คาดโยงปมชมรมแพทย์ชนบท แนะสังคมจับตา กสทช. เตรียมจัดงบให้สธ. 4,000 ล้านบาท ทำโครงการโทรคมนาคมในระบบการแพทย์ปฐมภูมิ
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2566 นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ. สงขลา ประธานชมรมแพทย์ชนบท โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ตนเดินทางย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย กลุ่มผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดสงขลามาร่วมส่งและให้กำลังใจ
หนึ่งในพี่ใหญ่ที่สุดที่ไปให้กำลังใจคือ พี่ตุ๊ นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผอ.รพ.สมเด็จฯนาทวี (คนใส่เสื้อขาวน้อย) ไม่คิดว่าอีก 2 เดือนให้หลัง 19 เมษายน 2566 พี่ตุ๊จะถูกปลดจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ
“ผมทราบว่า ช่วงผมจะถูกย้าย ปลัดโอภาส เคยโทรตามพี่ตุ๊ไปคุยเป็นการส่วนตัว แล้วพาไปคุยกับ รมต.อนุทิน ผลการคุยผมไม่ทราบ แต่ถ้าพี่ตุ๊ยอมซูฮกคงไม่ถูกย้ายกระมัง”
นพ.สุภัทร เปิดเผยด้วยว่า หลังจากตนถูกย้าย รัฐมนตรีอนุทินมาเยี่ยมโรงพยาบาลนาทวี นพ.สุวัฒน์ บรรยาย power point และจบด้วยคำกลอนที่แต่งเอ งบอกความในใจอย่างสุภาพที่สุดว่า เป็นผู้ใหญ่ต้องเมตตา บทกลอนนี้คงไม่สบอารมณ์ผู้ใหญ่หลายคนอย่างแน่นอน
แม้การโยกย้ายข้าราชการจะเป็นอำนาจปลัดกระทรวง แต่การโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม อธิบายไม่ได้ เจ้าตัวจำใจต้องยินยอมนั้น ย่อมทำลายความชอบธรรมของตัว นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเอง
“ผมขอเป็นตัวแทนของชาวโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดสงขลา และชาวโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ แสดงความไม่เห็นด้วยกับการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมในครั้งนี้ และขอให้กำลังใจพี่ตุ๊ผู้กล้ายืนหยัดบนหนทางธรรม”
นพ.สุภัทร ยังระบุอีกว่า ฝากชาวสาธารณสุขทั้งประเทศ ร่วมกันให้กำลังใจคุณหมอสุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ร่วมกันด้วยครับ ถ้าผมโดนปลัดกระทรวงตั้งกรรมการสอบเพราะโพสต์นี้ จะรีบแจ้งให้ทราบ ว่า “เสรีภาพในการสื่อสารความเห็นต่างเป็นสิ่งต้องห้ามในกระทรวงสาธารณสุขยุคนี้”
คาดย้าย นพ.สุวัฒน์ โยงปมชมรมแพทย์ชนบท
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2566 นพ.สุภัทร ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับกรณีเดียวกันระบุว่า ผมเข้ามาในวงการแพทย์ชนบทก็เพราะพี่สุวัฒน์ชวน ตอนนั้นพี่ตุ๊อยู่ อ.เทพา ผมอยู่ อ.สะบ้าย้อย พี่ตุ๊เป็นประธานชมรมแพทย์ชนบท ผมเข้ามาทำจดหมายข่าวแพทย์ชนบท มีพี่สุเทพ เพชรมาก ซึ่งสมัยนั้นเป็น ผอ.รพ.เขาชัยสน เป็นบรรณาธิการ
พี่ตุ๊ถือว่าเป็น ผอ.ที่เป็น mentor ของผมในการทำงานสาธารณสุขมาตลอด 28 ปี ของการเป็นแพทย์ตั้งแต่ต้นถึงปัจจุบัน หลักการชัด อุดมคติมั่นคง และใส่ใจดูแลน้อง ๆ หลัง ๆ ผมไปทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่วนพี่ตุ๊ก็ทุ่มเทกับการวางรากฐานระบบปฐมภูมิของประเทศ
พี่ตุ๊เข้าไปทุ่มเทกับการวางระบบสุขภาพปฐมภูมิตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเป็น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยุติตัวลง พี่ตุ๊ก็เข้าไปทำหน้าที่วางระบบในสำนักปฐมภูมิควบคู่กับการร่าง พ.ร.บ.ปฐมภูมิ จน พ.ร.บ.ผ่านสภาและสำนักปฐมภูมิได้รับการตั้งเป็นกองปฐมภูมิ ภารกิจที่ลงแรงในการวางรากฐานด่านแรกลุล่วงอย่างสวยงามน่าทึ่ง
แต่ 19 เมษายน 2566 ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ลงนามปลดพี่ตุ๊และแต่งตั้งคนอื่นเป็น ผอ.แทน ด้วยเหตุผลว่า “ตุ๊ต้องรักษาสุขภาพ สุขภาพนั้นสำคัญ”
หมอสุวัฒน์ บอกชัดว่า “การทำงานระดับกระทรวง พี่ชัดเจนว่าพี่จะทำในสิ่งที่อยากทำและต้องทำ ไม่ใช่ทำทุกอย่างที่นายสั่ง ดังนั้นพี่จึงยอมทำงานหนัก เป็นทั้ง ผอ.รพ.นาทวี และไปควบรักษาการ ผอ.กองปฐมภูมิ ถ้าเราไม่อยากทำบางอย่างเราก็ยังถอยกลับได้”
“ผมมั่นใจครับ พี่ตุ๊เหมาะอย่างยิ่งกับการทำหน้าที่ควบ ผอ.กองปฐมภูมิ แต่ที่พี่ตุ๊โดนปลดนั้น เพราะพี่ตุ๊เป็นแพทย์ชนบท เดี๋ยวจะไปรู้ไปเห็นอะไรบางอย่างโดยเฉพาะในอนาคตอันใกล้นี้ที่ กสทช. จะจัดงบให้ สธ. 4,000 ล้านบาท เพื่อทำโครงการโทรคมนาคมในระบบการแพทย์ปฐมภูมิ”
นพ.สุวัตน์ ก็กลับมาทำหน้าที่ ผอ.รพ. สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวีต่อไปส่วนความเป็นแพทย์ชนบทนั้นยังเต็มเปี่ยมในหัวใจ แพทย์ชนบทเรายอมหักไม่ยอมงอ และเรามั่นใจ rural doctor never die
เขียนโพสต์นี้แล้ว ตนมั่นใจว่า ปลัดโอภาส น่าจะต้้งกรรมการสอบวินัยตนแน่นอน น่าจะชุดที่ 10 แล้วตั้งแต่รับหน้าที่ประธานชมรมแพทย์ชนบทมา แต่นี่ความจริงที่ชาวสาธารณสุขและคนไทยควรทราบข้อเท็จจริง