‘นักวิชาการ’ เสนอรูปแบบการพูดคุย เปิดโอกาสฝ่ายที่ 3 มีส่วนร่วมติดตาม เป็น Joint monitoring ช่วยสร้างความชอบธรรม ลดความรุนแรง พร้อมเปิดโอกาสให้กับทางเลือกใหม่ ๆ
เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 65 ที่ผ่านมา ณ สถานเอกอัครราชทูต กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีกระบวนการพูดคุยสันติสุข ครั้งที่ 5 นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้ พร้อมคณะ และคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขขบวนการ BRN ที่นำโดย อุสตาสอานัส อับดุลเราะห์มาน ซึ่งมีข้อเสนอลดความรุนแรงชั่วคราว และการเริ่มพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ ผ่านแนวคิดการจัดเวทีปรึกษาหารือสาธารณะ จึงถือเป็นความคืบหน้าอีกระดับหนึ่งของกระบวนการพูดคุยสันติสุข
The Active ชวนพูดคุย ถึงแนวคิดการจัด เวทีปรึกษาหารือสาธารณะ หรือ Public Consultation ว่าควรมีกระบวนการอย่างไร ผ่านข้อเสนอของนักวิชาการ เพื่อหนุนเสริมให้กระบวนการพูดคุยสันติสุขมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง
เปิดพื้นที่พูดคุยประชาชน – BRN มองความเป็นไปได้รูปแบบเวที
รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงกลไกในการปรึกษาหารือสาธารณะว่าตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนออกมามากนัก ว่าจะดำเนินไปอย่างไร แต่ยังต้องคำนึงถึงข้อกังวลห่วงใยที่ฝ่าย BRN เสนอว่าจะเปิดโอกาสให้สมาชิกของขบวนการฯ ได้เข้าร่วมได้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีทางออกที่ลงตัว เพราะ มุมมองของฝ่ายไทย คือ กลุ่มคนในขบวนการ BRN ยังมีความผิดทางกฎหมายไทย บางคนในคณะพูดคุยยังมีหมายจับคดีทางอาญาอยู่ด้วย การเข้ามาในประเทศตามกฎหมายปกติ ยังไม่สามารถทำได้ ซึ่งส่งผลให้ BRN เข้ามาทำการปรึกษาหารือสาธารณะไม่ได้
ในขณะที่มุมมองของขบวนการ BRN ก็ต้องการมีพื้นที่พูดคุยกับประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้เช่นกัน เนื่องจากของฝ่ายรัฐไทย มีกลไกที่เป็นพื้นที่ปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่แล้ว ซึ่งถ้าหากจะไปพูดคุยกันต่อ จำเป็นต้องหาข้อยุติในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน รุ่งรวีกล่าว
“หากจะจัดเวทีปรึกษาหารือ สิ่งสำคัญ อาจต้องเป็นบทบาทของฝ่ายที่ 3 จะเหมาะสมกว่า ซึ่งอาจเป็นหน่วยงานราชการร่วมกับภาคประชาสังคม หรือองค์กรระหว่างประเทศ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการหนุนเสริมกระบวนการนี้ เพราะกระบวนการสันติสุขไม่สามารถมีแค่รัฐบาลกับฝ่ายติดอาวุธได้ ต้องมีกลุ่มอื่นเข้ามามีบทบาทด้วย และให้ครอบคลุมทั้งกลุ่มคนพุทธ คนจีนในพื้นที่ ต้องเปิดโอกาสให้เข้ามามีพื้นที่ในการส่งเสียงของพวกเขาด้วยเช่นกัน”
