‘เพื่อไทย’ ยินดีนำข้อเสนอถกในกรรมาธิการฯ ไม่อยากเห็นความขัดแย้งซ้ำรอยเดิม ฝั่ง ‘ก้าวไกล’ หวังสร้างความเปลี่ยนแปลง ด้วยการเมืองแห่งความรัก ขณะที่ ‘เป็นธรรม’ เชื่อการเมืองแห่งการให้อภัย พาสังคมเดินหน้า
เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 67 ที่ลานประชาชน รัฐสภา กิจกรรม ‘ส่งรักให้ถึงสภา ถามหาความยุติธรรม เพื่อนิรโทษกรรมประชาชน’ โดย เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน 23 องค์กร รวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อนำเสนอ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมฉบับประชาชน เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และได้เชิญชวนประชาชน มาร่วมกันลงรายชื่อ เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พร้อมร่วมกันถามหาความยุติธรรมกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แก้ไขสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นให้ถูกต้อง เพื่อให้การนิรโทษกรรมประชาชนทุกฝ่าย ทุกข้อหา ให้เป็นไปได้จริง
พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน บอกว่า เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน รวมรายชื่อได้กว่า 35,905 รายชื่อ แสดงถึงผู้ที่เดือดร้อน โดยคดีความทางการเมืองไม่ควรเกิดขึ้น และดำรงอยู่ในสังคมไทย อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะทำ 10,000 รายชื่อ หรือ 300,000 รายชื่อ แต่ตัวเลขที่สำคัญที่สุดคือตัวเลข 18 คือ จำนวนวันที่บุ้งอดอาหารอยู่ในเรือนจำ เพื่อเรียกร้องต่อกระบวนการยุติธรรม, 40 คือผู้ต้องขังคดีทางการเมืองในขณะนี้, 263 คือคนที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ตั้งแต่ปี 2563, 1,947 คือผู้ที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2563, 5,027 คือจำนวนคนที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2549 และยังไม่นับรวมผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตตลอดเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมายาวนาน ไม่สามารถจบได้ และในวันนี้ก็ยังเห็นอย่างต่อเนื่อง
“พวกเราหวังว่าร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน จะเป็นก้าวแรกในการคลี่คลายความขัดแย้ง การคืนความยุติธรรม และคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนให้เราสามารถพูดคุยอย่างมีวุฒิภาวะ ไม่ใช้กฎหมายเพื่อปิดปากประชาชน ไม่ใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน พวกเราหวังใจว่าพรรคการเมืองที่มีที่มาโดยชอบธรรมจากประชาชน จะยอมรับว่าสังคมนี้มีปัญหาอะไรแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างระมัดระวัง ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
พูนสุข พูนสุขเจริญ
ขณะที่ ขัตติยา สวัสดิผล สส.พรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนมารับร่าง พ.ร.บ ดังกล่าว ระบุว่า ในนามของพรรคเพื่อไทย รู้สึกว่าในที่สุดก็มีการนำเสนอเรื่องนี้ให้สังคมไทย จากเดิมที่เคยพูดถึงกันมาแล้วเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ซึ่งการพูดถึงนั้นกลายเป็นว่านำไปสู่เงื่อนไขการทำให้เกิดการทำรัฐประหาร ดังนั้น 10 ปี ผ่านไปมีการพูดถึง และเสนอร่างกฎหมายจากหลายพรรคการเมือง รวมถึงวันนี้กว่า 30,000 รายชื่อ ที่นำเสนอเป็นร่างกฎหมายประชาชนเข้ามา ถ้าลองดูใน ร่าง พ.ร.บ. จะเห็นถึงความแตกต่างที่แต่ละพรรคเสนอ
“ความแตกต่างเหล่านี้เป็นสาเหตุที่พรรคเพื่อไทยยื่นญัตติเสนอให้มีคณะกรรมาธิการตรากฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมา เพื่อหาแนวทางหรือสารตั้งต้น การร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อไม่ให้นำไปสู่ความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต กรรมาธิการฯ ชุดนี้ ตั้งใจพูดคุยกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่อยากให้มีสิ่งนี้เกิดขึ้น และรวมถึงฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม”
ขัตติยา สวัสดิผล
ขณะที่ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล หวังว่า คณะกรรมาธิการฯ จะเป็นวิธีสำคัญที่สามารถรวบรวมหลายความเห็นมาศึกษาเปรียบเทียบเพื่อทำแนวทางการตัดสินใจของสภาผู้แทนราษฎรต่อไปได้ โดยเบื้องต้นในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล สนับสนุนการนิรโทษกรรมอยู่แล้ว และได้ใช้หลายโอกาสผลักดันเรื่องนี้ ยืนยันว่า การสนับสนุนไม่ได้หมายความว่าจะสร้างบรรทัดฐานที่ผิด ไม่ได้สนับสนุนให้คนกระทำความผิดไปเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีใครกระทำผิดเลย
“ต้องยอมรับว่าในข้อเท็จจริงมีคนกระทำผิดรวมถึงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด วันนี้คิดว่าถ้าเราจะหาทางออกให้บ้านเมืองเราไม่สามารถมองคดีความเหล่านี้ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมือง มีเหตุจูงใจทางการเมืองอย่างแยกไม่ออก เราไม่สามารถมองคดีเหล่านี้เป็นอาชญากรรมได้ แต่ต้องมองเป็นปัญหาทางการเมือง และความขัดแย้งทางความคิด”
ชัยธวัช ตุลาธน
ชัยธวัช บอกด้วยว่า ลำพังการนิรโทษกรรมอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองทั้งหมดได้ ยังคงต้องพูดคุยกันอีกเยอะหลายเรื่องว่าควรมีอะไรต้องทำบ้าง ทั้งก่อนและหลังจากนิรโทษกรรม เป็นโจทย์ที่หวังว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญ จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการรวบรวมข้อเสนอ
ชัยธวัช ระบุอีกว่า แนวทางการเมืองแห่งความรัก ที่ไม่ใช่ว่าจะรักกันทุกคน แต่เป็นการเมืองที่มีความเข้าอกเข้าใจกัน ยืนอยู่บนพื้นฐานความปรารถนาดีต่อส่วนรวม แม้ว่าอาจไม่ได้เห็นตรงกันทุกเรื่อง แต่อยากให้ทุกอย่างร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการเมืองแห่งความรัก
สอดคล้องกับ กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม บอกว่า การนิรโทษกรรมเป็นการเมืองที่ให้อภัย และการต้องเปลี่ยนผ่าน เป็นสิ่งที่ต้องการ จึงขอฝากคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ ตั้งเป้าหมายให้ได้ว่าจุดมุ่งหมายของการนิรโทษกรรมคืออะไร
“คณะกรรมาธิการฯ ต้องหากลุ่มเป้าหมายคือใคร ต้องดูว่าใครที่ทำผิดก็ต้องได้รับโทษ ใครที่ไม่ได้ผิด แต่ถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่ถูกต้อง ก็ต้องถูกปล่อยออกมา”
กัณวีร์ สืบแสง