‘แพทย์ชนบท’ โชว์บทเรียนผลักดัน ‘ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ งานรับรางวัล แมกไซไซ 2024

หวังส่งต่อแรงบันดาลใจ ให้ชาวฟิลิปปินส์ หลังเผชิญปัญหาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ตอกย้ำภารกิจช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม ลดเหลื่อมล้ำ ชี้ความสำเร็จเกิดจาก “การยึดประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นที่หนึ่ง” ตามรอยพระราชปณิธาน เจ้าฟ้ามหิดล​​​​​​​​​​​​​​​​

หลังจากที่ ขบวนการแพทย์ชนบท ได้รับคัดเลือกให้รับ รางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024 ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของบุคคล/องค์กรที่ได้รับรางวัลในปีนี้

วันนี้ (13 พ.ย. 67) นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยถึงการเดินทางไปร่วมรับรางวัลแมกไซไซ 2024 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา ทีมแพทย์ชนบทได้เดินทางไปที่ University of Philippines เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนที่ College of Public Health โดยมีคณาจารย์และนักศึกษาหลายคณะมาร่วมเรียนรู้ก้าวย่างและบทบาทของชมรมแพทย์ชนบท ในการต่อสู้เพื่อลดช่องว่างทางสังคม

โดยเน้นคำถามสำคัญ เช่น ชมรมแพทย์ชนบทรักษาและส่งต่อ Spirit จากรุ่นสู่รุ่นมาร่วม 50 ปีได้อย่างไร, ผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนสำเร็จได้อย่างไร, แก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในชนบทได้อย่างไร, ทั้งนี้ที่ฟิลิปปินส์ก็มีปัญหามาก เมื่อพบว่า แม้จะมีคนเรียนจบทั้งแพทย์ พยาบาล แต่กลับไปหางานทำที่อเมริกา

นพ.สุภัทร ระบุด้วยว่า หลายคำถามอาจไม่ได้ง่ายสำหรับประเทศอื่น เพราะมีบริบทที่ต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่รับรู้ได้ชัดคือ การที่คนไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทุกคนไปโรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องคิดถึงเงินในกระเป๋า คือ ความหวังของคนฟิลิปปินส์อย่างมาก แม้จะมีการแพทย์ที่ก้าวหน้า แต่ถ้ามีแต่คนมีเงินที่เข้าถึง นี่คือความเหลื่อมล้ำที่โหดร้ายที่สุดของความเป็นมนุษย์

“นี่คืออีกหนึ่งภารกิจของสังคมไทย ร่วมกันผลักดันให้คนทั้งโลกมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อีกความหวังแห่งมนุษยชาติของคนทั้งโลก” 

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท (ภาพ : ชมรมแพทย์ชนบท )

ขณะที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะอดีตประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้ขึ้นกล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ THE PATH TO INCLUSIVE HEALTHCARE : FOLLOWING THE FOOTSTEPS OF THAILAND’S RURAL DOCTORS MOVEMENT เส้นทางสู่ระบบสาธารณสุขที่ครอบคลุม : ตามรอยขบวนการแพทย์ชนบทไทย

โดยย้ำว่า ระบบสาธารณสุขถ้วนหน้าของประเทศไทย มีจุดเริ่มต้นจากการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบท โดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบายให้นักศึกษาแพทย์ต้องรับทุน และไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชนบท แม้ในระยะแรกขบวนการแพทย์ชนบทจะคัดค้านวิธีการบังคับ แต่เมื่อตระหนักถึงความจำเป็นในการดูแลประชาชนผู้ด้อยโอกาส จึงได้ปรับเปลี่ยนแนวทางมาสู่การร่วมมือแก้ไขปัญหาแทน

สำหรับการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย เป็นความพยายามระยะยาว และต่อเนื่อง ประกอบด้วยการดำเนินการหลายด้าน ได้แก่

  • การสร้างระบบบริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศ

  • การพัฒนาระบบการเงินการคลังเพื่อลดอุปสรรคด้านการเงินในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน

  • การจัดตั้งระบบและกลไกควบคุมค่าใช้จ่าย ทำให้สามารถขยายสิทธิประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง จากประมาณ 35 รายการในช่วง 5-6 ปีแรก เป็น 153 รายการในปัจจุบัน

  • นอกจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพแล้ว ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยยังโดดเด่นในด้านการรักษาคุณภาพและมาตรฐานการบริการ พร้อมทั้งมีระบบการชดเชยความเสียหายจากการรักษาที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิด

นพ.วิชัย บอกด้วยว่า สิ่งที่น่าสนใจ คือ ประเทศไทยไม่ได้รอให้ประเทศมีความมั่งคั่งก่อน จึงเริ่มพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ นโยบายรักษาฟรีในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เริ่มต้นในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง และเศรษฐกิจ เมื่อสหรัฐฯ กำลังถอนทัพจากเวียดนาม และระบบบัตรทอง ก็เริ่มต้นในปี 2544 หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เพียงไม่ถึง 4 ปี

แม้ประเทศไทย จะใช้เวลาประมาณครึ่งศตวรรษในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่บทเรียนจากประสบการณ์ของไทยสามารถช่วยให้ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก สร้างระบบที่คล้ายคลึงกันได้เร็วขึ้น โดยการเรียนรู้จากความสำเร็จ และความท้าทายที่ประเทศไทยได้เผชิญมา

”หัวใจสำคัญของความสำเร็จคือการมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม มากกว่าการคำนึงถึงผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ​​​​​​​​​​​​​​​​ ตามพระราชโอวาทของ เจ้าฟ้ามหิดล ขอให้ถือประโยชน์ตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง“ 

นพ.วิชัย โชควิวัฒน

สำหรับ “ขบวนการแพทย์ชนบท” ได้รับ “รางวัลแมกไซไซ (Ramon Magsaysay Award) ประจำปี 2567” ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้มีผลงานดีเด่นต่อมนุษยชาติในทวีปเอเชีย ซึ่งในปีนี้เป็นการมอบรางวัลเป็นครั้งที่ 66 โดยมูลนิธิรางวัลแมกไซไซ ได้คัดเลือกผู้มีผลงานดีเด่นเข้ารับรางวัลจำนวน 5 คน ได้แก่ Karma Phuntsho จากภูฏาน, Miyazaki Hayao จากญี่ปุ่น, Nguyen Thi Ngoc Phuong จากเวียดนาม, Farwiza Farhan จากอินโดนีเซีย และ ขบวนการแพทย์ชนท จากประเทศไทย

ทั้งนี้ ขบวนการแพทย์ชนบท ​ได้ทำงานขับเคลื่อนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุข ในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง 48 ปี จนมีผลลงานที่เป็นที่ประจักษ์ที่สากลยอมรับ คือ การสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย และการเฝ้าระวังป้องกันการคอร์รัปชันประเทศไทย

โดยการเดินทางมารับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2567 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ครั้งนี้ มีตัวแทนในนาม 4 คนในนาม ขบวนการแพทย์ชนบท (Rural Doctor Movement) ประกอบด้วย นพ.วิชัย โชควิวัฒน หนึ่งในผู้ก่อตั้งชมรมแพทย์ชนบท, นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานมูลนิธิแพทย์ชนบท, นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท และ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active