ชี้ ส่งผลกระทบวงกว้าง ทั้ง วิถีชีวิต อาชีพ เกษตรกรรม ความมั่นคงทางอาหาร การระบายน้ำ ขัดยุทธศาสตร์จังหวัด และผังเมืองรวมชุมชนพุทธมลฑล จังหวัดนครปฐม ด้านผู้แทนกรมทางหลวงชนบท แจง เป็นเพียงขั้นตอนรับฟังความเห็นในโครงการศึกษาความเหมาะสมเท่านั้น
เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2566 ที่โรงแรมไมด้า แกรนด์ ทวารวดี นครปฐม กรมทางหลวงชนบท ได้จัดเวทีประชุมโครงการศึกษาความเหมาะสม ถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์ช่วงศาลายา-นครชัยศรี จ.นครปฐม โดยเปิดให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ารับฟังและเสนอความคิดเห็น เป็นครั้งที่ 4
โดยเริ่มต้นเวที ด้วยการให้ตัวแทนดำเนินโครงการ ชี้แจงถึงเหตุผลความเป็นมาของโครงการ เพื่ออำนวยความสะดวก ความรวดเร็วแก้การคมนาคมการจราจรที่แน่นและติดขัด จึงพัฒนาเส้นทางแนวใหม่เชื่อมโยงระหว่างโครงการต่อเชื่อมถนนนครอินทร์-ศาลายา ที่มีอยู่เดิมให้เชื่อมต่อกับอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมซึ่งจะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านการคมนาคมขนส่งและเพิ่มศักยภาพ บริเวณศาลายา ไปยังอำเภอนครชัยศรี เพื่อลดปัญหาจราจรในพื้นที่จังหวัดนครปฐมเพิ่มเติม และยังเป็นการเสริมโครงข่ายการจราจรสนับสนุนโครงการทางหลวงพิเศษระว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี
พร้อมทั้งกล่าวถึงประโยชน์ของโครงการ คือ บรรเทาปัญหาจราจรในพื้นที่โครงการ, เสริมสร้างโครงข่ายถนนให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นรวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนโครงการทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมือง สายบางใหญ่ -กาญจนบุรี, ทำให้ประชาชนในพื้นที่และผู้ใช้เส้นทางมีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ในการสัญจร บนโครงข่ายทางหลวงหมายเลข 338 และถนนเพชรเกษม ในการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานคร กับจังหวัดนครปฐม และบริเวณจังหวัดใกล้เคียง, รองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จังหวัดนครปฐม รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่โดยรอบโครงการ
ทั้งนี้พื้นที่ศึกษาและคัดเลือกแนวเส้นทาง ได้มีการศึกษาประเมินรอบด้านทั้งความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ผลกระทบด้านสังคม และการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นไปตามหลักวิศวกรรม และสถาปัตยกรรม
ทันทีที่เปิดให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แสดงความคิดเห็น รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการ ซึ่งมาในฐานะประชาชนในพื้นที่ ประกาศกลางเวที ว่า อดทนฟังการชี้แจงของทางโครงการด้วยความขมขื่น ซึ่งก่อนมาตนได้ประชุมกับชาวบ้านกลุ่มสหกรณ์คลองโยง พื้นที่โฉนดชุมชนแห่งแรก ว่า ถ้าถนนเส้นนี้มาเมื่อไหร่ ตนจะยอมตาย
“ผมปรึกษาพูดคุยกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่คลองโยงแล้ว ถ้าถนนเส้นนี้มาเมื่อไหร่ เริ่มก่อสร้างเมื่อไหร่ ผมจะยอมตาย นอนให้รถบดเหยียบ เพื่อขวางการก่อสร้าง และผมไม่ได้พูดเล่น ผมทำจริงจะไม่ยอมให้ถนนสายมรณะ มาทำลายทุ่งนครชัยศรีให้ชิบหายหมด”
รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการ ในฐานะประชาชนบ้านคลองโยง จ.นครปฐม
หลังประกาศ ได้รับเสียงปรบมือกึกก้องในห้องประชุม จากนั้น รศ.ประภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดนครปฐม มียุทธศาสตร์เมืองเกษตรกรรม เป็นครัวของโลก รู้สึกว่าโครงการนี้ไม่เห็นหัวเกษตรกรรม คนเล็กคนน้อยพยายามจินตนการเลิศเลอ ว่าถนนเส้นนี้มาแล้วจะมีเศรษฐกิจมากมาย ซึ่งไม่มีทางเกิดขึ้นจริง แต่ผลกระทบจะกิดขึ้นแน่ ๆ
ทั้งกระทบต่ออาชีพเกษตรกร ลองคิดดูสร้างถนนหน้ากว้าง 40 เมตร ตรงกลางกั้นแบริเออ ผ่ากลางทุ่งคลองโยง การจะขนรถไถ รถเกี่ยวข้าวอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำไม่ได้ เกษตรกรที่ถูกซอยพื้นที่ออกไป เหลือคนละเล็กละน้อยตรงนั้นเขาจะทำเกษตรยังไงจะทำอะไรได้ อยากให้ไปฟังเสียงชาวบ้านลงไปดูพื้นที่ด้วย ไม่ใช่จินตนาการเอาอย่างเดียว และการสร้างสะพานข้ามตรงแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเดิมมีสะพานแล้วหลายแห่ง หากสร้างถนนนี้ มีสะพานเพิ่มมาอีกจะอยู่ห่างสะพานเดิมไม่เกิน 500 เมตร ส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำ และแต่ละปีน้ำก็เอ่อล้นสูงเท่าๆปี 54 อยู่แล้ว ทุ่งต้องรับภาระนักต้องนึกถึงผลกระทบให้รอบด้าน
สอดคล้องกับความเห็นของ ผศ.เด่นศิริ ทองนพคุณ ชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน จ.นครปฐม กล่าวว่า ทางข้ามแม่น้ำท่าจีน ตอนนี้มีอยู่ 19 สะพาน ถ้าสะพานที่มาพร้อมกับถนนที่สร้างขึ้นอีก ก็จะเป็นสะพานที่ 20 ซึ่งสะพานแต่ละสะพาน ตอมอใหญ่มาก ทำให้เกิดแรงปะทะ ฤดูน้ำหลากทำให้น้ำไหลช้า น้ำเอ่อท่วมชายฝั่ง ตรงนั้นไม่พอฤดูผักตบชะวามาออกันอีก ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่ควรที่จะมาสร้าง ให้เอางบประมาณไปซ่อมทางทั่วประเทศที่เป็นหลุมบ่อ ซ่อมตรงนั้นดีกว่า
“สิ่งใดที่เขาไม่อยากได้ อย่าไปยัดเยียดให้เขา ท่านอย่าตัดเสื้อโหลยัดเยียดสิ่งที่คนไม่ต้องการ ทำคลองตันคลองตาย ไม่ได้ใช้ สุดท้ายทำให้คลองหาย ถมที่ทับคลองกลายเป็นปัญหาตามมาไม่จบ “
ผศ.เด่นศิริ ทองนพคุณ ชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน จ.นครปฐม
