4 รองผู้ว่าฯ จับมือแถลงผลงานความคืบหน้าจาก 216 นโยบาย มุ่งพัฒนาเมืองน่าอยู่ ลดกำแพงเหลื่อมล้ำ เติมสิทธิสวัสดิการ
วันนี้ (21 ธ.ค. 2565) ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว “9 ดี 9 ด้าน ก้าวสู่ปี 66 กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่” ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง)
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เดิมกรุงเทพมหานคร มียุทธศาสตร์ 20 ปี ครอบคลุมแนวทางการบริหาร 7 มิติ เมื่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์เข้ามารับตำแหน่ง พร้อมด้วยนโยบาย 216 ข้อ 9 ด้าน 9 ดี ก็ถูกนำมาบูรณาการด้วยกัน ภายใต้คอนเซ็ปต์ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยทำงานร่วมกับข้าราชการกรุงเทพมหานคร และสกัดออกมาเป็นผลลัพธ์ 74 เป้าหมาย
“ในการนี้สิ่งที่ราชการไม่เคยคิดมาก่อนคือ zero based สิ่งที่ประชาชนอยากได้จริง ๆ คือเรื่องอะไร แล้วค่อยย้อนกลับมาทบทวนว่าสิ่งที่ กทม. ทำอยู่เดิม ควรที่จะทำต่อไหม บางอย่างควรทำต่อก็สร้างสรรค์กิจกรรมให้มากขึ้น ต่อไปนี้จะมีการควบคุมและกำกับโดยใช้เป้าหมายเป็นตัวกำหนด”
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครจ้างงานคนพิการราว ๆ 300 กว่าคน และภายในเดือนมีนาคมนี้จะเปิดรับสมัครเพิ่มอีก 11 ตำแหน่งให้กับคนพิการเข้ามาทำงานผ่านระบบการคัดเลือก และกำลังพัฒนาทักษะศักยภาพของพนักงานข้าราชการให้สามารถทำงานได้มากกว่า 1 งาน สามารถเรียนรู้การเป็นคนทำงานกับเมืองได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
และสุดท้ายได้มีการเปิดแซนด์บอกซ์ 2 พื้นที่ เพื่อสร้างความแตกต่าง คือสำนักงานเขตบางเขน และสำนักงานเขตคลองเตย เพื่อขับเคลื่อนงานด้านคุณภาพชีวิตของประชาชน ปรับโครงสร้างงาน เงิน คน พัฒนาการทำงานแบบกระจายอำนาจ 2 สำนักงานเขตนี้สามารถกำหนดนโยบายสาธารณะที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่และความต้องการของประชาชน
ด้านสุขภาพดี ขับเคลื่อนระบบสุขภาพปฐมภูมิ ให้คนป่วยสามารถเข้าถึงระบบการรักษาใกล้บ้าน ด้วยกระบวนการ one stop service telemedicine และ pride clinic ยกตัวอย่างคนพิการ วันนี้ถ้าคนพิการมาที่โรงพยายาบาลในสังกัดของกรุงเทพมหานคร สามารถนัดผ่านระบบ BFC เพื่อส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่เหมาะสม โดยระบบสามารถส่งเรื่องไปยังสำนักงานเขต ให้คนพิการสามารถรับเบี้ยการรักษาได้เลย ช่วยกระชับเวลาการเดินทางและลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก ระบบทั้งหมดจะสามารถทำได้ในออนไลน์ภายในเดือนมีนาคม 2566
“นอกจากนี้ ยังเปิดแอปพลิเคชัน หมอกทม. ยกเลิกใช้ใบส่งตัวแต่เดินเรื่องได้ผ่านออนไลน์ ให้บริการข้อมูลจากศุนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ไปยังโรงพยาบาล 6 แห่ง มีผู้รับบริการแล้ว 5,000 รายพร้อมยกระดับศักยภาพการรักษาความปลอดภัยให้กับชุมชน เพิ่มเครื่องดับเพลิงในชุมชนแออัด 451 ชุมชน รถกู้ภัย จัดระบบเชื่อมโยง เชื่อมงาน สานพลังกู้ชีพกู้ภัย นำร่องซ้อมกว่า 400 ชุมชน”
รศ.วิษณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องงานโครงพื้นฐาน ทั้งเรื่องน้ำท่วม ทางเท้า อุบัติเหตุ รถติด ว่า ในปีนี้น้ำท่วมหลายจุดสาเหตุคือน้ำฝน และน้ำเหนือน้ำหนุน สำหรับปีนี้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยของ 30 ปีที่ผ่านมา 40% ขณะที่ความสามารถในการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร ต้องปรับเปลี่ยน
“เราถอดบทเรียนน้ำท่วมขึ้นมา พบว่าปีที่ผ่านมามีจุดเสี่ยงน้ำท่วมจากน้ำฝน 661 จุด ปลายทางระบายออกสู่เจ้าพระยา จากน้ำฝนที่ตกอยู่บนถนนเราจะระบายอย่างไร มีการลอกท่อ 3,357 กม. และจะดำเนินการต่ออีก 3,875 กม. ในปี 2566 และจะเร่งระบายน้ำจากท่อลงคลอง โดยขุดลอกท่อไปแล้ว 159 กม. จะทำเพิ่มปีนี้ 183 กม.”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการปรับปรุงบ่อสูบน้ำ 12 แห่ง เพิ่มปั๊ม 18 ตัว ในปี 2566 จะปรับปรุงบ่อสูบน้ำอีก 69 แห่ง เพิ่มปั๊ม 124 ตัว ส่วนการปรับปรุงและซ่อมแซมสถานีสูบน้ำ 23 แห่ง และอุโมงค์ระบายน้ำ ในปี 2566 มีแผนปรับปรุงและซ่อมแซมสถานีสูบน้ำ 39 แห่ง อุโมงค์ระบายน้ำเพิ่มปั๊มเป็น 30 ตัว
