‘เยาวชน’ ระดมไอเดีย​ ! ออกแบบนโยบาย หวังพรรคการเมืองนำไปใช้จริง

ตัวแทนเด็กและเยาวชนกว่า 60 ชีวิตทั่วประเทศ ร่วมสะท้อนปัญหาการศึกษาไม่เปิดให้ค้นหาตัวเอง ถูกจำกัดสิทธิ ไม่สนับสนุนให้คนมีรายได้มากพอ ขาดสวัสดิการที่ทั่วถึง เชื่อการเปิดพื้นที่ทดลองทำนโยบายจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เสียงของคนรุ่นใหม่ถูกรับฟัง จากก่อนหน้านี้ต้องนำเสนอนโยบายบนท้องถนน

เมื่อวันที่ 25 มี.ค.66 ​เด็กและเยาวชนกว่า 60 คน ร่วมระดมความคิดเห็นและทดลองนโยบายในงาน กิจกรรม Singhadang Policy Camp ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยกว่าเป็นการพูดถึงปัญหาการศึกษา ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสิทธิ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและอื่น ๆ 

ทั้งนี้ เยาวชนสะท้อนว่า ในมิติของการศึกษาไทยส่วนใหญ่เป็นเรื่องของหลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่สนับสนุนให้เด็กค้นหาตัวเอง รองลงมาคือปัญหาภาระหน้าที่ของครูที่เยอะเกินไป นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงการกระทำของรัฐที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของนักเรียน นักศึกษา สถานศึกษาไม่มีพื้นที่ปลอดภัย

ด้านปัญหาเศรษฐกิจ มีเสียงสะท้อนว่า นโยบายที่มีในไทยตอนนี้ไม่ได้สนับสนุนให้คนมีรายได้มากพอ แม้ว่าจะพรรคการเมืองที่ออกนโยบายส่งเสริมนโยบายในการแก้ปัญหามาตลอด แต่พบว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง โดยเฉพาะในด้านเกษตรกรรมที่ลงทุนเยอะแต่ได้ผลน้อย ต้นทุนในการผลิตเยอะแต่ราคาต่ำ 

ด้านสิทธิมีการกล่าวถึง การไม่มีรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมสำหรับคนทุกกลุ่ม ตั้งแต่เกิดจนตาย ยกตัวอย่างเช่น สวัสดิการของผู้สูงอายุ ทั้งระบบสาธารณะสุข ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ แม้ว่าประเทศจะรู้อยู่แล้วว่าไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยแต่ไม่ได้มีการเตรียมนโยบายที่รองรับสถานการณ์มากพอ ​ในขณะที่สิทธิแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ ควรจะได้รับการแก้ไขด้วยการออกกฎหมาย เพื่อให้เกิดสวัสดิการที่เท่าเทียมของแรงงานที่เท่าเทียม 

ซึ่งในกระบวนการออกแบบนโยบายผู้ที่เข้าร่วมจะได้  Workshop Public Policy จาก Thailand  Policy lab และได้พูดคุยกับองค์กรและนักวิชาการที่ทำประเด็นในด้านต่าง ๆ อาทิ กรีนพีช ประเทศไทย ,แอมเนสตี้,Thai Civic Education และ101 Pub – Public Policy  Think Tank   เพื่อให้เด็กและเยาวชนเข้าใจการมองปัญหาและออกแบบนโยบายเพื่อให้แกปัญหาได้รอบด้านมากขึ้น  

ธนวรรธน์ สุวรรณปา  Thai Civic Education ตัวแทนด้านการศึกษา กล่าวว่า ประเด็นการศึกษาเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อเด็กและเยาวชน จึงอาจเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยที่ทำให้ประเด็นนี้เป็นที่นิยมในกลุ่มเด็กและเยาวชนมากที่สุด ถึง 60 % ของเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรม จากการพูดคุยพบว่าเด็กมีความเข้าในเรื่องปัญหาอยู่บ้างแล้ว แต่อาจจะต้องเสริมในเรื่องของส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรัฐในการบริหารจัดการ หากเขาต้องการให้เกิดการแก้ปัญหานโยบายจะต้องเชื่อมโยงไปที่ส่วนใดบ้าง 

“เรื่องที่เขาให้ความสำคัญต้น ๆ คือเรื่องหลักสูตร เพราะพวกเขาในฐานะที่ได้รับผลโดยตรงจากการจัดการศึกษาเขาเห็นว่าสิ่งที่เขาได้รับไม่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง จึงมีการอยากเปลี่ยนแปลง  อีกทั้งเราคุยกับเขาว่า ถ้าหากจะต้องพูดถึงนโยบายการศึกษาจะต้องพูดไปถึงเรื่องของตัว พ.ร.บ. เพราะรัฐดำเนินการภายใต้กฎหมาย กฎหมายเก่ามีไหม ถ้ามีต้องแก้อะไรเพิ่มเติม  และโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลว่ารัฐควรจัดโครงการแบบไหน โครงการสนับสนุน ส่งเสริม หรือแก้ปัญหา”

ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 Pub – Public Policy  Think Tank ระบุว่า เยาวชนให้ความสนใจด้านเศษฐกิจอาจลองลงมาจากการศึกษา มีเสียงสะท้อนหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องการจัดการเศษฐกิจภาคเกษตรกรรม สวัสดิการ สังคมเรื่องระบบบำนาญ เรื่องการดูแลกลุ่มคนที่ลำบากในสังคม จนถึงเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ โดยมีการตั้งคำถามว่าเราจะมีกลไกนวัตกรรมที่ทำให้ประเทศดีขึ้นได้หรือไม่  ทั้งยังกล่าวว่า เยาวชนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่ให้ความสนใจในเรื่องของกิจการบ้านเมือง​ ไม่ใช่เด็กที่ไปตามกระแส แต่เป็นกลุ่มคนที่มีความคิด เขาทำความเข้าใจและทำการบ้านกันมาดี และรู้ปัญหาเบื้องต้นของประเทศมาพอสมควรไม่ใช่แค่กระแสสังคม

“เยาวชนเป็นกลุ่มที่มีพลังและเป็นพลังที่ถูกกดทับ พรรคการเมืองน่าจะต้องพยายามตอบรับและช่วยเขาคิดต่อว่าทำอย่างไร ให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นได้จริงในฐานะที่เขาเป็นเยาวชนและเป็นคนที่สามารถมีสิทธิเสียงและสามารถกำหนดและระบุปัญหาใหญ่ ๆ สังคมได้ แต่เขาไม่ได้มีหน้าที่ ที่จะต้องมานั่งคิดรายละเอียดจนถึงรายละเอียดขั้นสุดท้าย อันนี้ควรที่จะเป็นโจทย์ที่พรรคการเมืองจะต้องรับไปทำต่อ”

สอดคล้องกับ เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ ระบุว่า คำถามที่ได้จากการสนทนาอย่างน้อยก็เป็นจุดประกายหนึ่งที่ไม่ใช่เพียงแค่การตั้งคำถามแต่กำลังจะนำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน และหวังว่าถึงแม้ตอนนี้หลายคนจะยังไม่สามารถเลือกตั้งแต่พรรคควรจะเอานโยบาย ที่เขาผลักดันไปพิจารณา เพราะอย่างน้อยเขาก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ยังต้องได้ผลประโยชน์ และได้รับผลกระทบจากนโยบายที่พรรคออกมา 

“ทางตัวองค์กรเองมีนโยบายสิทธิมนุษยชน พยายามกลั่นกรองนโยบายที่รัฐบาลเองไปรับมาจากต่างประเทศ สิ่งที่สัญญาว่าจะทำยังไม่ทำ สิ่งที่ยังเป็นช่องว่างอยู่ เพื่อส่งต่อให้พรรคต่าง ๆ รอบนี้เรารับฟังภาคประชาสังคมที่จะทำให้ นโยบายออกมาครบมากขึ้นหวังว่าต่อไปเราจะทำนโยบายเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้ว หวังว่าเยาวชนจะเอานโยบายสิทธิไปเป็นข้อต่อรองว่าทุกพรรคควรเอานโยบายไปสานต่อไม่ใช่แค่ตอนนี้ที่จะมีการเลือกตั้ง แต่รวมถึงหลังการเลือกตั้ง”

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีช ประเทศไทย ระบุว่า แม้ว่าโดยส่วนใหญ่เยาวชนจะไม่ได้หยิบเอาประเด็นสิ่งแวดล้อมมาเป็นตัวตั้งเมื่อเวลาพูดถึงนโยบายต่าง ๆ ของพรรคการเมือง แต่ไม่ใช่ว่าเขาไม่เข้าใจและไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะคำถามคนรุ่นใหม่ที่ถามในเชิงบทบาทคนทำงานสิ่งแวดล้อม    ในการดูเรื่องนโยบายที่ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยที่จะช่วยในการปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างไร ซึ่งคำถามของพวกเขาโยงกับหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง 

“ด้วยความที่ว่าประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่เป็นความท้าทายซึ่งเกี่ยวโยงกับโครงสร้างที่เกี่ยวกับระดับสากลเป็นนโยบายระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศที่ว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ไปจนถึงการกำกับดูแลการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของบ้านเรามันเกี่ยวโยงกันหมด จนไปโยงในเรื่องของความท้าทายของการใช้ทรัพยากรหรือความขัดแย้ง กรีนพีชคิดว่าถ้าเราจะทำเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือถ้าพรรคการเมืองจะมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมไม่ควรจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวนโยบายสิ่งแวดล้อมไม่จำเป็นจะต้องโชว์ขึ้นมาให้เป็นประเด็นหลักของการขับเคลื่อนหรือรณรงค์ให้เป็นนโยบายหลัก ” 