ด้าน ประเชิญ คนเทศ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการผังเมืองรวม จ.นครปฐม ชี้ว่า โครงการพัฒนาหลายโครงการล้มเหลว เพราะไม่ได้ศึกษาอย่างถ่องแท้ จริงๆถ้าใจกว้างพอต้องพิจารณาโดยใช้ผังเมืองล่าสุดประกอบ แต่กลับไปเอาฉบับล้าหลังมา ดังนั้นมองว่าครั้งนี้มันจบแล้ว มันไปไม่ได้ เพราะความลับไม่มี ข้อมูลอยู่ในผังเมืองรวมพุทมลฑลนครปฐมทั้งหมด ตรงนี้ทำขึ้นบนหลักสร้างการยอมรับคนทุกคนในแผ่นดินนี้ ผังเมืองใหม่ผ่านทุกขั้นตอน รอแค่ครม.ประกาศใช้เท่านั้น และในนั้นเขียนชัดในส่วนโฉนดชุมชนระบุชัดเจนมีกฎมายเฉพาะ ถ้ายังเดินหน้าทำจะขัดต่อกม.แน่นอน จึงต้องกลับไปทบทวน คนที่อยู่ที่นี่ฝันอยู่สงบ ที่ผ่านมาเราโดนทางหลวงชนบทกระทำมาตลอด คุณต้องใจกว้างพอ คุณต้องเคารพประชาชน
“โฉนดชุมชนมีกฎหมายรองรับชัดเจน ต้องกลับไปทบทวน คนที่อยู่ตรงนี้เขาต้องได้ดำเนินชีวิตต่อไป อย่าขนคนในออกนอกแผ่นดิน“
เผชิญ คนเทศ ที่ปรึกษาคณะกรรมการผังเมืองรวม จ.นครปฐม
ชุติมา น้อยนารถ ตัวแทนสมัชชาสุขภาพ จ.นครปฐม กล่าวว่า หลังจากเห็นโครงการได้ปรึกษาภาคส่วนต่าง ๆ นักวิชากรที่เกี่ยวข้อง และนำข้อมูลคุยกับประชาชนในพื้นที่ ต่างมีข้อกังวล และเห็นว่าเรื้องนี้จะเร่งสรุปไม่ได้ มีข้อเสนอในส่วนที่เป็นปัญหามากที่สุดคือการเลือกเส้นทางมาที่พื้นที่โฉนดชุมชน ตรงนี้ต้องเข้าใจว่าเป็นโมเดลพิเศษระดับประเทศ ดังนั้นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาต้องมีส่วนร่วม เป็นคณะทำงานเรื่องนี้ ไม่ว่าจะ สำนักนายกฯสภาพัฒฯ กรมธนารักษ์ ปกครองท้องถิ่น สหกรณ์ หรือว่ากระทรวงเกษตรฯทั้งระดับพื้นที่ อปท.เข้ามาพิจารณาเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษ และระหว่างพิจารณาทางโครงการจะต้องไม่ดำเนินการใด ๆ ที่เป็นการบีบหรือล็อบบี้เด็ดขาด
อีกหนึ่งเรือ่งสำคัญที่ต้องทำ คือจัดทำ SIA กระบวนการศึกษาทางวิชาการ ที่ไม่ใช่คำนวนดัชนีวิศวะกรรมการคุ้มทุนเท่านั้น แต่คือการประเมินผลกระทบด้านสังคมและสุขภาพ ความคุ้มค่าเศรษฐศาสตร์ชุมชน
“โดยที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัด ไม่กระทบพื้นที่สีเขียว พื้นที่เกษตร ความมั่นคงทางอาหาร วิถีชุมชนสร้างทางเลือกขึ้นมาโดยสามารถออกแบบเส้นทางได้หลายแบบ มีคณะกรรมการ ที่มีนักวิชาการมาคุยระดับยุทธศาสตร์มาคุยกัน ออกแบบความเป็นไปได้กระทบน้อยที่สุด “
ชุติมา น้อยนารถ ตัวแทนสมัชชาสุขภาพ จ.นครปฐม
จากนั้น ทางตัวแทนกลุ่มสหกรณ์บ้านคลองโยง นำโดย นายบุญลือ เจริญมี ประธานสหกรณ์บ้านคลองโยง จ.นครปฐม ได้ยื่นหนังสือถึงกรมทางหลวงชนบท เพื่อขอให้ทบทวนการดำเนินโครงการดังกล่าว
แม้โดยภาพรวมเสียงส่วนใหญ่ในเวที จะคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าว แต่ยังมีเสียงสะท้อนของผู้ที่เห็นด้วยกับการเดินหน้าโครงการนี้หนึ่งคน ที่ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็น โดยขอให้ทุกคนเสียสละ เพราะตนเองก็เป็นผู้ได้รับผลกระทบเส้นทางผ่าที่ดินของตนเองเช่นเดียวกัน แต่อยากให้มองไปถึงความเจริญที่จะตามมาหลังจากนี้ เพื่ออนาคตลูกหลานต่อไป
