ชาวเลหลีเป๊ะจี้รายกระทรวงแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินบนเกาะ

ร้อง UN ตรวจสอบรัฐไทยละเลยการคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมือง คนบุกเบิกไม่มีสิทธิจะอยู่บนเกาะ ปัญหาซ้อนทับหลายกระทรวง วอนแก้เร่งด่วนเปิดทางสาธารณะให้โอกาสทำมาหากินก่อนถึงฤดูมรสุม

วันนี้(17 ม.ค.) เครือข่ายชาวเลอันดามัน ตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เคลื่อนไหวทวงคืนแผ่นดิน ทำกิจกรรมในกรุงเทพมหานคร วันนี้เป็นวันที่สอง โดยช่วงเช้าเดินทางไปยื่นหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น และรำแสดงด้านหน้าเพื่อย้ำว่าพวกเขามีรากเหง้า วัฒนธรรม เป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยบุกเบิกเกาะหลีเป๊ะมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมมีชื่อว่า ”อูรักลาโว้ย” 

วิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน บอกว่า เรื่องที่นำมายื่นในครั้งนี้เป็นเรื่องที่รัฐไทยละเลยปฏิญญาสากลว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งไทยได้ลงนามรับหลักการไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550  แต่ที่ผ่านมาผู้นำของประเทศกลับไม่ยอมรับการมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมือง ทำให้การปฏิบัติต่อชนเผ่าต่างออกไปจากหลักการ อย่างกรณีที่มีการพิพาทเรื่องที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ พวกเขาเป็นคนที่อยู่มาดั้งเดิม บุกเบิกมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่กำลังไร้แผ่นดินจะอยู่ สูญเสียที่ดินให้กับนายทุน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณ เส้นทางสาธารณะที่ใช้สัญจร ขนส่งทำมาหากินมานับร้อยปี 

“เรื่องสิทธิมนุษยชนเราก็ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นบนเกาะ การพัฒนาการท่องเที่ยวที่หนุนเสริมประเทศไทย แต่ให้กลุ่มทุนดำเนินการบริหารจัดการเกาะโดยที่ชาวเลผู้ที่อยู่มาดั้งเดิมไม่ได้มีส่วนร่วม ถูกกีดกันถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ของตัวเองเป็นการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องความยั่งยืน และปฏิญญาสากล รัฐธรรมนูญและมติครม.ด้วย เราเชื่อว่ากลไกของ UN จะเป็นกลไกกลางช่วยให้เราส่งเสียงถึงนานาประเทศ”

สำหรับข้อเรียกร้องที่ยื่นต่อ UN ครั้งนี้ เครือข่ายชาวเลขอให้ทำการตรวจสอบและพิจารณาว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือสนธิสัญญาที่ได้ลงนามหรือไม่ และเร่งให้คำแนะนำกับรัฐบาลไทยถึงแนวทางปฏิบัติที่ดีต่อชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงทำความเข้าใจกับรัฐบาลไทยในความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายที่มีลักษณะคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธ์และติดตามการดำเนินงานการแก้ปัญาหาอย่างต่อเนื่องในระดับนโยบายของประทศตลอดจนข้อตกลงระหว่างประเทศ

ในวันเดียวกันเครือข่ายชาวเลฯ ยังได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้กล่าวถึงกรณีปัญหาพิพาทที่เกิดขึ้นจนนำมาสู่การฟ้องร้องคดีชาวเลเกาะหลีเป๊ะข้อหาบุกรุกที่ดิน ซึ่งสาเหตุมาจากการออกเอกสารสิทธิที่ดินที่ไม่มีความชัดเจนขอบเขตที่ดิน การเพิ่มจำนวนของที่ดินที่มากขึ้นจากการเอกสารสิทธิที่ระบุไว้ โดยการออกเอกสารสิทธิครั้งแรกคือ ส.ค.1 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2498 เช่น กรณี ส.ค.1 ซึ่งเคยแจ้งสิทธิครอบครองที่ดินไว้จำนวน 50 ไร่ แต่ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2511-2517 มีการเปลี่ยนเอกสารสิทธิที่ดินเป็น นส.3 กลับมีการระบุจำนวนที่ดินเป็น 81 ไร่  ต่อมามีการยืนยันสิทธิในที่ดินอีกครั้งกลับพบว่าจำนวนที่ดินที่มีการขอครอบครองเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 152 ไร่ ซึ่งทำให้ขอบเขตที่ดินแปลงนี้ได้ครอบทับครัวเรือนของชาวเล มากกว่า 200 ครัวเรือนในปัจจุบัน และนั่นก็นำมาซึ่งการฟ้องร้องในคดีอาญาต่อชาวเลอูรักลาโว้ยมากว่า 30 คดีในปัจจุบัน 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active