ขอค่าโดยสารบีทีเอส 44 บาท ตลอดสาย

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ รับ 5 ข้อเสนอสภาองค์กรของผู้บริโภคไว้พิจารณา แจงอาจต้องนำเข้าสภากทม.ใช้เงินจากผู้บริโภคกลุ่มอื่นมาชดเชย ยอมรับสัญญาเดินรถเป็นความลับ ต้องดูรายละเอียดว่ากทม.จะเปิดเผยได้หรือไม่ 

การประกาศเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งจะทำให้ตลอดสายมีราคาอยู่ที่ 59 บาท จะเริ่มวันที่ 1 ก.ค. 2565  คาดว่าต้องเลื่อนออกไป ไม่ต่ำกว่า 1 เดือน จากปัจจัยการวางระบบซอฟต์แวร์คำนวณค่าโดยสารส่วนต่อขยาย และ การคัดค้านจากสภาองค์กรของผู้บริโภค รวมทั้ง ส.ส.ภูมิใจไทย ทวงสัญญาจาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหลือ 30 บาท ตามที่เคยประกาศไว้ช่วงหาเสียง 

โดยก่อนหน้านี้ มีข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้คิดอัตราค่าโดยสารเมื่อรวมส่วนต่อขยายไปด้วย ไม่เกิน 59 บาท ตลอดสายและเป็นตัวเลข ที่ ชัชชาติ เห็นว่ามีความเหมาะสม เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเพราะเส้นทางส่วนต่อขยายมีระยะทางที่ไกล โดยช่วงหมอชิต-คูคต ระยะทาง 19 กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กิโลเมตร จำนวน 9 สถานี

ความคืบหน้า วันนี้ (29 มิ.ย. 2565) ชัชชาติ เดินทางไปพบ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ห้องประชุม แวนด้า 4 ชั้น 2 โรงแรมรามาการ์เดน เขตหลักสี่ โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ยื่นข้อเสนอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณา 5 ข้อ ประกอบด้วย 

  1. ขอให้ยกเลิกกำหนดราคาตลอดสาย 59 บาท ที่จะทำให้เกิดเพดานราคาสูงสุดที่จะทำให้ราคารถไฟฟ้าไม่สามารถให้ทุกคนขึ้นได้ทุกวัน  ซึ่งอาจส่งผลการเข้าถึงการรับบริการของผู้บริโภค แต่เห็นด้วยกับการเก็บค่าโดยสารจากคูคตเข้ามาในราคา 15 บาท 
  2. ขอให้ กทม. ใช้ราคา 44 บาทตลอดสาย เพื่อคุ้มครองบริษัท บีทีเอสด้วย โดยราคารวมตลอดสายรวมส่วนขยายทั้ง 2 ฝั่งไม่ควรเกิน  44 บาท เพื่อเป็นต้นแบบให้สายอื่น ๆ ให้รถไฟฟ้าเป็นมิตรทุกคนสามารถขึ้นได้  
  3. เสนอให้ดำเนินการเอาตั๋วเดือนกลับคืนมา   
  4. เรื่องการเปิดเผยและแก้ไขสัญญาที่เกินเลยปี 2585 จากสัญญาสัปทานเดิมจะหมดในปี 2572 แต่มีการจ้างเดินรถเกินเลยสัญญาสัมปทานหลักไปถึงปี 2585 ขอให้ผู้ว่าฯ หาทางแก้ปัญหาส่วนนี้ หากยกเลิกสัญญาเดินรถส่วนที่เกินเลยจากสัญญาสัมปทานได้ก็จะมีโอกาสให้การดำเนินการหลังหมดสัญญาสัมปทาน จะทำให้ผู้บริโภคได้ราคาที่เป็นมิตรมากขึ้น โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคสนับสนุนกรุงเทพมหานครไม่ต่อสัญญาสัมปทาน และใช้วิธีการประมูลจ้างการเดินรถ หรือทำสัญญาร่วมทุน(PPP) กับเอกชน  โดยแยกเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาเดินรถและสัญญาหาประโยชน์ พร้อมเสนอว่า หลังหมดสัญญาสัมปทาน ให้ใช้ราคา 25 บาท ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคมั่นใจว่าทำได้จริง โดยราคาที่ใช้ก่อนหมดสัญญาก็ขอให้คุ้มครองบริษัทบีทีเอสโดยใช้ราคา 44 บาท  
  5. เปิดเผยร่างสัญญาสัมปทานของกทม. ที่กำหนดราคา 65 บาท

