คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านฯ เคาะข้อสรุป 10 คณะ เตรียมลงมติ 22 มิ.ย. นี้

‘ศิริกัญญา’ มองการรับรอง ส.ส. 500 คนอย่างรวดเร็ว ทำให้กระบวนการต่าง ๆ ทำได้รวดเร็วมากขึ้น ย้ำวันนี้ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องการจัดสรร ครม.พิธา 1 ด้าน เพื่อไทยเสนอ 4 นโยบายเศรษฐกิจ มองเป็นโอกาสดี ในการหาจุดร่วม

วันนี้ (20 มิ.ย. 66) ที่พรรคไทยสร้างไทย คณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล โดยตัวแทน 8 พรรคการเมือง ร่วมแถลงผลการประชุมคณะกรรมการในครั้งที่ 2 โดย ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ว่าข้อสรุปจากการประชุมในในวันนี้ จะนำเสนอต่อที่ประชุม 8 หัวหน้าพรรคการเมืองในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ เพื่อขอมติอีกครั้ง

สำหรับการหารือในวันนี้มี 10 เรื่อง จาก 14 เรื่อง เช่น การรับมือภัยแล้ง เอลนีโญ ได้คุยทางออกบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ, ส่วนคณะทำงาน SMEs ได้คุยเรื่องการส่งออกที่ชะลอตัว หนี้ครัวเรือน และการส่งเสริมเอสเอมอี, คณะแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 หารือเรื่องการส่งเสริมการออกกฎหมาย พ.ร.บ.อากาศสะอาด จัดทำแผนที่ความเสี่ยงและป้องกันไฟป่า และคณะทำงานเศรษฐกิจและรัฐบาลดิจิทัล ได้หารือการส่งเสริมใช้ดิจิทัลในรัฐบาล ส่งเสริมเสรีภาพของประชาชนด้านดิจิทัล,

คณะทำงานเพื่อความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคมฯ วางเรื่องของการจัดสวัสดิการ การจัดสรรการใช้งบประมาณ, คณะค่าไฟ น้ำมันดีเซล และพลังงาน ได้มีการเสนอปรับลดค่าไฟ และเสนอกับการต่ออายุเพื่อลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ส่วนคณะจังหวัดชายแดนใต้มีความหน้าในการตั้งเป้าหมาย และนำไปสู่สถานที่คุยสันติภาพใน 4 ปีของรัฐบาล และเรื่องการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาขน ได้กำหนดโรดแม็ปแต่ละพรรค ที่นำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. ที่มาจากเลือกตั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ จะนำเสนอรายละเอียดแต่ละด้านในที่ประชุมพรรคร่วมเพื่อลงมติอีกครั้ง

ส่วนคณะทำงานอีก 4 คณะ ประกอบด้วย คณะทำงานปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ต่อต้านคอร์รัปชัน ต่อต้านส่วย ปฏิรูปประมง และแก้ไขปัญหายาเสพติด ไม่ได้เสนอรายงานสรุปต่อที่ประชุมคณะประสานงานระยะเปลี่ยนผ่านในวันนี้ เนื่องจากติดในเงื่อนเวลา บางคณะทำงานเพิ่งประชุมเมื่อวานนี้ จึงยังไม่สามารถนำสรุปเสนอได้ทัน

ทั้งนี้คณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ได้กำหนดเวลาที่จะปิดตัวลงเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่

“โดยจะประชุมครั้งสุดท้ายหลังประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ แล้ว ก่อนจะแจ้งคณะย่อยจัดทำรายงานสรุปเพื่อรายงานที่ประชุมพรรคร่วมอีกครั้ง“

ศิริกัญญา ยังกล่าวถึง MOU 23 ข้อ ว่าจะเป็นภาพใหญ่ในการจัดทำนโยบาย โดยจะต้องลงรายละเอียดแต่ละกระทรวง ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากแต่ละพรรคในการนำเสนอความเป็นเจ้ากระทรวง อาจจะเพิ่มเติมจาก 23 ข้อของ MOU แต่จะต้องไม่ขัดแย้งกัน เพราะทั้งหมดจะต้องนำเสนอต่อหัวหน้าพรรคอีกครั้ง พร้อมยอมรับว่า ในที่ประชุมวันนี้ มีการหารือ สถานการณ์การเมืองด้วย

