เครือข่ายชาวเล ชี้ เสี่ยงเสียพื้นที่แหล่งเต่าทะเลวางไข่ หาดไม้ขาว จ.ภูเก็ต

หวั่นกระทบ ประเพณีนอนหาด เรียกร้องเร่งจัดตั้งรัฐบาลตามฉันทามติประชาชนหวังความชัดเจนทางนโยบายเร่งแก้ปัญหา ประกาศ 6 ข้อเรียกร้อง ถึงภาคส่วนต่าง ๆ หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เร่งเดินหน้าตรวจสอบรับฟังปัญหาผลกระทบ เดินหน้าแก้ไขปัญหาดังกล่าว

วันนี้ (4 ก.ค. 66) วิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน เปิดเผยกับ The Active กรณีปัญหาการให้ต่างชาติเช่าพื้นที่ บริเวณที่ชาวเลประกอบประเพณีนอนหาดมาหลายชั่วอายุคน  และยังเป็นพื้นที่แหล่งวางไข่ของเต่าทะเล บริเวณหาดไม้ขาว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต 

วิทวัส ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการดำเนินการ ที่เขามองว่าไม่ชอบธรรรม เนื่องจากตั้งแต่ พ.ศ. 2554 พื้นที่ดังกล่าวได้ถูกกล่าวอ้างประกาศเป็นเขตอุทยานฯ สิรินาท มีการทำกิจกรรมปลูกป่าร่วมกับชุมชน อนุรักษ์เต่าทะเลวางไข่  ขณะที่ชาวเลใช้พื้นที่ดังกล่าวในการทำกินชั่วคราว และทำพิธีกรรมนอนหาดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็นเวลา 3-5 วันของทุกปี  หาดบริเวณนี้จึงเป็นหาดที่สงบ เหมาะที่เต่าทะเลจะขึ้นวางไข่ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ เป็นที่สงสัยเมื่อพบว่ามีการปักเสาลวดหนามสร้างโรงแรม มีการแจ้งโดยวาจาผ่านตัวแทนท้องถิ่นว่าไม่ใช่พื้นที่ของอุทยานฯ   และเครือข่ายชาวเลเพิ่งได้ทราบจากกลุ่มผู้ทำวิจัยผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโรงแรมว่า พื้นที่ที่ทุนต่างชาติสเปน ร่วมกับเอกชนท้องถิ่นจะทำโรงแรม และปักเสาลวดหนามแสดงการครอบครองนั้นเป็นเขตที่ดินราชพัสดุ ที่อาศัยนโยบาย BOI (Borad of Investment) หรือ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและส่งเสริมการลงทุนให้ชาวไทยและชาวต่างชาติที่ทำธุรกิจในประเทศไทย และการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศ จึงได้เช่าระยะยาว 30 ปี จากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง

และเนื่องจากก่อนปักเสาลวดหนามแสดงการครอบครอง ไม่มีการศึกษาผลกระทบที่เกิดกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลไม่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรื่องแหล่งอนุรักษ์เต่าวางไข่ ไม่คำนึงถึงหลักสิทธิชนพื้นเมืองสากล หลักรัฐธรรมนูญไทย นโยบายต่างๆ เช่น ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง United Nations Declaration on thr Rights of Indigenous Peoples หรือ UNDRIP ตั้งแต่ปี 2007 มีสาระสำคัญระบุว่า ชนเผ่าพื้นเมือง มีสิทธิในที่ดินเขตแดน และทรัพยากร ซึ่งพวกเขาครอบครอง และเป็นเจ้าของตามประเพณี หรือเคยใช้ หรือเคยได้รับมาก่อนรัฐจักต้องให้การยอมรับและคุ้มครองในทางกฎหมาย 

รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ Convention on Biological Diversity หรือ CBD มีมาตราที่ส่งเสริมภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการร่วมจัดการพื้นที่คุ้มครอง อนุสัญญานี้ ซึ่งไทยเข้าร่วมให้สัตยาบันเป็นภาคีแล้ว

ขณะที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 70 ยังได้ระบุ  “รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน 

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอให้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการนโยบาย เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตและแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล  โดยยกเรื่องปัญหาที่ดินมาเป็นอันดับแรก และระหว่างที่มีการฟ้องคดีต้องให้มีหน่วยงานดูแลคุ้มครอง ช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ประสบปัญหาอย่างทันท่วงที รวมทั้งผลักดันการพัฒนาพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์ชาวเล และขยายผลไปสู่ชาติพันธุ์อื่น ๆ