รุ่งรวี กล่าวว่า รูปแบบในการปรึกษาหารือนั้นมีหลากหลาย หากเรียนรู้จากต่างประเทศ อาจมีการจัดเวทีใหญ่ ที่เชิญคนจำนวนมากมาหารือร่วมกัน หรือในประเทศไอร์แลนด์เหนือ ที่ใช้รูปแบบ Peace Poll หรือ ผลสำรวจสันติภาพ คือการนำประเด็นกรพูดคุยที่เกิดบนโต๊ะเจรจา มาสอบถามกับประชาชนว่าเเห็นอย่างไร เมื่อได้ผลสำรวจแล้ว นำกลับไปสู่บนโต๊ะเจรจาอีกครั้ง เป็นวิธีที่ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการมากขึ้น
ไม่ยึดติดโมเดล จัดได้หลายครั้ง แต่มีกรอบชัดเจน
ดวงหทัย บูรณเจริญกิจ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า กระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ แม้ในถ้อยแถลงของคณะพูดคุยจะระบุว่า มีความจำเป็นในการสร้างความไว้วางใจของคู่กรณี แต่ในความเป็นจริงยังจำเป็นต้องสร้างความไว้วางใจกับประชาชนในพื้นที่ด้วน เพราะจะเห็นว่ายังมีเหตุการณ์ความรุนแรง หลังการพูดคุยที่เสร็จสิ้นไป โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับคนพุทธ อาจส่งผลให้กระบวนการสันติภาพเดินไปได้ยากขึ้น หากประชาชนรู้สึกไม่ไว้วางใจ
“ไม่ควรยึกติดกับโมเดลมากเกินไป จำเป็นต้องเกิดการทดลอง เนื่องจากงานด้านสันติสุข สันติภาพใหม่สำหรับพวกเรา ต้องใจเย็น รอคอย และเปิดโอกาสให้ทางเลือกใหม่ๆ ได้เกิดขึ้น…”
ดวงหทัย กล่าวว่า ในพื้นที่ยังคงมีความไม่ไว้วางใจสูง เนื่องจากบางคนในคณะพูดคุยยังมีหมายจับ หรือก่อเหตุความรุนแรงก่อนหน้านี้ บางครั้งผลเสียหายถึงขั้นทำให้คนเสียชีวิต จึงมีมุมมองว่าต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่กระทำเสียก่อนหากจะเข้ามาพูดคุยโดยไม่รับผิดชอบกับคดีที่เกิดขึ้นเลย อาจทำให้เกิดความสบายใจที่ไม่ใช่เพียงแค่คนพุทธ แต่รวมถึงคนมุสลิมเองด้วย การจัดวางตำแหน่งและพื้นที่ตรงนี้ จึงจำเป็นต้องทำอย่างรอบคอบ เพื่อผลดีของทุกฝ่าย
นอกจากนั้นการจัดเวทีปรึกษาหารือสาธารณะยังสามารถจัดได้หลายครั้ง หลายรูปแบบ แต่ต้องมีกรอบประเด็นที่ชัดเจน จึงไม่สามารถกำหนดประเด็นกว้างๆ ได้ ในแต่ละครั้งต้องบอกว่าจัดเวทีเรื่องอะไร ประเด็นไหน เช่น ในต่างประเทศกระบวนการทำ Peace Poll ต้องได้ประเด็นที่ตีบตันแล้ว จึงจะทำให้กระบวนการนั้นมีประสิทธิภาพ ดวงหทัยกล่าว
“คำถามสำคัญ คือ ใครจัด เพราะ สันติภาพต้องเป็นของทุกคน จะให้ใครไปครอบครองฝ่ายเดียวไม่ได้ ควรมีฝ่ายที่ 3 เพื่อให้คนสบายใจ และกำหนดกรอบระยะเวลา เพื่อให้ประชาชนเห็นความชัดเจน และค่อยๆ คลี่คลายไปทีละประเด็นให้ประชาชนสบายใจ และเป็นไปตามที่คณะพูดคุยต้องการ…”
สร้างกลไก ติดตาม ตรวจสอบ การลดความรุนแรง
รุ่งรวี กล่าวว่า กลไกที่ใช้ในการลดความรุนแรงร่วมกัน ถอดบทเรียนได้จากช่วง ‘รอมฎอนสันติ’ ที่ผ่านมา จะเห็นว่าต่างคนต่างทำ แม้จะมีการตั้งตัวแทนของแต่ละฝ่ายมาพูดคุยกันก็ตาม แต่ยังขาดกลไกตรวจสอบการลดความรุนแรงร่วมกัน จึงนำมาสู่แนวคิดเรื่องใหม่ คือ การมี Joint monitoring หรือ ผู้มีส่วนร่วมติดตาม ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างมาก ในการสร้างความชอบธรรม ของการลดความรุนแรง เนื่องจากที่ผ่านมา ทั้ง 2 ฝ่ายตรวจสอบกันเอง และเป็นคู่ขัดแย้ง อาจทำให้ข้อมูลมีความไม่ชอบธรรม การหาตัวแทนกลุ่มอื่นมาเป็นฝ่ายที่ 3 เข้ามาร่วมด้วยเป็นสิ่งที่จำเป็น