มีการจัดทำแผนที่ 100 จุดเสี่ยงอุบัติเหตุ พร้อม 3 มาตรการ คือ 1. รณรงค์และกวดขันวินัยจราจร 2. ปรับกายภาพของถนน 3. ปรับปรุงทางเท้า ทางม้าลาย สัญญาณไฟกระพริบเตือน ในปีหน้าจะเน้นแก้ปัญหารถติด โดยมีการวิเคราะห์เบื้องต้นพบจุดรถติด 266 จุด
จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมาเดินหน้านโยบายแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยมีการตรวจสถานที่ต้นทาง รถยนต์ รถประจำทาง รถบรรทุก 58,711 คัน พื้นที่โรงงาน แพลนต์ปูน ไซต์ก่อสร้าง ที่ถมดิน 1,900 แห่ง มีการติดตามแหล่งกำเนิดฝุ่นทุกแห่งอย่างน้อย 2 ครั้งต่อเดือน และตั้งจุดวัดค่าฝุ่นในพื้นที่ กทม. 70 จุกผ่าน แอพพลิเคชัน AirBKK และรับเรื่องร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue และมีหารสั่งแก้ไขห้ามใช้รถยนต์ รถประจำทาง รถบรรทุก 1,020 คัน สั่งปรับปรุงโรงงาน แพลนต์ปูน ไซต์ก่อสร้าง ที่ถมดิน 41 ครั้ง ถ้าหากไม่แก้ไขต้องของปิดการใช้พื้นที่
“ในปีหน้า กรุงเทพมหานครจะมีการปรับรถมาตรฐานฝุ่นจาก 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม. เหลือให้ไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลบ.ม. โดยค่าเฉลี่ยฝุ่นที่ผ่านมาอยู่ที่ 27 ไมโครกรัม/ลบ.ม.”
ในเรื่องสวน 15 นาที ตอนนี้หาพื้นที่พัฒนาเป็นสวนขนาดเล็กของเมืองได้แล้ว 98 แห่ง ในที่ดินของ กทม. 39 แห่ง หน่วยงานรัฐ 34 แห่ง และเอกชน 25 แห่ง ถ้าคิดเป็นจำนวนเนื้อที่เท่ากับ 641 ไร่ ซึ่งขณะนี้สามารถเปิดสวนได้แล้ว 13 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ ให้ประชาชนใช้งานได้แล้ว ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ แม้เดิมทีจะตั้งเป้า 50 แห่งแต่ติดขัดเรื่องการออกแบบจึงขยับตัวเลข
เรื่องหาบเร่แผงลอย ยอมรับว่าต้องให้สมดุลระหว่างคนเดินเท้าและคนค้าขาย โดยได้จัดให้มีจุดผ่อนผัน 95 จุด มีผู้ค้าราว 4,000 ราย แล้วเสร็จ 55 จุด กำลังดำเนินการ 31 จุด ขอทบทวน 9 จุด นอกจากนี้ยังมีผู้ค้าที่อยู่ในพื้นที่นอกจุดผ่อนผัน 618 จุด สำรวจนอกจุดผ่อนผัน 50 เขต จำนวนผู้ค้า 13,964 ราย
สำรวจพื้นที่ 125 จุด พัฒนาเป็นศูนย์อาหาร Hawker Center เป็นพื้นที่มีศักยภาพ สะดวก สะอาด สนุก โดยที่เขตมีนบุรี และสวนลุมพินีประตู 5 เป็นพื้นที่นำร่อง
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า กทม. มีเป้าหมายเรื่องเมืองน่าอยู่ เราพยายามลดกำแพงของความเหลื่อมล้ำ และเติมสิทธิสวัสดิการให้ครอบคลุมทั่วถึง เริ่มจากสวัสดิการสำหรับเด็ก เพิ่มค่าอาหารจาก 20 บาทเป็น 32 บาท และอุปกรณ์การเรียนรู้จาก 100-600 บาท อาหารเช้ากลางวันฟรี ชุดนักเรียนฟรี ผ้าอนามัยฟรี ลดการใส่เครื่องแบบ
คนไร้บ้าน สามารถเข้าใช้บริการที่จุด drop-in หรือจุดฟื้นฟูคุณภาพชีวิต 4 แห่ง ในการตัดผม ซักอบเสื้อผ้า อาบน้ำตรวจสุขภาพ ลงทะเบียนจ้างงาน มีการจัดระเบียบการแจกอาหาร จัดที่อยู่อาศัยระยะยาวและระยะชั่วคราว
มีการจ้างงานคนพิการ 323 คน พัฒนาระบบ live chat agent ให้คนพิการเป็นผู้ตอบแชต กทม. มีโรงเรียนร่วมกับคนทั่วไป 158 โรงเรียน นำร่องอบรมครูเรียนรวม 2 โรงเรียน
สร้างอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) ประจำชุมชน ได้ 266 จาก 31 เขต เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนเข้าสู่ระบบเทคโนโลยี มีการพัฒนาพื้นที่ทางอาหารเพื่อส่งต่อการบริจาคอาหารให้กับกลุ่มเปราะบาง เช่น ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อที่ต้องการบริจาคให้ก็ทำสัญญากัน และมีการส่งเสริมอาชีพ สร้างงานแรงงานตอบโจทย์อนาคต