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ยังสนับสนุนการพัฒนาบนฐานทุนทางสังคมและวัฒนธรรม ภายใต้บริบทของสังคมที่มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งทางชาติพันธุ์ ศาสนา และวิถีชีวิต ทางวัฒนธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ 

และด้วยพื้นที่ดังกล่าว เป็น 1 ในพื้นที่ 14 พื้นที่ เตรียมประกาศพื้นที่คุ้มครองครองวัฒนธรรมฯชาวเล ตามมติและคำสั่งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาในที่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ เป็นประธาน มีกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะอนุกรรมการฯ ตามกรอบนโยบายในมติคณะรัฐมนตรี 2 มิ.ย. 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ทั้งยังมีมติ ครม. 1 ก.พ. 2565 ให้แก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและเร่งดำเนินการเรื่องพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตฯ 

ล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและกะเหรี่ยง โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีการดำเนินการศึกษาข้อมูลของหน่วยงานวิชาการเพื่อเสนอให้มีนโยบายประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลฯ ใน พ.ศ. 2566 ด้วย ดังนั้นจึงอยากให้ภาคส่วนต่าง ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้

“บริเวณหาดไม้ขาว ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต แห่งนี้ เป็นพื้นที่เตรียมประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวเล ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลทั้ง มอแกลน มอแกน อูรักลาโว้ย รวม 30 ชุมชนในจังหวัดพังงาและภูเก็ต กว่า 9 พันคนที่ใช้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ดำรงประเพณีนอนหาด  และหากิน มามากกว่า 300 ปี  ขณะที่ชาวบ้านเรียกร้องสิทธิคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลับบอกเป็นพื้นที่อุทยานฯ แต่กับเอกชน กลับเอื้อโดยไม่มีการดำเนินการใดๆทั้งเรื่องผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในพื้นที่ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตรวจสอบให้เกิดความเป็นธรรม และมีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ”

วิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน

ความสำคัญ พื้นที่ทางวัฒนธรรม ประเพณีนอนหาดชาวเล

วิทวัส ยังกล่าวถึงความสำคัญของ ของประเพณีนอนหาด ซึ่งในช่วงราว ๆ เดือนกุมภาพันธุ์ทุกปี ลูกหลานชาวเลสายตระกูลต่าง ๆ จะมาเจอกันที่หาดหินลูกเดียว บริเวณหาดไม้ขาว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เป็นเวลา 3-5 วัน แต่ละปีมีคนเข้าร่วมราว ๆ 1,000 คน เพื่อเป็นการมาพบปะพูดคุยถึงความเป็นมาเป็นไปของเครือญาติ และในวันสุดท้ายที่อยู่ร่วมกัน  จะมีการทำพิธีเสี่ยงทายว่า ชนเผ่าชาวเลจะเป็นไปอย่างไร ด้วยการปาไม้ลงไปที่หินก้อนหนึ่ง ที่เรียกว่าหินลูกเดียว ซึ่งปฏิบัติต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2450

“คือต้องเข้าใจว่า  พื้นที่ศักดิ์สิทธิในการประกอบพิธีกรรมดังกล่าว ไม่ใช่จะทำตรงไหนก็ได้ ตรงนี้จะมีศาลพ่อตาหินลูกเดียว เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิที่ชาวเลเคารพประกอบพิธีกรรมหลายชั่วอายุคน มีความเชื่อคอยปกป้องคุ้มครอง รับรู้การทำพิธีกรรม รับรู้บนบานศาลกล่าว ทั้งเรืองสุขภาพ การป่วยไม่สบาย ความซวยที่จะเกิดแก่ชีวิต ฉะนั้นความผูกพันธ์ กับแหล่งนิเวศวัฒนธรรม ไม่ได้หมายถึงว่าจะไปทำตรงไหนก็ได้ อันนี้ถ้าเป็นระดับสากลเขาจะเข้าใจ เพราะว่าเขาให้ความสำคัญ ยอมรับเรื่องของแผ่นดินบรรพชน เขามีเรื่องของหลักการบอกกล่าวล่วงหน้าในการเข้าไปพัฒนาพื้นที่ชนเผ่าพื้นเมือง  แต่ว่าประเทศไทยยังขาดตรงนี้”

วิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน

ประกาศ 6 ข้อเรียกร้องทุกฝ่ายเร่งแก้ไขปัญหา

เครือข่ายชาวเลอันดามัน เรียกร้องภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว จากข้อมูลที่ยังไม่ชัดเจน 

1.เรียกร้องถึงโรงแรม ผู้ประกอบการ ต้องเดินหน้าในการทำการสำรวจผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมในพื้นที่ 

