ปิดตำนาน ประชาธิปัตย์แบบเดิม สู่ ประชาธิปัตย์ แบบใหม่?

“เฉลิมชัย” ปัดกลับกลอก หลังที่ประชุมใหญ่วิสามัญประชาธิปัตย์เลือกนั่งหัวหน้าพรรคคนที่ 9 ขณะ”อภิสิทธิ์” ลาออกพ้นประชาธิปัตย์ หลังปิดห้องเคลียร์ใจ ด้านนักรัฐศาสตร์ชี้ อุดมการณ์สวนทาง เชื่อปิดตำนานประชาธิปัตย์ในความหมายเดิม สู่ประชาธิปัตย์ใหม่ ในฐานะพรรคตัวแปร

วันนี้ (9 ธ.ค.2566) ที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งที่ 3/2566 ลงมติ 88.5% เลือก เฉลิมชัย ศรีอ่อน นั่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 แบบไร้คู่แข่ง หลัง อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ที่ถูกเสนอชื่อโดยชวน หลีกภัย ประกาศถอนตัวและลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ด้าน มาดามเดียร์-วทันยา บุนนาค องค์ประชุมรวมไม่อนุญาตให้ลงสมัครหัวหน้าพรรค เหตุคุณสมบัติไม่ครบ

เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

เฉลิมชัย กล่าวเปิดใจว่า การตัดสินใจวันนี้ เจ็บ และทำลายสิ่งที่สร้างมาทั้งชีวิต แต่มีความจำเป็น เพราะต้องการเห็นพรรคเดินไปข้างหน้า ยืนยันยึดมั่นในอุดมการณ์พรรค จะพยายามทำตรงนี้ให้ดีที่สุด และให้เป็นเอกภาพ พร้อมปัดกลับกลอก เหตุรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค หลังเคยประกาศวางมือทางการเมือง

“ผมรู้ว่า การตัดสินใจของผมในวันนี้ มันเจ็บ มันทำลายสิ่งที่ผมสร้างมาทั้งชีวิต ผมคุยกับท่านอภิสิทธิ์ เมื่อสักครู่ ผมกรีดเลือดออกมาก็เป็นสีฟ้า ไม่มีสีอื่นเลย แล้วตลอดเวลาก็ยึดหลักการและอุดมการณ์ของพรรคไม่เคยเปลี่ยนแปลง และยืนยันกับหัวหน้าอภิสิทธิ์ว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่”

ก่อนหน้านั้น หลังได้รับการเสนอชื่อให้ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ เวชชาชีวะ ได้ลุกขึ้นกล่าวขอบคุณ ชวน หลีกภัย พร้อมกับกล่าวเปิดใจต่อที่ประชุมพรรค ถึงบทบาทที่ผ่านมาหลังลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค ปัญหาภายในพรรค และเรื่องของความเป็นเอกภาพ พร้อมเรียกร้องให้ เฉลิมชัย พักการประชุมเพื่อพูดคุยกัน

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

“วันนี้มันไม่ใช่เรื่องใครชนะใครแพ้ ไม่ว่าจะเหลือผู้สมัครคนเดียว 2 คน หรือ 3 คน วันนี้ พรรคเดินต่อไม่ได้ ถ้าไม่มีความเป็นเอกภาพอย่างแท้จริง ผมลงผมแพ้ ก็น่าจะมีปัญหา ผมลงผมชนะ ยิ่งมีปัญหาเข้าไปใหญ่ เพราะกระบวนการหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา.. เพราะฉะนั้นวันนี้เมื่อท่านเสนอ เมื่อท่านอดีตหัวหน้าท่านกรุณาเสนอชื่อผม ผมถามท่านรักษาการหัวหน้าพรรค พักการประชุมแล้วคุยกับผมนะ”

หลังปิดห้องพูดคุยกัน 10 นาที อภิสิทธิ์ ได้ขอถอนตัวออกจากการลงชิงหัวหน้าพรรคและขอลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แต่ยืนยันว่า จะไม่ไปอยู่กับใคร ไม่ไปพรรคไหน วันข้างหน้าถ้าในพรรคประชาธิปัตย์คิดว่า ตนเองยังมีประโยชน์และยังช่วยงานได้ ก็คงจะไม่ปฏิเสธ แต่วันนี้เพื่อให้คนที่มีอำนาจในการบริหารได้ทำงานต่อด้วยความสบายใจ ไม่ต้องหวาดระแวง ขอลาออกและขอบคุณสมาชิกทุกคนที่ให้การสนับสนุนตนเองมาตลอด และหวังว่า ผู้บริหารชุดใหม่จะทำงานได้

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

The Active พูดคุยกับ รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิเคราะห์การลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์หลังปิดห้องคุยกับนายเฉลิมชัยว่า เป็นการส่งสัญญาณถึงอุดมการณ์ที่สวนทางกันอย่างชัดเจน เพราะนายอภิสิทธิ์ต้องการกอบกู้ภาพลักษณ์ของพรรคในความหมายเดิม แต่เมื่อเป็นไปไม่ได้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การนำแบบใหม่

