หลังพบร้องเรียน 1.3 หมื่นเรื่อง ใน 1 ปี เหตุไร้อำนาจต่อรอง เจรจา หรือการดำเนินคดีกับภาคธุรกิจ
เมื่อวันที่ 18 ก.ย.66 สภาผู้บริโภค จัดเวทีทาวน์ฮอล์มีตติ้ง (Town Hall Meeting) กระตุ้นกลุ่มผู้บริโภครวมพลังปกป้องสิทธิของตัวเอง หลังในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ของผู้บริโภคมากถึง 1.3 หมื่นเรื่องและมีผู้บริโภคได้รับความเสียหายจำนวนมาก ดังนั้น แนวทางที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้บริโภคได้อย่างยั่งยืน คือการทำให้ผู้บริโภคได้รวมกลุ่ม พูดคุยกัน และรวมพลังเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง
โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ระบุว่า ผู้เสียหายที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวเป็นผู้เสียหายจาก 10 กลุ่มปัญหา ได้แก่
1 กลุ่มผู้เสียหายเงินกู้จำนำโหด
2 กลุ่มผู้เสียหายเคลมประกันโควิด
3 กลุ่มผู้เสียหายภัยทุจริตทางการเงิน
4 กลุ่มผู้เสียหายซื้อทรัพย์ติดจำนองอีซี่โฮม
5 กลุ่มผู้เสียหายก่อสร้างอาคารผิดกฎหมาย
6 กลุ่มผู้เสียหายบริการธุรกิจเสริมความงาม โดยกลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้ได้ติดต่อผ่านทางช่องทางเฟซบุ๊กแฟนเพจของสภาผู้บริโภคและเข้ามาร้องเรียนด้วยตัวเอง
สำหรับแนวทางที่สภาผู้บริโภคดำเนินงาน คือเมื่อพบผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายมาร้องเรียนสภาผู้บริโภคจะประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครายอื่น ๆ ที่พบเจอปัญหาในลักษณะเดียวกันมาร้องเรียนที่สภาผู้บริโภค จนทำให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้บริโภคซึ่งการรวมกลุ่มมีประโยชน์ที่จะทำให้การแก้ไขปัญหามีอำนาจต่อรองให้กับผู้บริโภคได้ ในการเจรจากับธุรกิจ หรือการดำเนินคดี และการรวมกลุ่มทำให้เห็นมูลค่าความเสียหายจนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในคราวเดียวกัน
หากผู้บริโภคต่อสู้เพียงลำพังก็อาจไม่มีอำนาจเพียงพอในการต่อรอง แต่เมื่อมีการรวมตัวของผู้บริโภคทำให้มีอำนาจต่อรองกับผู้ประกอบการได้ สภาผู้บริโภคจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้บริโภคเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายได้
โสภณ หนูรัตน์
ในเวทียังมีเสียงสะท้อนจากตัวแทนบริโภคที่ได้รับความเสียหายอย่าง เก๋ (นามสมมติ) ผู้เสียหายซื้อสินทรัพย์ติดจำนอง บริษัทอีซี่โฮม กล่าวว่า เธอและเพื่อนผู้บริโภครายอื่น ๆ กว่า 100 ราย ที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีบริษัทอีซี่โฮมเข้ามาประมูลบ้านจากกรมบังคับคดี สำหรับกรณีของเธอ บริษัทประมูลบ้านไปในราคา 5 หมื่นบาท ซึ่งเธอคิดว่าเมื่อบริษัทรับประมูลซื้อบ้านไปแล้วบริษัทดังกล่าวจะไปปิดจำนองเงินกู้ซื้อบ้านส่วนที่เหลือกับธนาคารแต่พบว่าบริษัทไม่ได้ดำเนินการปิดจำนองเงินกู้ส่วนที่เหลือให้ แต่กลับยื่นเงื่อนไขให้ทำสัญญาซื้อบ้านใหม่และผ่อนค่าบ้านกับบริษัทต่อ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ร้อยละ 6 ขณะที่เธอยังคงมีภาระหนี้เงินกู้ซื้อบ้านกับธนาคารเหมือนเดิม เธอไม่ยินยอมบริษัทต่อมาจึงถูกฟ้องขับไล่ออกจากบ้าน นอกจากนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เธอเสียเครดิตกับธนาคารจึงไม่สามารถไปกู้เงินซื้อบ้านหลังใหม่กับธนาคารอื่น ๆ ได้อีก
“เรารวมกลุ่มกันเพื่อให้มีอำนาจต่อรองและร่วมกันต่อสู้ โดยได้มาขอปรึกษาและได้รับความช่วยเหลือสภาของผู้บริโภคจัดส่งทนายความมาช่วยเหลือ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นฟ้องคดี”
ขณะที่เอ๋ (นามสมมุติ) ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากภัยทุจริตทางการเงิน กล่าวว่า ได้รับความเสียหายจากการเข้าไปลงทุนซื้อสกุลเงินดิจิทัลคริปโต จากบริษัท Zipmex จำนวนเงินที่สูญไปประมาณ 1 ล้านบาท สาเหตุเพราะต้องการลงทุนในธุรกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์
