ไม่รู้ ‘ปริมาณ ชนิดสารเคมี’ ปัญหาดับไฟไหม้โรงงานย่านฉลองกรุง

ผู้ว่า กทม.ยอมรับ เหตุไม่รู้จำนวนและปริมาณสารเคมี-วัสดุที่อยู่ภายในโรงงานเฟอร์นิเจอร์ย่านฉลองกรุง คืออุปสรรคในการวางแผนดับเพลิง ขณะผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ย้ำสิ่งที่ภาครัฐต้องทำคู่กันไป คือ ดับไฟ และดูแลเพื่อลดผลกระทบสุขภาพประชาชน

วันนี้ (12 พ.ค.2568) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ จุดเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานเฟอร์นิเจอร์ ซอยฉลองกรุง 55 ถนนฉลองกรุง แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง โดยระบุว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบโรงงานดังกล่าว เป็นโรงงานที่เก็บเม็ดพลาสติก และฝาประตู จึงทำให้เป็นเชื้อเพลิงชั้นดี ซึ่งล่าสุดเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงให้อยู่ในวงจำกัด ไม่ลุกลามไปยังอาคารอื่น ๆ ได้ สำหรับโซนที่เกิดเพลิงไหม้ พบเป็นชั้น 1 ที่ยกพื้นสูงขึ้นมา สิ่งที่น่ากังวลคือ การยุบตัวของพื้นชั้น 1 ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบจำนวนของเม็ดพลาสติกด้านใน และสารเคมี หรือ สิ่งที่เป็นเชื้อเพลิง  เนื่องจาก ตั้งแต่เกิดเรื่องยังไม่พบตัวเจ้าของโรงงาน ซึ่งได้ประสานไปทางตำรวจให้เรียกเข้ามาให้ข้อมูลแล้ว  เพราะต้องการนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ประเมินหน้างานเพื่อวางแผนการทำงาน

อีกสิ่งที่กังวลคือ กลุ่มควันสีดำและเทาที่ลอยออกมาปกคลุมเต็มพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง โดยกลุ่มควันสีดำ เกิดจากการเผาไหม้ของเม็ดพลาสติก ส่วนสีเทาเข้ม มาจากเม็ดพลาสติกที่ขึ้นรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์แล้ว ซึ่งทั้งสองสีส่งผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนใกล้เคียง

โดยขณะนี้ยัง ไม่สามารถประเมินได้ว่ากลุ่มควันลอยไปไกลในรัศมีกี่กิโลเมตรเพราะ มีลักษณะลอยตัวขึ้นที่สูง และยังมีกระแสลมที่พัดไปมา หลังจากนี้จะประสาน สำนักสิ่งแวดล้อมฯให้เข้ามาประเมิน ผลกระทบที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันได้แจ้งให้ชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงอพยพไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงเป็นการชั่วคราวแล้ว  โดยหลังจากนี้ จะสั่งตรวจสอบ การประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดทั้งการก่อสร้าง และใบอนุญาตต่างๆ ว่า มีรูปแบบประกอบกิจการผิดกฎหมายหรือไม่

เบื้องต้นมีรายงานว่า ยังไม่พบผู้บาดเจ็บภายในโรงงาน แต่โรงงานแห่งนี้อยู่ใกล้กับชุมชน ซึ่งมีบ้านเรือนประชาชนประมาณ 140 หลังคาเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพออกจากพื้นที่ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวแล้ว

The Active สอบถามข้อมูลไปยัง อ.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า โดยหลักการสำคัญ ทุกโรงงานควรมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และมีระบบความปลอดภัย ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เพื่อลดผลกระทบจากกรณีเกิดเพลิงไหม้ โดยโรงงานจะต้องติดตั้งสัญญาณเตือนภัยโดยมีองค์ประกอบสำคัญ คือ

– อุปกรณ์ตรวจจับควันไฟ (Smoke Detector )

– ระบบเซนเซอร์ (Sensor)

– ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ (Automatic Sprinkler System)

ขณะเดียวกัน ภายในโรงงานจำเป็นต้องมี เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยวิชาชีพ (จป.) ดูแลความปลอดภัยทั้งหมด เช่น สั่งการดับเพลิง แก้ไขเฉพาะหน้า อพยพอย่างไรให้มีความปลอดภัย เป็นต้น

ในระหว่างเกิดเพลิงไหม้ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่า มีโอกาสที่สารอันตรายจากเฟอร์นิเจอร์ภายในโรงงานจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เช่น 

– ทินเนอร์ ที่มีส่วนประกอบของสารไฮโดรคาร์บอน “ไซลีน, โทลูอีน ฯลฯ” ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาว

– สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรงได้ทั้งพิษเฉียบพลัน และเรื้อรัง มากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของสาร ปริมาณที่ได้รับ ระยะเวลาที่ได้รับ

– PM 2.5 จากเศษไม้

ระยะเร่งด่วนที่ภาครัฐ ควรดำเนินการจำเป็นต้องทำคู่ขนานทั้งการดับเพลิงภายในโรงงาน กับ การดูแลสิ่งแวดล้อม และประชาชน โดยเน้นย้ำการตรวจวัดสารอันตรายที่มากับกลุ่มควัน หากเกินมาตรฐานต้องอพยพคนออกจากรัศมี 1 กิโลเมตร ขณะเกิดเหตุภาครัฐจะต้องบอกชาวบ้านให้สวมหน้ากากอนามัย และอพยพอยู่เหนือลม

ระหว่างนี้ภาครัฐจะต้องฉีดน้ำเลี้ยง หากยังดับไม่ได้ อาจจะต้องใช้โฟมในการดับต่อไป ดังนั้นสิ่งสำคัญต้องทำทั้ง 2 ระบบ คือ การจัดการในโรงงาน และ รอบโรงงาน ดับไฟในโรงงาน และดูแลประชาชนในพื้นที่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active