นักวิชาการ วิเคราะห์ กติกาเลือกตั้ง สูตร ‘หาร 500’

‘ปริญญา’ ห่วงจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อจะได้เกิน 100 คน ย้ำบัตรเลือกตั้งสองใบคนละเบอร์ทำสับสน ไม่มีประเทศไหนทำ ‘สติธร’ หวั่นเสียงที่แท้จริงของประชาชนบิดเบี้ยว

วันนี้ (7 ก.ค.2565) ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ปรับสูตรการคำนวณที่นั่ง ส.ส.มาเป็น “หาร 500” ว่า การเปลี่ยนวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากหาร 100 มาเป็นหาร 500 นั้น แม้ว่าเป้าหมายของการแก้ไขจะเป็นเรื่องการเมือง แต่การหาร 500 ทำให้ระบบเลือกตั้งของไทยจะกลายเป็นระบบสัดส่วนผสม Mixed-Member Proportional (MMP) ที่เยอรมนีใช้ ซึ่งมีเป้าหมายคือเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง โดย ส.ส.เขตก็อยู่ในนั้นไม่ได้หายไปไหน คะแนนแบบบัญชีรายชื่อเป็นการกำหนดจำนวน ส.ส.พึงมี แล้วนำจำนวน ส.ส.เขตมาหักออก ที่เหลือจะเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ

“เทียบกันระบบเลือกตั้งปี 2560 ตอนนั้นคือใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ ส.ส.แบบแบ่งเขต และกำหนดจำนวน ส.ส.ทั้งหมดของแต่ละพรรคที่จะพึงมีในสภาผู้แทน สองเรื่องรวมอยู่ในบัตรใบเดียวกัน แต่ปัญหาคือ สองเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน หากพูดแบบกลม ๆ คือ ประมาณหนึ่งในสามเลือก ส.ส. แบ่งเขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อคนละพรรค คะแนนจึงไม่เท่ากัน บางพรรคคะแนนบัญชีรายชื่อมากว่า บางพรรคคะแนนบัญชีรายชื่อน้อยกว่า การแยกเป็นบัตรสองใบก็คือการแยกเรื่องจำนวน ส.ส.พึงมีมาเป็นคะแนนบัญชีรายชื่อนั่นเอง”

คะแนนบัญชีรายชื่อจะเป็นตัวกำหนดว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคจะมี ส.ส. ในสภาฯ กี่คน แต่ละพรรคควรจะได้คะแนนเท่าไหร่ สภาฯ จึงสะท้อนเสียงประชาชน และสะท้อนภาพตามความหลากหลายด้วย ทั้ง พรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก แม้จะแพ้การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง แต่มีคะแนนนิยมในระดับประเทศก็มีโอกาสได้ ส.ส

ปริญญา กล่าวอีกว่า แต่ปัญหาคือ นี่ไม่ใช่สิ่งที่คิดกันมาตั้งแต่แรกเพราะ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 ที่นั่ง นั้น น้อยเกินไป อย่างเยอรมนี จะมีสัดส่วนครึ่ง ๆ คือ ส.ส. เขต 299 ส.ส.บัญชีรายชื่อ 299 คน หรือ ที่อื่นจะเป็นสัดส่วนประมาณ เช่น ส.ส.เขต 60 % ส.ส.บัญชีรายชื่อ 40 % หรือ น้อยที่สุดที่เคยทำคืออิตาลี ก็มีปาร์ตี้ลิสต์ 25% ดังนั้น จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่ง นั้นน้อยเกินไป แต่ พรป.เลือกตั้งไปเปลี่ยนหรือไม่เพิ่มจำนวน ส.ส.ไม่ได้ เพราะนี่เป็นเรื่องที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ พรป.ทำได้แค่กำหนดวิธีการคำนวณ

ทั้งนี้ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือ จะได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ เกิน 100 ที่นั่งแน่นอน เพราะหาร 500 แต่มี ส.ส.ให้จัดสรรแค่ 100 ที่นั่ง เพียงแต่จะเกินมากหรือน้อย จากการทำแบบจำลองโดยใช้การเลือกตั้งปี 2554 เป็นต้นแบบ เพราะระบบเลือกตั้งเหมือนกันคือ ไม่มีเกณฑ์คะแนนเสียง 5% ขั้นต่ำ จำนวน ส.ส. ใกล้เคียงกัน คือ ส.ส.แบ่งเขต 375 คน ปัจจุบัน 400 คน ส.ส. บัญชีรายชื่อ 125 คน ปัจจุบัน 100 คน เมื่อใช้ระบบหาร 500 จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อพึงมีของแต่ละพรรครวมกัน จะอยู่ที่ 138 คน จากจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน คือเกิน 13 คน และตอนนี้เมื่อเหลือแค่ 100 คน จะยิ่งมีปัญหามาก ยิ้งพรรคใหญ่จะมีการ “แตกแบงค์” ด้วยแล้ว ทางแก้ก็คือกำหนดให้ลดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่เกิน 100 คน ตามสัดส่วน

อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือการใช้บัตรเลือกตั้ง แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อที่เป็นคนละเบอร์กัน ทำให้เกิดความสับสน หากพิจารณาจากประเทศที่ใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม Mixed-Member Proportional (MMP) ในปัจจุบัน 8 ประเทศ ได้แก่ โบลิเวีย, เอธิโอเปีย, เยอรมนี, เกาหลีใต้, เลโซโธ, นิวซีแลนด์, เซาท์แอฟริกา, เวเนซุเอลา ไม่มีประเทศใดใช้หมายเลขคนละเบอร์กัน

ด้าน สติธร ธนานิธิโชติ  ผู้อำนายการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การปรับวิธีการคำนวณแบบนี้ สะท้อนเสียงของประชาชนที่พรรคการเมืองได้ “ปอปูลาร์โหวต” เท่าไหร่ก็ควรจะได้ที่นั่งใกล้เคียงกับที่นั่งในสภาฯ เพียงแต่การกำหนดสัดส่วนของ ส.ส.แบบบแบ่งเขต และ บัญชีรายชื่อ  ต่างกันมากเกินไป คือ 400 กับ 100 สมมติพรรคที่ได้คะแนนนนิยม 20%  ควรจะได้ 100 ที่นั่งในสภา แต่หากไม่ชนะในระบบเขตเลย จากสัดส่วนบัญชีรายชื่อ 100 ที่นั่งก็จะต้องถูกทอนตามสัดส่วนกับพรรคอื่น โอกาสที่การสะท้อนเสียงของประชาชนอย่างแท้จริงก็จะบิดเบี้ยวได้สูง ต่างจากของเยอรมนี ที่ใช้สัดส่วนส.ส.เขต และ บัญชีรายชื่ออย่างละ ครึ่ง  ๆ เท่ากัน

ดังนั้น การต่อสู้ปรับวิธีคำนวณ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จึงเหมือนเป็นการชิงความได้เปรียบทางการเมือง ไม่ได้ทำเพื่อฐานของประชาชนอย่างแท้จริง โดยมองว่าพรรคที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดกับการเปลี่ยนการหาร 100 มาเป็น หาร 500  คือพรรคขนาดใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย ในขณะที่พรรคอื่นดูจะสบายตัวหมด โดยเฉพาะพรรคขนาดเล็กยิ่งชอบ พรรคขนาดกลางก็ไม่ได้ไม่เสีย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active