นาทีนี้สังคมต่างจับตาไปที่จุดยืนของ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน กับบทบาทการทำหน้าที่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ว่าจะโหวตให้เป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่ที่ประชาชนไว้วางใจหรือไม่ แน่นอนว่า ส.ว.แต่ละคนล้วนมีมุมมอง และทัศนะต่อประเด็นนี้แตกต่างกัน
The Active ชวน 3 ส.ว. สะท้อนมุมมองการโหวตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศ นายกฯ คนนั้น จะชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ได้หรือไม่ และอะไรคือสิ่งที่ยังติดค้างคาใจ ส.ว.จนอาจมีผลต่อการตัดสินใจโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ รวมถึงทางออกของสถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ ควรเดินต่ออย่างไร
กดดัน ด่าทอ ไม่ใช่หนทาง ‘ชนะใจ’ คน
‘มณเฑียร บุญตัน’ ส.ว. คนแรก ที่ The Active พูดคุยด้วย ยืนยันว่า เห็นด้วยกับการปิดสวิตช์ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ต้น และเป็นหนึ่งเสียงที่ยกมือสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 แต่ที่ผ่านมาก็แพ้ทุกครั้ง ที่ผ่านมาตั้งใจไว้ว่า จะไม่ใช้สิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี นั่นเป็นหลักคิดที่ยึดถือมาตลอดการทำหน้าที่ ส.ว.
“ผมแสดงจุดยืนเรื่องนี้ แถลงในสภาฯ บอกกับสื่อมวลชนมาตลอด ว่าสนับสนุนให้ปิดสวิตช์ ส.ว. ก็มีคนมาแสดงความชื่นชม แต่หลังเลือกตั้งครั้งล่าสุด ผลเลือกตั้งออกมาอย่างที่ทุกคนทราบ กลายเป็นว่าตอนนี้ แทบไม่มีใครเรียกร้องให้ ส.ว.ปิดสวิตช์ตัวเองเลย หลายคนพยายามส่งเสียงให้ ส.ว.ต้องเลือกนายกฯ ที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ทำให้ผมต้องกลับมาทบทวนตัวเองเลยว่า หลักคิดเดิมยังใช้ได้กับสถานการณ์นี้หรือไม่ การปิดสวิตช์ ตัวเองยังเวิร์คอยู่หรือไม่ เพราะเอาเข้าจริงกลายเป็นว่าคนทั้งสังคม ต่างก็เรียกร้องให้ ส.ว.ทำหน้าที่ตรงนี้”
มณเฑียร บุญตัน
มณเฑียร ยังบอกด้วยว่า เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองหลังการเลือกตั้งมาจนถึงขนาดนี้ สุดท้ายก็ต้องช่วยให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เหตุผลเดียวก็คงต้องโหวตนายกรัฐมนตรี ให้กับพรรคที่ได้เสียงข้างมาก ถ้าไม่ปิดสวิตช์ ก็ต้องเทคะแนนให้เสียงข้างมาก ไม่มีเหตุผลที่ต้องฝืนตัวเอง
“สำหรับผมไม่เคยงอน เพราะไม่มีเหตุผลให้ต้องงอนใคร แม้ว่าที่ผ่านมา ส.ว.ถูกตั้งคำถามมาตลอด แต่จนถึงตอนนี้เริ่มงงมากกว่า คือตอนนี้ผมก็ยังไม่รู้ว่าใครจะรวบรวมเสียงได้ไม่ได้อย่างไร ยังไม่รู้ว่า ส.ส.จะสามัคคีกันเกิน 376 เสียงหรือไม่ ก็เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ต้องทำให้ได้ แต่ถ้าไม่ได้ หนึ่งเสียงของผมก็พร้อมโหวตให้กับพรรคเสียงข้างมาก จริง ๆ แล้วทางออกง่าย ๆ ที่สุด แต่อาจทำไม่ง่ายเลย คือ พรรคแกนนำตั้งรัฐบาลต้องไปคุยกับ ส.ส.ทั้งสภาฯ ให้หันมาสนับสนุน ซึ่งเชื่อว่าคุยกันเอง ง่ายกว่าต้องมานั่งคุยกับ ส.ว.เสียอีก”
มณเฑียร บุญตัน