นอกจากนี้ มีฝั่งตัวแทนคนรุ่นใหม่จากพรรคการเมือง เข้าร่วมรับฟังและเสนอแนะเพิ่มเติ่มเกี่ยวกับการออกแบบนโยบายร่วมด้วยกัน 4 พรรคการเมือง คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล

พริษฐ์  วัชรสินธุ Policy Campaign Manager พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ท้ายสุดการออกแบบนโยบายทั้งหมด ต้องอยู่บนฐานอุดมการณ์ และชุดความคิด ความเชื่อที่มี ว่าประเทศไทยที่คุณอยากเห็นหน้าตาเป็นอย่างไร และกลไกที่คุณเชื่อว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเป็นอย่างไร 

“ไม่ได้เป็นเรื่องที่แปลกว่า 2 กลุ่มที่นำเสนอ  การแก้ปัญหาเดียวกัน จะมีวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องปกติ ท้ายที่สุดพื้นที่นี้เป็นตลาดนโยบาย ให้แต่ละฝ่ายมา มาแข่งกันนำเสนอท้ายสุดในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนเป็นคนตัดสินว่าแนวทางแบบไหนจะแก้ปัญหาให้กับเขาได้ดีที่สุด”  

ทั้งนี้กล่าวว่า ต้องให้ความสำคัญว่า เวลาคิดนโยบายต่าง ๆ เรากำลังแก้ปัญหาอะไร และอาจมีปัญหาอะไรที่เราไม่คาดคิด  คือเราพยายามจะแก้ปัญหาที่ 1 แล้ว ปรากฎว่ามันนำไปสู่ปัญหาที่ 2  เราก็พยายามจะคิด หลายขั้นตอน หลายตลบ เพื่อให้มั่นใจว่านอกจากนโยบายจะตอบโจทย์ปัญหาที่เราพยายามจะแก้แล้ว  เรายังป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาด้วย 

“ท้ายที่สุด นโยบายจะเป็นจริงได้ ขึ้นอยู่กับ 2 ทรัพยากรที่สำคัญ คือเวลากับเงิน  ถ้ามองในมิติของพรรคการเมืองที่มีวาระมากสุด 4 ปี ในการบริหารประเทศ เราทำอะไรได้บ้างใน 4 ปีนั้น และงบประมาณที่ต้องใช้ ใช้ไปเท่าไร  และเราจะหาจากช่องทางไหนบ้าง”​ 

ขณะที่ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หัวหน้าทีมการศึกษาทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในการออกแบบนโยบายอันดับแรกวิสัยทัศน์ต้องกระโดดสูง จากนั้นถึงกลับมาอยู่ในฐานความเป็นจริง ซึ่งฐานความเป็นจริงอันนี้แหละที่จะเป็นคนทำนโยบาย เป็นผู้นำ ‘ดาต้า’ ไม่ใช่ ‘ดราม่า’  เพราะฉะนั้นต้องมีข้อมูลเชิงความรู้ทุกอย่างทั้งอาจจะสัมภาษณ์ เมื่อมีโอกาส เข้าถึงแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

เสียงสะท้อนจากคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาบทบาทของคนรุ่นใหม่และเยาวชนกับการเสนอนโยบายต่อพรรคการเมืองมีไม่มากนักส่วนมากจะเห็นการเสนอนโยบายบนท้องถนนมากกว่าซึ่งนั่นก็ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากพอการเปิดพื้นที่ทดลองทำนโยบายครั้งนี้จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและสำคัญ ที่เสียงของคนรุ่นใหม่จะถูกรับฟังและคาดหวังว่าจะเป็นหนึ่งเสียงสะท้อนที่สามารถผลักดันเป็นนโยบายได้

อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้เป็นเพียงหนึ่งกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้นท้ายที่สุดขึ้นอยู่ที่ว่าแต่ละพรรคการเมืองจะ เห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชนขนาดไหน ที่จะนำสิ่งที่พวกเขาได้ส่งเสียงในวันนี้ไปใส่ในนโยบาย และปลายทางแล้ว พรรคการเมืองที่รับนโยบายไปนั้นได้ผ่านเข้าไปจัดตั้งพรรครัฐบาลหรือไม่

ซึ่งกิจกรรม Singhadang Policy camp จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 มีนาคม 2566 ที่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) โดยเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมมีตั้งแต่มัธยมจนถึงระดับมหาวิทยาลัย 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active