2.ในระดับจังหวัด เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เร่งเปิดประชุม เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยต้องรับฟังความเห็นของพี่น้องประชาชนชาวเล ทั้ง 2 จังหวัด คือ จังหวัดพังงา และภูเก็ต และต้องตรวจสอบความถูกต้องรวมถึงความชอบธรรมที่อนุญาตให้ดำเนินการเช่าพื้นที่ดังกล่าว 

3.ในระดับประเทศ ให้กระทรวงที่เกี่บยวข้อง คือกระทรวงการคลัง มอบหมายให้มีการเปิดประชุมอนุกรรมการแก้ไขปัญหาของกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ  ซึ่งมีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเป็นประธาน รวมถึงมอบหมายให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาพื้นที่เกษตรกรรมที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังไปตรวจสอบ เพราะว่าเป็นการเช่าในระดับกระทรวง แต่ถ้าไม่ได้ใช้กลไกนี้ ก็ต้องให้เกิดการดำเนินการแก้ไขด้วยกลไกอื่น 

4.ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักวิชาการ ภาคกฎหมาย ภาคประชาสังคม ร่วมกันให้เกิดพื้นที่กลางในการแก้ไขปัญหา ช่วยกันจัดทำข้อมูล รวบรวมข้อกฎหมายที่หนุนเสริม ทั้งเรื่องของชาติพันธ์ชาวเล เรื่องสิ่งแวดล้อม และเรื่องของการพัฒนาที่สอดคล้องกับชาวเล ตลอดจนนเรื่องของท้องถิ่นและธรรมชาติในพื้นที่ 

5.ขอให้สื่อและสังคมร่วมจับตา ร่วมสื่อสาร เรียกร้องให้เกิดการคุ้มครอง ช่วยขยายความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ประเพณีนอนหาด ด้านสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง  วัฒนธรรมที่หลากหลาย  และความเป็นธรรมทางนโยบายกฎหมาย การใช้อำนาจ ทั้งจากรัฐและผู้มีอิทธิพลด้วย

6.ข้อเสนอต่อชาวเล  ให้ลุกขึ้นมายืนหยัด ไม่ไขว้เขว ไม่เพิกเฉย เพราะที่ผ่านมาในกรณีปัญหาเช่นนี้ มักจะถูกตั้งคำถามว่าแบ่งพื้นที่ให้เขาไปนิดนึงไม่ได้หรอ ทั้งๆที่ถอยกันจนแทบไม่เหลือพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย รวมทั้งพื้นที่ทางพิธีกรรมกันแล้ว ต้องยืนยันว่าเรื่องนิ้ชาวเลไม่ได้จะปกป้องเอาไว้แค่เพื่อตัวเอง แต่ปกป้องพื้นที่สำคัญทางธรรมชาติ ทางวัฒนธรรมเพื่อคนทั้งโลก 

เรียกร้องทุกฝ่ายสนับสนุนให้พรรคเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล เร่งแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ประชาชน รวมถึงปัญหาเร่งด่วนของชาวเล

วิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน

วิทวัส ยังกล่าวถึงปัญหาความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล ที่มีกระแสว่าพรรคเสียงข้างมากที่นำโดยพรรคก้าวไลสุดท้ายอาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลว่า เป็นความกังวลของเครือข่ายและชุมชนชาวเล เนื่องจากคาดหวังให้พรรคที่ได้รับฉันทามติจากประชาชนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา พรรคก้าวไกล ซึ่งได้คะแนนสูงสุด ได้มีการทำงานร่วมกับภาคประชาชน เครือข่ายชาวเล รวมถึงมารับฟังเสียงสะท้อนปัญหาของชาวเลอย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าเข้าใจปัญหา เช่น ปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยทั้งภูเขาและทะเล และพื้นที่ทางวัฒนธรรมพื้นที่จิตวิญญาณต่าง ๆ  และจะเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิและวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีความแน่นอน และจัดตั้งรัฐบาลได้ล่าช้าจะยิ่งส่งผลกระทบต่อการเดินหน้าแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ล่าช้าไปด้วย จึงอยากให้ทุกฝ่ายสนับสนุนและเดินหน้าให้มีรัฐบาลใหม่เพื่อมีความชัดเจนในทางนโยบายในการแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมทั้งปัญหาที่ชาวเลและกลุ่มชาติพันธุ์เผชิญด้วย พร้อมทั้งกล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่พบเครือข่ายชาวเล เพื่อรับฟังปัญหาต่างๆ รวมถึงตรวจสอบปัญหากรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ตด้วย 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active