มณเฑียร ทิ้งท้ายด้วยข้อเสนอว่า หากพูดกันตามวิถีประชาธิปไตย การคาดหวังเสียงสนับสนุน ต้องทำโดยวิธีการเอาชนะใจคนอื่น อย่าใช้วิธีกดดัน ด่าทอ บังคับ ขู่เข็ญ ต้องพูดคุยกันด้วยไมตรี จะหมายถึงการชนะใจในวิถีประชาธิปไตย เพราะชัยชนะไม่อาจบรรลุได้ ด้วยวิธีของการด่าทอกัน ก่อนหน้านี้อาจเคยตั้งคำถาม และด่าเผด็จการไว้เยอะ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องทำแบบเดียวกับเผด็จการ ที่ต้องบังคับคนอื่นให้ทำตามในสิ่งที่อยากได้ ไม่ใช่วิสัยของนักประชาธิปไตย การชนะใจคนเห็นต่างด้วยไมตรีต่างหากที่ ส.ว.ส่วนใหญ่อยากเห็น
เช่นเดียวกับ ‘สังศิต พิริยะรังสรรค์’ มองว่า ตัวเองและเพื่อน ส.ว.ยินดี หากพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะมาพูดคุยให้เป็นกิจจะลักษณะ หรือไม่คุยก็ไม่เป็นไร แต่ก็สามารถสื่อสารกันได้หลายช่องทาง ขอเพียงแค่ให้ยึดถือประโยชน์ของชาติ และผลประโยชน์ต่ออธิปไตยเป็นสำคัญ
พร้อมทั้งยืนยันด้วยว่า ที่ผ่านมาไม่เคยตัดสินการกระทำของใครโดยใช้อารมณ์ ไม่จำเป็นต้องงอนใคร เพราะเข้าใจในความต่างของช่วงวัย ซึ่งแตกต่างกันทางความคิดได้ ดังนั้นการสื่อสารจะทำให้เข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อลดช่องว่างต่าง ๆ ลงให้ได้มากที่สุด
ยอมรับ 2 หลักการ พร้อมหนุน ‘พิธา’ นั่งนายกฯ
สังศิต ยังยืนยันด้วยว่า พร้อมสนับสนุนนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าใครก็ตามที่ยินดีตอบรับใน 2 หลักการสำคัญ คือ 1. ต้องเป็นรัฐบาลที่รักษาอธิปไตยของประเทศ ไม่ส่งเสริมสนับสนุนการดึงชาติมหาอำนาจเข้ามามีบทบาทในประเทศไทย 2. สนับสนุนรัฐบาลที่ไม่ส่งเสริมให้ประชาชนมีความขัดแย้ง ใช้ความรุนแรงต่อกัน ดังนั้นพรรคการเมืองใดที่รับหลักการ 2 ข้อนี้ได้ ตนและเพื่อน ส.ว.อีกจำนวนมากก็พร้อมสนับสนุน ขอแค่ให้มาพูดคุยกัน
“ผมไม่สนใจตัวบุคคล ไม่สนใจว่าจะได้คะแนนเสียงมากี่คะแนน แต่สนใจหลักการสำคัญ ถ้าคุณพิธา ยอมรับหลักการ ผมและเพื่อน ส.ว.ยินดีครับ”
สังศิต พิริยะรังสรรค์
อย่าใจร้อน เดินหน้ารวบรวมเสียง ไม่ต้องแคร์ ส.ว.
ขณะที่ ‘ตวง อันทะไชย’ เชื่อว่า ในตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดว่า ส.ว.จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างไร เพราะตามรัฐธรรมนูญยังเหลือเวลาอีกมาก ดังนั้นนี่คือช่วงเวลาที่สภาฯ ล่าง ต้องได้คุยกันให้จบ อย่าใจร้อน และไม่ควรก้าวก่ายการทำหน้าที่ของใคร ไม่ควรชี้นำใครให้คิดเหมือนอย่างตัวเอง ซึ่งเชื่อว่าเวลาไม่ถึง 60 วันจากนี้ เพียงพอและพรรคแกนนำ จะสามารถรวบรวมเสียงตั้งรัฐบาล เลือกนายกฯ ได้อยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมาถาม ส.ว.
“พอไม่อยากได้เสียง ส.ว.ก็ด่า พออยากได้ก็มาเรียกร้อง วันนี้พรรคแกนนำก็ทำไปเลย รวบรวมเสียงให้ได้ อยากให้พวกผมปิดสวิตช์ ก็ปิดให้แล้ว ไม่มีใครเข้าไปยุ่ง ทำให้ได้ถ้าทำไม่ได้ค่อยมาบอกกัน เพราะตามรัฐธรรมนูญก็เขียนชัดเจนว่า พรรคลำดับสองก็มีสิทธิ์ทำต่อ นี่คือเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย”
ตวง อันทะไชย
ตวง ยังแนะนำว่า อยากให้พรรคแกนนำตั้งรัฐบาล นิ่งกว่านี้ ต้องแสวงหาความร่วมมือให้มากกว่านี้ ไม่ควรเอาแต่ใจตัวเอง ควรมีวุฒิภาวะที่มากพอ เพราะเมื่อประชาชนไว้วางใจมามากมายขนาดนี้ ก็ต้องได้เป็นรัฐบาลอยู่แล้ว ขอให้กลไกได้ขับเคลื่อนไปตามระบบ ปัญหาบ้านเมืองเวลานี้คือชอบคิดอะไรไปก่อน แล้วก็มานั่งด่ากันก่อน บ้านเมืองควรพูดด้วยเหตุผล แสวงหาทางออกด้วยการพูดคุย เจรจากัน เมื่อประชาชนให้สิทธิ์คุณแล้ว ก็แสดงวุฒิภาวะ เดินทางไปหาผู้คนเพื่อพูดคุย ทำความเข้าใจ หาทางออกกัน