โดยได้ตรวจสอบข้อมูลบริษัท Zipmex จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่ามีการรับรองอย่างถูกต้องจึงมีความน่าเชื่อถือประกอบกับผู้ถือหุ้นและผู้บริหาร ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง นามสกุลอยู่ในแวดวงสมาชิกวุฒิสภา โดยให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยถึงร้อยละ 6 เริ่มลงทุนเมื่อปี 2564 จำนวนเงิน 1 แสนบาท ต่อมาเมื่อต้นปี 2565 บริษัทแจ้งว่า ก.ล.ต.ออกระเบียบห้ามจ่ายปันผลระหว่างปี จึงได้โอนทรัพย์สินของลูกค้าไปฝากไว้ที่บริษัทแม่ที่ประเทศสิงคโปร์ จนผ่านมา 2 เดือนบริษัทแจ้งว่า มีปัญหาขาดสภาพคล่องจ่ายปันผลไม่ได้ และยังไม่สามารถถอนเงินของลูกค้าออกมาได้เพราะบริษัทแม่มีปัญหาฟ้องร้องและศาลสั่งคุ้มครอง ทำให้ลูกค้าของบริษัท Zipmex รวมกลุ่มไปร้องเรียนที่ ดีเอสไอ และ ก.ล.ต. แต่ไม่ได้รับการตอบรับที่จะดำเนินใด ๆ จึงได้มาขอความช่วยเหลือจากสภาผู้บริโภค
ขณะที่ศุกร์จรรญา อารีย์ ผู้เสียหายประกันโควิด กล่าวว่า ซื้อประกันโควิด แต่ประกันไม่จ่าย หลังจากติดโควิดแล้วโดยอ้างว่าเราไม่ได้เข้าเงื่อนไขกระทรวงสาธารณสุข ฉบับวันที่ 4 มกราคม 2565 ทำให้ต้องรวมกลุ่มกันฟ้องร้องกับสภาของผู้บริโภค เนื่องจากมีผู้เสียหายมากกว่า 100 คนที่บริษัทประกันไม่จ่ายตามเงื่อนไขการทำประกัน
ทำประกันโควิด ชดเชยรายได้หากต้องหยุดงานวันละ 5 พันบาท แต่เมื่อไปขอเคลมประกันภัยอ้างว่าเราไม่เข้าเงื่อนไข จึงต้องมาฟ้องร้อง โดยขณะนี้สภาองค์ของผู้บริโภคได้รวมผู้เสียหายและยื่นฟ้องร้องแล้ว ซึ่งในเรื่องนี้อยากให้ผู้บริโภคตื่นตัวและตระหนักรู้ เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ของตัวเอง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนรับคดี
ลัดดา เขียวชอุ่ม ผู้เสียหายภัยทุจริตทางการเงิน ได้หอบเอกสารมาร้องเรียน หลังจากที่ถูกเอสเอ็มเอสหลอกเงินจากการอ้างเป็นหน่วยงานประกันสังคมแจ้งให้รับเงินทดแทนชราภาพ โดยเล่าว่า ได้รับ SMS จากประกันสังคม ก่อนที่จะมีเอกสารแจ้งให้ไปติดต่อขอรับได้รับเงินชดเชยชราภาพจากสำนักงานประกันสังคม จนหลงเชื่อและแอดไลน์ไปเป็นเพื่อนจากนั้นก็คุยกันผ่านไลน์ โดยมิจฉาชีพให้กรอกเลขบัตรประชาชนและขอเลข OTP เพื่อจ่ายเงินชดเชยคืน แต่หลังจากคุยกันทางไลน์ก็เริ่มรู้สึกว่าจะถูกหลอกจึงหยุดการคุยผ่านไลน์ แต่เมื่อมาตรวจสอบพบว่า มีเงินในบัญชี 4 บัญชี จากธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพานิชย์และธนาคารกรุงเทพ เหลือศูนย์บาท รวมเงินหายจากบัญชีกว่าสองแสนบาทที่ถูกมิจฉาชีพดูดเงินไป
“หลังจากที่รู้ว่าถูกหลอกก็โทรอายัดธนาคาร แต่กระบวนการก็ยุ่งยากมาก และแจ้งความไปที่ตำรวจไซเบอร์ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถทำอะไรได้เลย เจ้าหน้าที่บอกว่า มีเหยื่อจำนวนมากที่มาร้องเรียนทำให้ไม่สามารถช่วยได้ทัน จึงมาที่สภาของผู้บริโภคเพื่อร่วมกลุ่มฟ้องร้องธนาคาร เพื่อให้รับผิดชอบกรณีที่ดูดเงินออกจากบัญชีไปได้เนื่องจากเห็นว่าธนาคารต้องรับผิดชอบกับผู้ที่ฝากเงิน” ลัดดากล่าว
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคได้รณรงค์ให้ผู้บริโภคที่เดือดร้อนในกรณีต่าง ๆ รวมกลุ่มกันร้องเรียนเพื่อสร้างพลังในการต่อสู้และต่อรองกับปัญหาต่าง ๆ กับหน่วยงานหรือองค์กรทำให้การบังคับกฎหมายไม่สมบูรณ์ ขณะเดียวกันประชาชนทุกคนได้รู้เท่าทันปัญหา มีคุณภาพชีวิตที่ดีกับการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน โดยประชาชนทุกคนควรได้รับการบริการแต่ละด้าน อาทิ ด้านการรักษาสุขภาพ พลังงาน ระบบขนส่ง อย่างเท่าเทียมในมาตรฐานเดียวกัน