“คิดว่า ธงนำของคุณอภิสิทธิ์คือการกอบกู้ภาพลักษณ์ในความหมายเดิม แม้จะกอบกู้ได้ช้า แต่เมื่อหลักการนั้นเป็นไปไม่ได้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การนำแบบใหม่ ซึ่งผมคิดว่า ทำถูกแล้ว ในสถานการณ์แบบนี้ เมื่อไม่มีอำนาจต่อรองในพรรค ตัวเองก็ต้องถอยออกมา แต่เชื่อว่า แกนนำหลักๆ ก็จะถอยด้วย ดีไม่ดี คุณชวน ถ้าประกาศยุติบทบาททางการเมืองด้วย จบ ตำนานประชาธิปัตย์ในความหมายเดิม เข้าสู่ประชาธิปัตย์แบบใหม่ ที่เปลี่ยนสถานะเป็นพรรคขนาดเล็กเพื่อต่อรอง ”

รศ.โอฬารย้ำว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น จะยิ่งตอกย้ำความชัดเจนของการเมืองไทยนับจากนี้ ที่จะเป็นการต่อสู้กันระหว่าง อนุรักษ์นิยมใหม่ อย่างพรรคเพื่อไทย กับประชาธิปไตยก้าวหน้า อย่างพรรคก้าวไกล ส่วนที่เหลือคือพรรคตัวแปร ขณะที่ต้นทุนแบบประชาธิปัตย์ คือการเมืองอนุรักษ์ ก็จะหายไป

ส่วนการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคของเฉลิมชัย แม้จะคุมการเมืองในพรรคได้ แต่การเมืองนอกพรรค ความเชื่อมั่นศรัทธา จะหายไปหมด เพราะเฉลิมชัยตระบัดสัตย์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นต้นทุนที่สำคัญในการเมืองสมัยใหม่

“เขาเคยสัญญากับประชาชนไว้ว่า หากไม่สามารถนำพาประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.เกิน 50 คนจะยุติบทบาททางการเมือง แต่เขาตระบัดสัตย์ ซึ่งตระบัดสัตย์คือต้นทุนทางการเมืองสมัยใหม่ นั่นหมายถึงความเชื่อมั่น ศรัทธาในพรรคประชาธิปัตย์จะหายไปเลย แม้ประชาธิปัตย์จะไม่หายสาบสูญไปจากหน้าการเมือง แต่อยู่ในสภาวะที่เรียกว่า ไม่โต แต่ไม่ตาย และจะปรับบทบาทไปคล้าย ๆ พรรคที่ดำรงอยู่ได้เพราะตระกูลการเมืองต่างจังหวัด แทนที่จะชูธงนำอุดมการณ์เป็นพรรคอนุรักษ์นิยม ที่เวลานี้ ภูมิใจไทยได้ชิงบทบาทนี้ไปแล้ว”

รศ.โอฬาร ยังวิเคราะห์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์เวลานี้ ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่สะสมมากว่าทศวรรษ สะท้อนให้เห็นถึง พรรคที่มีความเป็นสถาบัน ถ้าไม่รักษาจุดยืน หรือ อุดมการณ์เอาไว้ ก็จะถูกทำลาย ประกอบกับในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์ ไม่เคยทำอะไรในเชิงนโยบายที่ชัดเจน ขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบใหม่ ทำให้พลังศรัทธาของประชาชนหายไป

สำหรับกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์
ณ วันที่ 9 ธ.ค. 2566

หัวหน้าพรรค เฉลิมชัย ศรีอ่อน
รองหัวหน้าพรรค ภาคเหนือ สมบัติ ยะสินธุ์
รองหัวหน้าพรรค ภาคอีสาน ไชยยศ จิระเมธากร
รองหัวหน้าพรรค ภาคกลาง ประมวล พงษ์ถาวราเดช
รองหัวหน้าพรรค ภาคใต้ ชัยชนะ เดชเดโช
รองหัวหน้าพรรค ภาคกทม. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

รองหัวหน้าพรรค ตามภารกิจ
นริศ ขำนุรักษ์
จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร
พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่
นราพัฒน์ แก้วทอง
ธารา ปิตุเตชะ
น.ต.สุธรรม ระหงษ์
มนตรี ปาน้อยนนท์
อภิชาต ศักดิเศรษฐ์

เลขาธิการพรรค เดชอิสม์ ขาวทอง
รองเลขาธิการพรรค
สุพัชรี ธรรมเพชร
จักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์
สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ
ชนินทร์ รุ่งแสง
สมยศ พลายด้วง
กันตวรรณ ตันเถียร

เหรัญญิก เจิมมาศ จึงเลิศศิริ
นายทะเบียนพรรค วิรัช ร่มเย็น
โฆษกพรรค ราเมศ รัตนะเชวง

ตัวแทนพรรคจากผู้แทนสภาท้องถิ่น
พต.อ. ภิญโญ ป้อมสถิตย์
วงศ์วชิระ ขาวทอง

ตัวแทนพรรคจากผู้บริหารท้องถิ่น
ไพเจน มากสุวรรณ

ขนิษฐา นิภาเกษม ตัวแทนพรรคภาคเหนือ
น้ำฝน หอมชาลี ตัวแทนพรรคภาคอีสาน
ชวลิต รัตนสุทธิกุล ตัวแทนพรรคภาคกลาง
สุรศักดิ์ วงศ์วนิช ตัวแทนพรรคภาคใต้
ชยิน พึ่งสาย ตัวแทนพรรค กรุงเทพมหานคร

กรรมการบริหารพรรค
ประกอบ รัตนพันธ์
เมฆินทร์ เอี่ยมสอาด
สงกรานต์ จิตสุทธิภากร
สมชาติ ประดิษฐพร
ยูนัยดี วาบา
พลอยทะเล ลักษมีแสงจันทร์
ปุณณ์สิริ บุญยเกียรติ
ดร. เจนจิรา รัตนเพียร

กรรมการบริหารสำรอง
รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active