ด้าน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  ขณะนี้ได้รับข้อเสนอทั้งหมดสภาองค์กรของผู้บริโภคไว้พิจารณาแล้ว  โดยในประเด็นที่สภาองค์กรของผู้บริโภคกังวลเรื่องราคา 59 กับ 44 บาท เป็นช่วงที่อยู่ในระยะสั้นก่อนหมดสัญญาสัมปทานแต่ยังมีส่วนต่อขยายอีก 2 ส่วนที่ยังไม่ได้เก็บค่าโดยสาร  ส่วนราคาตรงกลางคือ 44 บาท สูงสุดอยู่แล้ว ซึ่งต้องคำนวนตัวเลขดูว่ากรอบ 44 บาท หรือ 59 บาท ทาง กทม.ต้องชดเชยเงินเท่าไร 

เพราะหากกำหนดให้ 44 บาทสูงสุด ก็คือวงเงินส่วนตรงกลางที่เอกชนได้สัมปทานอยู่ ถ้าวิ่งออกมาที่ส่วนต่อขยายทั้ง 2 สาย กทม.ก็จะไม่ได้เงินเลย เพราะกำหนดสูงสุดไว้ที่ 44 บาท จึงต้องคำนวนตัวเลขมาให้เปรียบเทียบกับสายอื่นซึ่งต้องอธิบายได้ว่าทำไมเราเสนอเก็บส่วนต่อขยายที่ยังไม่มีการเก็บเงินอยู่นี้เป็นราคาเท่าไร ส่วนเรื่องที่เสนอให้นำตั๋วเดือนกลับคืนมารวมถึงตั๋วนักเรียนต้องไปเจรจากับทางบีทีเอสต่อไป 

สำหรับการเปิดเผยสัญญาการจ้างเดินรถปี 2572 – 2585 มีข้อหนึ่งในสัญญาห้ามเปิดเผยสัญญานี้ ซึ่งต้องไปดูว่า กทม.มีสิทธิจะเปิดเผยหรือไม่ ขณะนี้ได้สัญญามาแล้ว ต้องมาดูให้เกิดความโปร่งใส และจะแก้ไขสัญญาให้กำหนดสิ้นสุดพร้อมกับสัญญาสัมปทานในปี 2572 ส่วนการเปิดเผยสัญญาสัมปทานของกทม. ที่กำหนดราคา 65 บาท ต้องไปดูรายละเอียดเช่นกัน    

โดยปัญหาหลักที่ค้ำอยู่คือการจ้างเดินรถ ปี 72 – 85 ซึ่งเป็นการเซ็นสัญญาล่วงหน้ามานานแล้ว มีค่าใช้จ่ายที่สูงประมาณหมื่นกว่าล้านบาทต่อปี ซึ่งกำลังหาทางดำเนินการอยู่ 

“ต้องขอบคุณสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ทำให้เรามีจุดได้คุยกับตัวแทนผู้บริโภค  ซึ่งผู้บริโภคมีทั้งผู้ที่ใช้และไม่ใช้บีทีเอส ก็ต้องดูให้สมดุล เราไม่สามารถนำเงินของผู้บริโภคที่ไม่ได้ใช้บีทีเอสมาจ่ายให้กับคนที่ใช้บีทีเอสได้ ซึ่งจะต้องไปเรียนให้สภา กทม. ทราบด้วยว่า สุดท้ายแล้วถ้าเราใช้ราคา 44 บาท กทม.ต้องเอาเงินไปช่วยเท่าไร เงินส่วนนี้ผู้บริโภคกลุ่มอื่นจะมีปัญหาอะไรหรือไม่เราคุยกันด้วยหลักการน่าจะอธิบายกันได้ ภายในสัปดาห์หน้า ทางกรุงเทพธนาคมน่าจะมีข้อสรุป” 

ชัชชาติ กล่าว

 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS