หน.คณะพูดคุย ห่วงมีผู้ไม่หวังดี ก่อเหตุรุนแรงช่วงเดือน ‘รอมฎอน’ หลัง ไทย – BRN บรรลุข้อตกลงยุติความรุนแรงชั่วคราว ปูทางสู่ความสันติสุขในอนาคต
หลังจากการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 4 ระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทย กับคณะผู้แทน BRN เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ทั้ง 2 ฝ่ายได้มีข้อตกลงร่วมกันที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1.การยุติความรุนแรงชั่วคราวในช่วงเดือนรอมฎอน 2.กระบวนการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และ 3.การแสวงหาทางออกทางการเมือง ตาม “หลักการทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข” ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้รับรองเอกสารร่วมกันไปแล้วนั้น ถือเป็นความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยครั้งสำคัญ
The Active ร่วมกับ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีโอกาสพูดคุยกับ พลเอก วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อทำความเข้าใจข้อสรุปที่เกิดขึ้นจากการพูดคุยครั้งนี้ โดย ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม คือ ความริเริ่มรอมฎอนสันติสุข เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อสันติสุขในห้วงเดือนรอมฎอน และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่และสร้างความไว้วางใจต่อกระบวนการพูดคุย
“เราได้พูดคุยกับ BRN ในการยุติความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งหากเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง จะเป็นนัยยะสำคัญ สำหรับการยุติความรุนแรงในระยะยาว สามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับหนึ่ง เป็นหมุดหมายสำคัญ ที่จะพูดคุยกันในรายละเอียด และผลักดันให้เป็นรูปธรรมต่อไป…”
พลเอก วัลลภ กล่าวว่า ฝ่าย BRN ตกลงที่จะไม่ก่อเหตุความไม่สงบ และสำหรับฝ่ายไทยเองจะเน้นสร้างบรรยากาศที่ดี ในช่วงเวลา 44 วัน ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. ต่อเนื่องจนถึงช่วงรายอ วันที่ 14 พ.ค. ซึ่งกระบวนการพูดคุยที่ผ่านมา แม้เคยมีการตกลงกันในเรื่องนี้ แต่ก็ยังมีข้อผิดพลาดบางประการ ที่ทำให้ไม่ต่อเนื่องจนสิ้นสุดช่วงเดือนรอมฎอน แต่ครั้งนี้ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน ซึ่งจะเป็นหลักประกันยืนยันได้ในระดับหนี่ง
แต่อย่างไรก็ตาม พลเอก วัลลภ กล่าวว่า ยังคงมีความท้ทายในกรณี ‘บุคคลที่สาม’ เพราะกระบวนการในพื้นที่ไม่ได้มีเพียงฝ่ายรัฐ และ BRN เท่านั้น ยังมีกลุ่มผู้มีอิทธิพล หรือกลุ่มองค์กรอื่น ที่อาจเข้ามาก่อเหตุความไม่สงบได้ ซึ่งเราจะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี โดยสร้างกลไกการพูดคุย และสืบสวนว่าใครเป็นผู้ก่อสถานการณ์ และกำหนดตัวผู้ประสานงาน พร้อมทั้งช่องทางสายด่วนให้ประชาชน และองค์กรในพื้นที่สามารถแจ้งเหตุ ส่งเบาะแส เพื่อให้ฝ่ายความมั่นคงสามารถตั้งรับได้ทัน
“ฝ่ายไทยได้มอบหมายให้ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 เป็นผู้ประสานงาน มีเบอร์โทรศัพท์สามารถประสานงานได้ตลอดเวลา ส่วนฝ่าย BRN ก็จะมีผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องอาศัยประชาชนในพื้นที่ร่วมสอดส่องดูแลด้วย…”