รฟท. ยืนยันเดินหน้าสร้างรถไฟความเร็วสูงผ่านเมืองเก่าอโยธยา

โต้ “กลุ่มอนุรักษ์” เมืองเก่าอโยธยาตั้งใกล้พื้นที่สถานีรถไฟมากเกินไป เป็นการขยายประเด็นจนสังคมสับสน ขณะที่ EIA ผ่านแล้วตั้งแต่ปี 2562 ชี้โครงการช่วยหนุนการท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อแหล่งมรดกโลก

จากกรณีมีนักอนุรักษ์บางรายได้เสนอความเห็นคัดค้านการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาในเขตพื้นที่รถไฟเดิม เพราะเกรงว่าอาจส่งผลกระทบต่อเขตพื้นที่แหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

วันนี้ (18 พ.ค. 2566)  เอกรัช  ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา รวมถึงการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงอื่น ๆ ตลอดทั้งโครงการ การรถไฟฯ ได้มีการศึกษาอย่างรอบคอบ และคำนึงถึงประโยชน์ในทุกมิติเป็นสำคัญ 

โดยในการศึกษาผลกระทบการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง ต่อพื้นที่แหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการ การรถไฟฯ ได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งมีการศึกษาในด้านการศึกษาผลกระทบต่อโบราณสถาน พร้อมกำหนดมาตรการลดผลกระทบ ซึ่งได้รับการอนุมัติไปแล้วตั้งแต่ปี 2562 และปัจจุบันยังได้ทำการศึกษาการประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ผ่านทางที่ปรึกษาจากทางมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกด้วย

ทั้งนี้ ในขอบเขตของการศึกษา HIA ได้มุ่งศึกษาเพื่อประเมินและลดผลกระทบการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ต่อพื้นที่แหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่เกิดจากโครงการรถไฟความเร็วสูง บริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งประเมินผลกระทบที่มีต่อแหล่งมรดกโลก 3 ด้าน ได้แก่ด้านทัศนียภาพ ด้านกายภาพ และด้านสังคมและเศรษฐกิจ 

รวมทั้ง เสนอทางเลือกการพัฒนาที่เหมาะสม พร้อมกำหนดแนวทางและมาตรการลดผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง  เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มีความสมดุลระหว่างการพัฒนาโครงการ และการคงอยู่ของทรัพย์สินทางวัฒนธรรม โดยการดำเนินการก่อสร้างของโครงการใช้เฉพาะในพื้นที่เขตรถไฟเดิมเท่านั้น ไม่ได้กระทบต่อการขยายขอบเขตพื้นที่อนุรักษ์มรดกโลกเมืองอโยธยาหรือพื้นที่ของประชาชนแต่อย่างใด กรณีที่จะขยายเขตการรวมพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยในปัจจุบันให้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เขตอนุรักษ์ จะเป็นอุปสรรคและส่งผลในการพัฒนาระบบรางของประเทศในอนาคต

ขณะเดียวกันการศึกษา HIA นั้น เพื่อลดข้อห่วงกังวลของศูนย์มรดกโลกเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการรถไฟความเร็วสูงต่อคุณค่าอันโดดเด่นของนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาอยู่แล้ว ดังนั้น การหยิบยกประเด็นข้อเสนอ เช่นเมืองเก่าอโยธยาเป็นเมืองโบราณ ที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงพื้นที่สถานีรถไฟอยุธยาในปัจจุบันมากเกินไป การให้ขยายขอบเขตพื้นที่อนุรักษ์ของอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาใหม่ ซึ่งออกมานอกเขตเกาะเมือง กว่า 1 กิโลเมตร 

“การอ้างถึงโครงการที่นอกเหนือจากโครงการรถไฟความเร็วสูง เช่น การพัฒนาTOD และการพัฒนาผังเมืองใหม่อยุธยานั้น จึงถือเป็นข้อเสนอที่เกินไปจากขอบเขตของการศึกษา จึงขอความร่วมมือให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่าขยายประเด็นนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ของการศึกษาจนทำให้สังคมเกิดความสับสน” 

เอกรัช กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า การรถไฟฯ ขอยืนยันว่าในการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาได้คำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวมเป็นสำคัญโดยพื้นที่ก่อสร้างสถานีได้ตั้งอยู่ในเขตทางรถไฟเดิม ซึ่งมีระยะห่างจากพื้นที่แหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มากถึง 1.5 กิโลเมตร  ดังนั้นการก่อสร้างจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อโบราณสถานหรือทัศนียภาพในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์อย่างแน่นอน

ที่สำคัญด้วยตำแหน่งการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาในปัจจุบัน อยู่ห่างจากอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา 1.5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่สามารถเดินเท้า หรือปั่นจักรยานได้  จึงเป็นการช่วยส่งเสริมให้เส้นทางโดยรอบ หรือระหว่างสถานีรถไฟถึงพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวย่านการค้าที่สำคัญของชุมชน อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการจราจรในเกาะเมืองอยุธยาที่มีปัญหาการจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการลดผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนของการเดินทางด้วยรถยนต์  ซึ่งปัจจุบันมีรถยนต์ รถโดยสารขนาดใหญ่จำนวนมากเข้าไปในเขตพื้นที่โบราณสถาน และอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาอีกด้วย

การก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงในพื้นที่เขตทางรถไฟเดิม ถือเป็นข้อดีที่ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวให้กับพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา และพื้นที่โดยรอบอย่างยั่งยืน สามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว การกระจายความเจริญ สร้างงานสร้างรายได้แก่คนในชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง ตลอดจนยังช่วยเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการเดินทางรถยนต์ และปรับโหมดการเดินทางไปสู่ระบบรางมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาและการอนุรักษ์ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาประเทศให้รุ่งเรืองและคงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมอันดีของไทย ทั้งสองสิ่งสามารถดำเนินการควบคู่กันได้ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของประชาชนชาวไทย และทุกภาคส่วน เพื่อสร้างประเทศไทยให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป

ท้ายนี้ การรถไฟฯ มีความยินดีในการเปิดรับข้อคิดเห็นกับจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาปรับปรุง พัฒนาการดำเนินการและการให้บริการมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อส่วนร่วม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยเป็นสำคัญ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active