‘คดีตากใบ’ ย้ำภาพ ‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’

‘กมธ.สันติภาพฯ’ ออกแถลงการณ์ ชี้ชัด หากปล่อยคดีหมดอายุความ ไร้เงาจำเลย ยิ่งตอกย้ำความไม่แน่นอนสถานะการพูดคุยสันติสุข หวั่นผู้เห็นต่าง หยิบประเด็นขยายผล สร้างเงื่อนไขก่อเหตุรุนแรงเพิ่ม วอนรัฐบาล พยายามสุดความสามารถ ตามตัวจำเลยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม  

วันนี้ (17 ต.ค. 67) คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กมธ.สันติภาพชายแดนใต้) ออกแถลงการณ์ เรื่อง การสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 จนเป็นเหตุให้มี ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม 7 คน และเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหารอีก 78 คน รวมเป็น 85 คน นับเป็นคดีที่เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในความขัดแย้งชายแดนใต้ และสร้างความรู้สึกไม่ไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลอย่างลึกซึ้ง

ในแถลงการณ์ ยังระบุ แม้ว่ารัฐบาลจะได้แสดงความรับผิดชอบต่อผู้สูญเสีย โดยมีการกล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการจาก พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 และมีการจ่ายเงินเยียวยาให้กับ ครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บใน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2555 แต่ตลอด 20 ปีที่ ผ่านมา การดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนในเหตุการณ์กลับไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร

คดีที่มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ ถูกอัยการ ระงับการสอบสวนไปเมื่อ ปี 2549 เนื่องจากไม่พบตัวผู้กระทำผิด และคดีการเสียชีวิตระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมไปค่ายอิงคยุทธฯ ก็ยุติการดำเนินคดีไปเมื่อปี 2552 โดยตำรวจ สภ. หนองจิก ปัตตานี ลงความเห็นว่าเหตุและพฤติการณ์ของผู้ตายทั้ง 78 คน เกิดจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ มิได้เป็นผลแห่งการกระทำ ความผิดอาญา

ในปี 2566 คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ติดตามความคืบหน้าในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้สูญเสีย นำมาสู่การรื้อฟื้นคดีอาญาเพื่อนำ ตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แบ่งเป็น 2 คดีด้วยกัน

  • คดีแรก ตำรวจภูธรภาค 9 ตั้งคณะทำงานของพนักงานสอบสวนเพื่อทำสำนวนคดีขึ้นมาใหม่ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 8 คน ซึ่งอัยการสั่งฟ้องไปเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา

  • คดีที่ 2 ญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวฟ้องต่อศาลโดยตรง ศาลจังหวัด นราธิวาสรับฟ้องเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐ 7 คนเป็นจำเลย

ขณะนี้เหลือเวลาเพียง 8 วันก่อนคดีจะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ปรากฏว่าตำรวจยัง ไม่สามารถติดตามจับกุมตัวผู้ถูกออกหมายจับได้แม้แต่คนเดียว
 

คณะกรรมาธิการฯ มีความกังวลอย่างยิ่งว่า หากไม่สามารถ นำตัวจำเลยมาส่งศาลได้ก่อนหมดอายุความ จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในอย่างน้อย 3 ระดับ คือ

  1. ประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้จะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกปฏิบัติอย่างสองมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอุปสรรคในการสร้างความสมานฉันท์และสันติภาพในพื้นที่ นอกจากนี้ คดีตากใบจะเป็นอีกคดีที่สะท้อนถึง “วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด” (impunity) ในสังคมไทย

  2. กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ อาจนำประเด็นดังกล่าวไปขยายผล และใช้เป็นข้ออ้างก่อเหตุรุนแรง เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาล นำมาสู่ความสูญเสียในพื้นที่เพิ่มขึ้น

     
  3. อาจเกิดความไม่แน่นอนในสถานะของการพูดคุยสันติสุข ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งมีการพูดคุยสันติสุขรอบใหม่มาแล้วในรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน และยังอยู่ระหว่างการกำหนดนโยบาย ที่ชัดเจนในการคลี่คลายความขัดแย้งในชายแดนใต้โดยรัฐบาลปัจจุบัน

“คณะกรรมาธิการฯ หวังว่าภายใต้เวลาอันจำกัดที่เหลืออยู่นี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับคดีตากใบ จะดำเนินการอย่างสุดความสามารถในการทำให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าต่อไปตามครรลอง และอำนวยความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย ทั้งประชาชนผู้สูญเสีย และเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในเหตุการณ์ พร้อมทั้งเห็นว่า รัฐบาลควรสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมให้กลับคืนมาและ ให้ความยุติธรรมกับผู้สูญเสียทุกคน ด้วยการนำผู้ถูกกล่าวหามาแสดงตนเพื่อพิสูจน์ตนเองต่อศาลตามระบบยุติธรรมต่อไป”

ในแถลงการณ์ยังระบุอีกว่า หากสุดท้ายไม่สามารถดำเนินการนำตัวจำเลยมาเข้ากระบวนการได้ทันเวลาก่อนหมดอายุความ คณะกรรมาธิการฯ จึงเสนอให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองต่อผู้เสียหาย โดยมีคำแถลง ชี้แจงอย่างเหมาะสมและชัดเจน เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการคลี่คลายปมความขัดแย้งในชายแดนใต้ และปูทางไปสู่การสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในอนาคต

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active