“หลัง กกต.รับรอง ส.ส.ทั้ง 500 คน โดยมองว่า เป็นทำหน้าที่ได้อย่างรวดเร็ว และรับรองครบ 500 คนในเวลาเดียวกัน ทำให้กระบวนการต่าง ๆ ทำได้รวดเร็วมากขึ้น วันนี้จึงได้พูดคุยเรื่องปฏิทินการเมือง เพื่อประเมินกรอบการทำงานของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่าน อย่างไรก็ตามในการประชุมในวันนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการจัดสรร ครม.พิธา 1“

ด้าน เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้คณะกรรมการฯได้รับฟังข้อเสนอและผลศึกษาของคณะย่อยเป็นประโยชน์ในการทำงานร่วมกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ได้เสนอ 4 นโยบาย ของพรรคต่อที่ประชุมและมอบหมายให้คณะทำงานย่อยไปศึกษา เพิ่มเติม

คือ 1. นโยบายเขตธุรกิจใหม่ของพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา การอนุญาต การแก้กฎหมาย ซึ่งเพื่อไทยมีโมเดลที่จะเข้าไปเติมเต็ม แก้ไขปัญหาด้านกฎหมายที่จะส่งเสริมเอสเอ็มอี ในเขตธุรกิจใหม่นำร่อง 4 พื้นที่ คือเชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพ และสงขลา

2. เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ที่พรรคเพื่อไทยมีความเห็นว่าควรเซ็ตเป้าหมายในระยะไกลออกไปคือปี 2570 ที่เพื่อไทยประกาศว่าค่าแรงจะอยู่ที่ 600 บาท เพื่อให้ภาคเอกชนรู้ว่าในระยะยาวจะไปถึงจุดไหน นอกจากนี้ ยังเสนออีกกลไก คือเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท คู่ขนานไปด้วย เป็นการยกระดับทั้งส่วนข่างและส่วนกลาง เป็นสองโมเดลที่ทำควบคู่กัน ทั้งนี้การขึ้นค่าแรงทำไม่ได้ถ้าไม่ดูแลภาคเอกชน และการดูแลภาคเอกชนที่ดีที่สุดคือการทำให้เศรษฐกิจขยายตัว จะทำให้ภาคเอกชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความสามารถในการจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้น จึงสนับสนุนการขึ้นค่าแรงตามภาวะเศรษฐกิจ ตามรายได้ของประเทศ

3. นโยบายการเข้าถึงแหล่งทุนของเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นเรื่องที่เพื่อไทยและก้าวไกลเห็นตรงกัน ในการใช้กลไกค้ำประกันสินเชื่อ สนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น เพื่อปลดล็อกการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอี เพื่อไทยตั้งวงเงินไว้ 30,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ทั้งงบประมาณและประสิทธิภาพ

และ 4.นโยบายตลาดทุน ซึ่งเพื่อไทยให้ความสำคัญกับการระดมทุน ปัจจุบันภาคเอกชนสามารถหาแหล่งทุนได้แค่ 2 แหล่งคือเงินกู้ธนาคารพาณิชย์และการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งสองกลไกจะต้องเดินควบคู่กันเพื่อไทยสนับสนุนการสร้างตลาดทุนให้แข็งแกร่ง มีหัวใจอยู่ที่สภาพคล่อง เพื่อจะเป็นแหล่งระดมทุนในการสร้างเศรษฐกิจประเทศ โดยตลาดทุนของพรรคเพื่อไทยยังมีตลาดทุนคู่ขนานในเรื่องของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ในการระดมทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้น นี่คือสี่นโยบายที่เพื่อไทยนำเสนอต่อที่ประชุม

เผ่าภูมิ ยังระบุว่า วันนี้เป็นโอกาสดีที่แต่ละนโยบาย ถูกเผยออกมาและพูดถึงข้อดี ข้อเสียหาจุดลงตัวร่วมกันเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน ก่อนทิ้งท้ายว่านี่คือความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active