ข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว ความกังวลแข่งขันเชิงอัตลักษณ์
ดวงหทัย กล่าวแสดงความเสียใจต่อความรุนแรง และความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับชาวพุทธในภาคใต้ โดยมีข้อสังเกตว่าในแง่หนึ่งความรุนแรงในที่สาธารณะอาจดูเบาบางลง แต่เหตุวิสามัญยังมีค่อนข้างสูง และสงสัยว่าอาจเป็นการล้างแค้นระหว่างกันหรือไม่ การแก้ปัญหาทุกอย่างของความขัดแย้ง ส่งผลต่อกันเสมอ ส่งผลต่อความรู้สึกที่ตกค้าง ที่ไม่ใช่แค่ในรุ่นนี้ แต่จะยาวนานต่อไป สำหรับคนที่เจ็บปวด หรือสูญเสียคนในครอบครัว ส่งผลต่อความรู้สึก และสั่นสะเทือนชุมชนของทั้งสองฝ่าย
วิธีการที่ถูกใช้ในการแก้ปัญหาควบคู่การพูดคุย มีปัญหาในตัวเอง ยากที่จะขยับไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจได้ จึงจำเป็นต้องลดการวิสามัญ และใช้กระบวนการยุติธรรมมากขึ้น นำไปสู่การเจรจามากขึ้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องคิดถึงการเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่ ในการเจรจาที่มีประสิทธิภาพ และเข้มข้นมากกว่านี้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐมีทักษะเรื่องนี้มากขึ้น ดวงหทัยกล่าว
“ทั้งรอมฎอนเพื่อสันติและเข้าพรรษาต่างใช้ศาสนาเป็นจุดอ้างอิง ในแง่อัตลักษณ์กับความรุนแรง นักมานุษยวิทยาเป็นห่วงกันว่า หากอัตลักษณ์เข้มข้นมากขึ้น แม้จะทำให้เสียงเราดัง แต่หากเข่นกันก็เป็นอันตราย…”
ดวงหทัย เสนอว่า ควรหยิบเอาข้อเสนอของกลุ่มผู้หญิงในชายแดนใต้มาทบทวน เกี่ยวกับพื้นที่ปลอดภัยสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นตลาด โรงเรียน โรงพยาบาล หรือศาสนสถาน เอามาเป็นกรอบในการอิงมาตรการลดความรุนแรงชั่วคราวโดยเอาประชาชนเป็นหลัก ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร ซึ่งจะได้ประโยชน์ทุกฝ่าย แม้ไม่อาจครอบคลุมได้ทั้งหมด แต่เป็นไปได้มากกว่าในทางปฏิบัติ
รุ่งรวี กล่าวเสริมว่า เหตุการณ์ความรุนแรงแม้จะน้อยลง แต่ยังไม่หยุดลง ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2556 ปรากฎการณ์ความรุนแรงต้องเกิดขึ้น เพราะสถานการณ์ยังดำเนินอยู่ ตราบใดที่ยังไม่บรรลุข้อตกลงสันติภาพ หรือการหยุดยิง ความรุนแรงในพื้นที่ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้ ทางออกของเรื่องนี้ จำเป็นต้องมองภาพใหญ่ ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการหยุดยิงอย่างถาวร เมื่อคณะพูดคุยพูดถึงเรื่องนี้ จึงเป็นแนวโน้มที่ดี
“แม้หัวหน้าคณะพูดคุยของไทยมองว่าเป็นข้อท้าทาย ว่าจะทำให้ทันกรอบในการเข้าพรรษาปีนี้หรือไม่ ถ้าทำได้ก็เป็นผลในเชิงสัญลักษณ์ที่ดีว่ารัฐบาลไทยเอง ห่วงใหญ่คนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน แต่หากเรามองในระยะยาว แม้อาจจะเลยช่วงเข้าพรรษาไป แต่หากจะมีข้อตกลงหยุดยิงได้ ก็เป็นผลดีสำหรับคนในชายแดนใต้ทั้งหมด…”