ด้านนายจิรานุวัฒน์ จันทร์จร ผอ.กลุ่มออกแบบทาง สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวงชนบท กล่าวสรุปช่วงท้าย ย้ำว่า เราได้รับมอบหมายกระทรวงคมนาคมแก้ปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมถึงการรองรับการเจริญเติบโตของเมือง ซึ่งมูลค่าโครงการสูงระดับ 5,000 ล้านบาท เป็นโครงการที่สำคัญทั้งของกรมและกระทรวงคมนาคม จึงต้องให้ความสำคัญกระบวนการแต่แรก เฉพาะศึกษาความเหมาะสม กำหนดแนวก่อสร้าง ได้มาคุยกับประชาชนหลายครั้ง และยินดีที่จะรับฟัง เหมือนที่บอกว่า รัฐต้องมีความพอดี ทุกค่าใช้จ่ายที่เอามาพัฒนาโครงการของกรมทางหลวงชนบทเป็นภาษีพี่น้องประชาชนทั้งนั้น ถ้าโครงการใดเกิดประโยชน์น้อยกว่าผลกระทบ ไม่คุ้มค่า ก็ไปไม่ได้ จึงขอให้สบายใจ
เราพร้อมรับฟังข้อคิดเห็น อย่ากังวลว่าที่ปรึกษาจะใส่อะไรตามที่ต้องการหรือไม่ เพราะการดำเนินการมีหลายกรม มีตั้งคณะกรรมการร่วม ข้อมูลผลศึกษาไม่ได้มีการเอนเอียง กว่าจะได้เส้นทางใช้เวลานานถึง 9 เดือน เพื่อให้ท่านเห็นน้อมรับเจตนา ไม่ได้มีปัญหา ความเห็นทุกความเห็นมีค่าหมด เราจะเอามาประมวล
“ แต่สมมุติฐานของทีม คือ ถ้ามันจำเป็นต้องสร้างหละ ถ้าจำเป็นต้องสร้าง เลยต้องพูดคุยกับท่าน ว่าจะเสนอกรมเสนอฝ่ายต่างๆเกี่ยวข้องอย่างไร ถ้าจะสร้างทำไงให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด การสร้างถนนเราเวนคืนทั่วประเทศแน่นอนมีกระทบ แต่เราพยายามกระทบน้อยที่สุด เราไม่ได้มองประโยชน์ เรามองคนส่วนใหญ่ ไม่ทิ้งประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เราอธิบายกับสำนักงบประมาณ โครงการระดับ 5 พันล้าน ถ้าไม่เกิดประโยชน์เราไม่ได้รับงบแน่นอน ดังนั้นยืนยันไม่มีการตั้งธงในการสร้าง ”
จิรานุวัฒน์ จันทร์จร ผอ.กลุ่มออกแบบทาง สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวงชนบท
จิรานุวัฒน์ จันทร์จร ผอ.กลุ่มออกแบบทาง สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวงชนบท
ทั้งนี้ยังย้ำว่า ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 4 จะเป็นการสรุปการศึกษาทุกด้าน ของรูปแบบโครงการที่ผ่านคัดเลือก สรุปการวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และการลงทุน พร้อมรับฟังข้อมูลในพื้นที่ ปัญหาที่มีผลกระทบต่อการศึกษาโครงการ ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการ ขอความร่วมมือในการศึกษา การให้ข้อมูล และการเข้าสำรวจในพื้นที่ โดยความเห็นทั้งหมดที่ได้ จะรวบรวมนำเสนอต่อหน่วยงานและกรมทางหลวงชนบทอย่างครบถ้วน